ปรับความคิด...เพื่อรองรับนานาวิกฤติ | วิษณุ วงศ์สินศิริกุล

ปรับความคิด...เพื่อรองรับนานาวิกฤติ | วิษณุ วงศ์สินศิริกุล

ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) ถือเป็นกระดูกสันหลังทางเศรษฐกิจของหลายประเทศ ธุรกิจในกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบจากนานาวิกฤติที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติทางด้านสุขภาพ ด้านสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงด้านเศรษฐกิจในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มว่าจะทอดยาวต่อไปในอนาคต

ดังนั้น การปรับกระบวนทัศน์ทางการบริหาร และกระบวนทัศน์ทางความคิดของผู้บริหารเพื่อรองรับนานาวิกฤติ ถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง จึงมีข้อเสนอเพื่อเป็นทางเลือกใน 4 ประเด็นให้กับผู้บริหารที่อาจสามารถนำไปปรับใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการบริหารธุรกิจของตน

ประเด็นที่หนึ่งที่ผู้บริหารภายใต้ภาวะวิกฤติพึงมีคือ “ทักษะและความเชี่ยวชาญ” ข้อมูลที่ได้รับการเผยแพร่อย่างแพร่หลายแสดงให้เห็นว่า ทักษะและความเชี่ยวชาญในศตวรรษที่ 21 (21 Century Skill) นั้นประกอบไปด้วย 4C’s กล่าวคือ

1. Critical Thinking and Problem Solving หรือทักษะของการคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหา โดยผู้ที่ประสบปัญหาจะต้องเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น และสามารถประเมินสถานการณ์ที่เป็นอยู่ได้อย่างเหมาะสม จากนั้นจึงนำไปสู่การแก้ปัญหา และเมื่อสามารถแก้ปัญหาได้เสร็จสิ้นแล้ว ก็จำต้องนำประสบการณ์ที่เกิดขึ้นมาเป็นบทเรียนเพื่อนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ในอนาคต 

กระบวนการคิดวิเคราะห์เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ควรเริ่มต้นด้วยการเข้าใจว่าอะไรคือปัญหา (What) และรู้สาเหตุแห่งปัญหา (Why) จากนั้นต้องเข้าใจจังหวะและเวลาในการแก้ปัญหา (When) เพราะทุกปัญหาใช่ว่าจะต้องเร่งแก้ไขในทันทีทันใด ควรใช้เวลาไตร่ตรองและวิเคราะห์ให้ดีเสียก่อน ว่าควรจะเริ่มแก้ปัญหาที่ส่วนใด (Where) ด้วยวิธีการใดในการแก้ปัญหา (How) รวมไปถึงบุคคลใดบ้างควรจะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาดังกล่าว (Who)

ปรับความคิด...เพื่อรองรับนานาวิกฤติ | วิษณุ วงศ์สินศิริกุล

(ภาพถ่ายโดย fauxels)

2. Creativity and Innovation หรือทักษะของการคิดอย่างสร้างสรรค์และการสร้างนวัตกรรม การคิดอย่างสร้างสรรค์ คือการรู้จักสร้างความคิด และทำให้ความคิดนั้นเป็นเอกลักษณ์ ที่สำคัญความคิดที่ถูกสร้างขึ้นจะต้องทำได้จริง ในส่วนของการสร้างนวัตกรรมนั้น หาใช่แต่จำกัดวงอยู่เพียงนวัตกรรมต่อผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่จับต้องได้ 

หากแต่การสร้างนวัตกรรมยังสามารถเกิดขึ้นได้ในสินค้าบริการ รวมไปถึงนวัตกรรมต่อกระบวนการบริหารจัดการในมิติต่างๆ เช่น มิติของการผลิต มิติของการสื่อสารภายในและภายนอกองค์กร มิติของการบริหารบุคคล ฯลฯ

3. Communication หรือทักษะทางการสื่อสาร คือความสามารถในการสื่อสารความคิดของตนต่อบุคคลรอบข้างได้อย่างถูกต้อง ชัดเจน โดยไม่ส่งผลกระทบทางลบต่อบุคคลอื่น กล่าวได้ว่าบุคคลที่มีทักษะการสื่อสารที่ดีมักจะเป็นบุคคลที่สามารถโน้มน้าว จูงใจให้บุคคลอื่นคล้อยตามความเห็นของตนได้อย่างนุ่มนวลและแนบเนียน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในหลักการสำคัญของการบริหารความขัดแย้งต่างๆ

4. Collaboration หรือทักษะของการแสวงหาความร่วมมือ บุคคลที่มีทักษะสูงในด้านนี้ มักจะเป็นบุคคลที่สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี นั่นหมายความว่าเป็นบุคคลที่เปิดรับฟังความคิดเห็นของคนรอบข้าง และสามารถนำความเห็นทั้งหมดมาหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกัน เพื่อนำไปสู่ทางออกของการแก้ปัญหาที่เหมาะสมที่สุด

ปรับความคิด...เพื่อรองรับนานาวิกฤติ | วิษณุ วงศ์สินศิริกุล

(ภาพถ่ายโดย Pixabay)

นอกจากประเด็นทักษะและความเชี่ยวชาญแล้ว สิ่งที่ผู้บริหารจำต้องมีก็คือ “ความรู้” ซึ่งถือเป็นประเด็นที่สอง กล่าวได้ว่าในปัจจุบัน ข้อมูลที่เป็นและไม่เป็นความรู้มีอยู่มากมายและหลากหลายในเครือข่ายสังคมออนไลน์ ดังนั้น ผู้เสพข้อมูลเหล่านั้นจำต้องกลั่นกรองให้ดีว่า ข้อมูลที่ได้รับมาเป็นคุณหรือโทษและเป็นความรู้ให้กับตนเองมากน้อยเพียงใด 

อย่างไรก็ตาม บุคคลที่ชอบแสวงหาความรู้ใหม่ๆ มักจะเป็นบุคคลที่เปิดใจยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ ซึ่งจะทำให้บุคคลนั้นเข้าใจและสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงได้

ประเด็นที่สามทัศนคติที่เป็นบวก” ถือเป็นอีกหนึ่งคุณสมบัติสำคัญสำหรับผู้บริหาร ผู้บริหารที่บริหารงานด้วยทัศนคติที่เป็นบวก จะทำให้เข้าใจและเข้าถึงความต้องการของผู้ร่วมงานเป็นอย่างดี ซึ่งจะนำไปสู่การลดความขัดแย้งภายในองค์กร หรือสามารถจะร่วมกันหาทางออกเมื่อองค์กรประสบปัญหา และที่สุดแล้วจะสามารถนำพาองค์กรไปสู่เป้าหมายที่ตั้งใจไว้ได้ไม่ยาก 

มีผู้บริหารระดับสูงขององค์กรขนาดใหญ่ท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า ผลลัพธ์ของชีวิตคนนั้นประกอบไปด้วย “ความสามารถ x ความมุมานะ x ทัศนคติ” โดยความสามารถและความมุมานะมีคะแนนระหว่าง 1 ถึง 10 ในขณะที่ทัศนคติมีคะแนนระหว่าง -10 ถึง 10 ดังนั้น ต่อให้คนเรามีความสามารถและความมุมานะมากเพียงใดก็ตาม แต่หากมีทัศนคติที่เป็นลบ คะแนนผลลัพธ์ของชีวิตก็ไม่ทางที่จะได้ผลเป็นบวกอย่างแน่นอน”

ประเด็นสุดท้ายคือ “ระเบียบวินัย” ผู้บริหารภายใต้ยุคนานาวิกฤติ ต้องมีระเบียบวินัยต่อตนเองและต่อสังคมที่ดำรงอยู่ การมีระเบียบวินัยต่อตนเองจะนำไปสู่ความมุ่งมั่นในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผล ในขณะที่การมีระเบียบวินัยต่อสังคม จะนำไปสู่การบริหารงานอย่างมีศีลธรรมโดยยึดหลักธรรมาภิบาลเป็นที่ตั้ง

อาจกล่าวได้ว่า ข้อเสนอเพื่อเป็นทางเลือกใน 4 ประเด็นข้างต้น หากไม่ได้ถูกนำไปปรับใช้เพื่อการบริหารธุรกิจเท่านั้น แต่หากถูกนำไปปรับใช้เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตด้วย ก็น่าจะเป็นประโยชน์อยู่ไม่น้อย

คอลัมน์ สมการความคิด                 
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วิษณุ วงศ์สินศิริกุล
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต