ไทยขยับรับกติกา “โลกใหม่” เน็ตซีโร-ภัยไซเบอร์-สินทรัพย์ดิจิทัล

ไทยขยับรับกติกา “โลกใหม่”  เน็ตซีโร-ภัยไซเบอร์-สินทรัพย์ดิจิทัล

รัฐ-เอกชน” ผนึกรับมือกติกาใหม่เปลี่ยนโลก “ลดคาร์บอน-ภัยไซเบอร์-สินทรัพย์ดิจิทัล” ผู้ส่งออกเตรียมรับมือมาตรการลดปล่อยก๊าซของอียู “นักเศรษฐศาสตร์” ชี้ไทยต้องเดินตามกติกาโลก ธปท.ชี้ธนาคารกลางทั่วโลกตื่นรับสินทรัพย์ดิจิทัล “ดีอีเอส” เร่งแผนรับมือภัยไซเบอร์

โลกกำลังอยู่บนสถานการณ์การเปลี่ยนผ่านหลายด้าน โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทต่อมนุษย์มากขึ้น และเกิดเมกะเทรนด์ คือ การเงินดิจิทัล ในขณะที่ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ถูกกล่าวถึงมามากกว่า 10 ปี ได้กลายเป็นอีกเมกะเทรนด์ที่กำลังเปลี่ยนโลก ซึ่งนำมาสู่การสร้างกติกาใหม่เพื่อดูแลโลก

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า สหภาพยุโรปอยู่ระหว่างการออกมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) ให้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค.2566 และบังคับใช้เต็มรูปแบบปี 2569 ซึ่งสหภาพยุโรป (EU) จะเก็บค่าธรรมเนียมการปล่อยคาร์บอนสินค้านำเข้า 5 ชนิด ได้แก่ เหล็ก อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ยและพลังงานไฟฟ้า โดย EU อาจพิจารณาเพิ่มประเภทสินค้าอื่นเพิ่ม

สำหรับสถานะของร่างระเบียบ CBAM อยู่กระบวนการพิจารณาร่วมกันของรัฐสภายุโรปและคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป ซึ่งอาจมีการปรับปรุงร่างระเบียบ CBAM เพิ่มเติมจากที่คณะกรรมาธิการยุโรปเสนอ

ทั้งนี้ ช่วงเปลี่ยนผ่าน 3 ปีแรก (2566-2569) จะให้ผู้นำเข้าแจ้งปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนของสินค้าเพื่อรวบรวมข้อมูล และเริ่มเก็บค่าธรรมเนียมวันที่ 1 ม.ค.2569

ในขณะที่เวทีการเจรจาการค้าอื่นมีการกล่าวถึงมาตรการหรือแผนงานที่เกี่ยวข้องการสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้นทั้งองค์การการค้าโลก (WTO) ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC)

ปรับซัพพลายเชนลดคาร์บอน  

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า นโยบาย European Green Deal เริ่มออกมาตั้งแต่ปี 2562 โดยกำหนดให้ลดปริมาณปล่อยคาร์บอนจากฐานปี 1990 ให้ถึง 55% (Fit to 55%) โดยเป้าหมายของ EU คือปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 0 ภายในปี 2050 ซึ่งทำให้มีการออก CBAM เป็นมาตรการที่ใช้กับประเทศภายนอก

สำหรับกฎระเบียบดังกล่าวใช้กับ EU เท่านั้น ยังไม่ขยายไปกลุ่มประเทศอื่น โดยเน้น 5 กลุ่มอุตสาหกรรมส่งออก ซึ่งปัจจุบันมูลค่าการส่งออกของไทยไป EU ในกลุ่ม 5 สินค้าน้อยมาก แต่ต้องปรับตัวสำหรับสินค้านอกเหนือจากสินค้า 5 กลุ่มนี้ ที่มีผลบังคับใช้ปี 2570 ช่วงระหว่างนี้ผู้ส่งออกต้องปรับตัว เช่น การสำรวจสภาพการผลิตปัจจุบันที่มีการปล่อยของเสียไม่ว่าจะเป็นก๊าซออกสู่ภายนอกโรงงาน การปล่อยของเสีย ของเหลวและของแข็งต่างๆ ต้องรวบรวมปริมาณและชนิดของของเสียเหล่านั้น

พร้อมทั้งมีวิธีการบำบัดในปัจจุบัน ต้องวิเคราะห์และดำเนินการจัดการติดตั้งหรือปรับปรุงเครื่องจักรเพื่อลดของเสียต่างๆให้น้อยที่สุดตามมาตรฐานที่กำหนด ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องเตรียมตัวพร้อมทั้งจัดสรรงบประมาณในการปรับปรุงกระบวนการผลิตและร่วมทำทั้งห่วงโซ่อุปทานร่วมกัน ดำเนินการตั้งแต่วันนี้เพื่อรองกับ CBAM ในปี 2570

ชี้ไทยต้องเดินตามกติกาโลก

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า ไทยต้องเร่งทำ คือ “การสนับสนุนการลงทุน” และ “การปรับโครงสร้าง” เพื่อนำไปสู่กติกาเดียวกับโลก โดยเฉพาะการเดินหน้าลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งยังไม่เป็นรูปธรรมเท่าที่ควรทั้งการเพิ่มโอกาสการลงทุนในรถยนต์ไฟฟ้า (EV)

ขณะเดียวกันแม้ไทยเดินหน้าลดการปล่อยก๊าซแต่การผลิตส่วนใหญ่เป็นรูปแบบเดิม เช่น รถยนต์สันดาป ต้องให้ความสำคัญในการหาสินทรัพย์ทดแทนวัตถุดิบที่จำเป็นต้องปรับโครงสร้างใหญ่การผลิตครั้งใหญ่ เพื่อให้ไทยเป็นไปตามกตามกติกาโลก ไม่ฉะนั้นอุตสาหกรรมของไทย อาจถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

 

 

 

 

 

ส่วนมิติภาคการเกษตรต้องมีส่วนลดปล่อยก๊าซ ดังนั้นเป็นโจทย์ว่าจะดูแลสินค้าเกษตรอย่างไรเพื่อสนับสนุนสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน ดังนั้นภาครัฐต้องทำหน้าที่ส่งเสริมการปลูกเพื่อให้เกิดการใช้พลังงานหมุนเวียมากขึ้น รวมถึงการใช้พลังงานชีวมวล

ทั้งนี้ โลกกำลังเผชิญการขาดก๊าซธรรมชาติ จากผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งทำให้เกิดความผันผวนในตลาดเงินทั่วโลกที่เชื่อมการลงทุนและการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลก ดังนั้น เหล่านี้คือโจทย์สำคัญ เพราะผลกระทบจากยุโรปครั้งนี้ น่าห่วงกว่าโอกาสเกิดวิกฤติในตลาดเกิดใหม่ หากเกิด Energy crisis ปลายปีนี้ จากปัญหาพลังงานอาจกระทบทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ

กติกาโลกร้อนขยายวงกว้าง

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า การเปลี่ยนกติกาของโลก หันไปตระหนักด้านสิ่งแวดล้อม การลดก๊าซคาร์บอนมากขึ้น เหล่านี้ถือเป็นมาตรฐานใหม่ของโลก ซึ่งไทยต้องตระหนักมากขึ้นเพราะเป็นประเทศส่งออกสัดส่วน 60-70% ของจีดีพี

ดังนั้น แม้ขณะนี้ยุโรปหันมาใช้กฎหมายการค้าขายในยุโรปเพื่อลดคาร์บอน แต่สุดท้ายการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวจะขยายวงสู่ประเทศอื่น ซึ่งไทยหลีกเลี่ยงไม่ได้และต้องตระหนักสิ่งเหล่านี้มากขึ้น

ดังนั้นสิ่งเร่งด่วน คือ มองว่าปัจจุบันเรามีบริษัทข้ามชาติจำนวนมากที่ผลิตในไทย และบริษัทแม่กำหนดให้ใช้พลังงานสะอาด โดยถ้าไทยตอบโจทย์ไม่ได้อาจทำให้ผู้ผลิตตัดสินใจไปลงทุนประเทศอื่น ซึ่งทำให้ทั้งคาร์บอนพลังงงานสะอาดถือเป็นสเต็ปอัป เพื่อดึงการลงทุนระยะข้างหน้า เพราะต่อไปเขตเศรษฐกิจพิเศษหรือสิทธิประโยชน์ BOI อาจไม่เพียงพอ

ทั่วโลกกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล

นอกจากนี้ สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นอีกหนึ่งเมกะเทรนด์ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงทั่วโลก ซึ่งทำให้ธนาคารกลางหลายประเทศจับตาดูอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้กระทบเสถียรภาพระบบชำระเงินและเศรษฐกิจ

นายณพงศ์ธวัช โพธิกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ติดตามพัฒนาการสินทรัพย์ดิจิทัลต่อเนื่อง โดยเฉพาะ Stable coin แม้มีความพยายามรักษามูลค่าให้สอดคล้องกับเงินจริง เช่น ดอลลาร์ แต่กลไกการหนุนหลังมูลค่าของ Stable coin บางรูปแบบมีความเสี่ยงและหนุนหลังมูลค่าไม่ได้จริง เช่น UST ที่ก่อให้เกิดผลกระทบวงกว้างต่อตลาด Cryptocurrency และ Platform ที่ให้บริการที่เกี่ยวข้อง เช่น Celsius, Barbel รวมถึงกรณีบริษัท Zipmex ในไทย

สำหรับการดำเนินการนี้สอดคล้องธนาคารกลางและหน่วยงานกำกับดูแลในต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เห็นความเสี่ยงของ Stable coin และเห็นว่าควรให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลมากขึ้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อนักลงทุนและผลกระทบต่อระบบการเงิน

ทั้งนี้ สหรัฐ EU ญี่ปุ่น รวมถึงไทยกำลังทบทวนแนวทางกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้งานสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจและกำกับดูแลให้เหมาะสม เพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการและป้องกันความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน

เปิดกฎหมายใหม่คุมโลกดิจิทัล

กติกาใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นในหลายประเทศ คือ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยไทยออก พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 (PDPA) เพื่อป้องกันการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล เช่น การซื้อขายข้อมูล ซึ่งบังคับใช้วันที่ 1 มิ.ย.2565 เพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ รูปถ่าย บัญชีธนาคาร อีเมล ไอดีไลน์ บัญชีผู้ใช้ของเว็บไซต์ ลายนิ้วมือ ประวัติสุขภาพ

นายเธียรชัย ณ นคร ประธานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กล่าวว่ากฎหมาย PDPA ถอดแบบมาจากกฎหมายต้นแบบอย่างกฎหมาย GDPR (General Data Protection Regulation) ของ EU ที่มีเพื่อเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคล

ความสำคัญของ PDPA ทำให้เจ้าของข้อมูลมีสิทธิในข้อมูลส่วนตัวที่ถูกจัดเก็บไปแล้วหรือกำลังถูกจัดเก็บมากขึ้น เพื่อสร้างความปลอดภัยและเป็นส่วนตัวให้เจ้าของข้อมูล คือ สิทธิรับทราบและยิมยอมการเก็บข้อมูลส่วนตัว และสิทธิขอเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว คัดค้านและเพิกถอนการเก็บและนำข้อมูลไปใช้ และสิทธิขอให้ลบหรือทำลายข้อมูลส่วนตัว

คลอด กม.ลูก-ผ่อนปรน ’เอสเอ็มอี’

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า กฎหมายลูก 4 ฉบับ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มีผลบังคับใช้แล้ว คือ

1.การผ่อนปรน PDPA สำหรับเอสเอ็มอี-วิสาหกิจชุมชน 2.การประกาศสร้างความชัดเจนในการจัดทำและเก็บรักษาบันทึกรายการของกิจกรรมการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล และให้เวลาเตรียมการ 180 วัน

3.การประกาศมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยขั้นต่ำให้ชัดเจนสอดคล้องกับประกาศกระทรวงดิจิทัลฯ ที่ได้ใช้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา 4.ประกาศการลงโทษทางปกครอง ที่คำนึงถึงเจตนา และให้มีการไกล่เกลี่ย ตักเตือน

ขณะที่ ยังมีกฏหมายลูกที่สำคัญอีก 4 ฉบับที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

คุมภัยไซเบอร์-แพลตฟอร์มดิจิทัล

นอกจากนี้ ไทยมีกฎหมายความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ คือ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ.2562 บังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค.2562 มีสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) และคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) ปฏิบัติภารกิจตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

กฎหมายฉบับนี้เกิดขึ้นจากภัยคุกคามทางไซเบอร์เกิดขึ้นต่อเนื่องและรุนแรงขึ้น โดยได้จัดทำกฎหมายลำดับรองสำหรับบังคับใช้ในหน่วยงานรัฐ หน่วยงานควบคุม หรือกำกับดูแล และหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญทางสารสนเทศแล้ว

ขณะเดียวกันไทยออก พ.ร.ฎ.การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. ... ซึ่งปัจจุบนมีผู้ประกอบการแพลตฟอร์มต่างชาติเข้ามาให้บริการด้านดิจิทัลกับคนไทยจึงต้องมีกติกาเพื่อป้องกันการถูกฉ้อโกงหรือเกิดปัญหาอื่น ดังนั้นกลุ่มผู้ให้บริการต่างประเทศต้องดำเนินธุรกิจตามกฎหมายไทย โดยต้องจดแจ้งที่สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ เอ็ตด้า

ลักษณะบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบก่อนประกอบธุรกิจ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.บุคคลธรรมดาที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี 2.นิติบุคคลมีรายได้ในประเทศไทยเกิน 50 ล้านบาทต่อปี และ 3.ผู้มีจำนวนคนใช้งานในไทยเฉลี่ยเกิน 5,000 รายต่อเดือน