ธุรกิจครอบครัว...โอกาสที่ท้าทาย | วิษณุ วงศ์สินศิริกุล

ธุรกิจครอบครัว...โอกาสที่ท้าทาย | วิษณุ วงศ์สินศิริกุล

“ธุรกิจครอบครัว” ถือเป็นอีกหนึ่งตัวจักรสำคัญ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท่ามกลางสภาพแวดล้อมของการดำเนินธุรกิจ ที่ประสบกับอุปสรรคมากมาย รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค อันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

ซ้ำเติมด้วยการปรับตัวสูงขึ้นของต้นทุนการผลิตอันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน จนนำไปสู่ปัญหาเงินเฟ้อ และผลกระทบทางลบต่อห่วงโซ่อุปทาน (Supply disruption) จึงเป็นภารกิจสำคัญสำหรับผู้บริหารธุรกิจรุ่นใหม่ ที่จะนำพาธุรกิจครอบครัวของตนฝ่าวิกฤต และสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนภายใต้บริบทใหม่ของสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ

จากผลการสำรวจผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ประจำปี 2565 (PwC’s Global NextGen Survey 2022) ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ จำนวนทั้งสิ้น 1,036 คน ใน 68 ประเทศและอาณาเขต ผ่านช่องทางออนไลน์

สำหรับประเทศไทยมีผู้เข้าร่วมทำการสำรวจทั้งสิ้น 40 คน โดยได้จัดทำเพื่อเผยแพร่เป็นรายงานผลสำรวจผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ ประจำปี 2565 ฉบับประเทศไทย (PwC’s Global NextGen Survey 2022 – Thailand Report) 

แสดงให้เห็นว่า ร้อยละ 63 ของผู้บริหารรุ่นใหม่ไทยให้ความสำคัญกับการเติบโตของธุรกิจของตนเป็นลำดับแรก รองลงมาร้อยละ 50 ให้ความสำคัญกับการขยายตัวของธุรกิจไปสู่ตลาดใหม่ นอกจากนี้ผู้บริหารรุ่นใหม่ไทยราวร้อยละ 45 ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาความสามารถด้านดิจิทัล (Digital)

ซึ่งเทียบเท่ากับการให้ความสำคัญกับการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงแนวปฏิบัติการทำงานของพนักงาน ความคิดเห็นของผู้บริหารรุ่นใหม่ไทยในประเด็นข้างต้นสอดคล้องกับความคิดเห็นของผู้บริหารรุ่นใหม่ทั่วโลก

รายงานฉบับนี้ยังชี้ให้เห็นว่า ร้อยละ 40 ของผู้บริหารรุ่นใหม่ไทยแสดงเจตจำนงที่จะเข้ารับการศึกษา อบรม เพื่อพัฒนาทักษะ ความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านใหม่ๆ ให้กับตนเองเพิ่มเติม หลังจากที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในธุรกิจครอบครัวของตนมากขึ้นในช่วงเวลาของการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19

ทักษะ 3 อันดับแรกที่ผู้บริหารรุ่นใหม่ไทยต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมคือ การพัฒนาภาวะความเป็นผู้นำ/ ทักษะทางสังคม การเงิน/ การลงทุน และนวัตกรรมโมเดลธุรกิจ ตามลำดับ

ในขณะที่ผู้บริหารรุ่นใหม่ทั่วโลกให้ความสนใจในการศึกษาเพิ่มเติมในประเด็นดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 28 ความแตกต่างกว่าร้อยละ 10 ของความสนใจในการเรียนรู้เพื่อเพิ่มทักษะระหว่างผู้บริหารรุ่นใหม่ไทยและผู้บริหารรุ่นใหม่ทั่วโลกนั้นอาจวิเคราะห์ได้เป็น 2 นัยยะ 

กล่าวคือ นัยยะหนึ่ง ผู้บริหารรุ่นใหม่ไทยเข้าใจการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดของบริบทการบริหารธุรกิจสมัยใหม่ได้ดีกว่าผู้บริหารรุ่นใหม่ทั่วโลก จึงให้ความสนใจต่อการหาความรู้เพิ่มทักษะ เพื่อให้เท่าทันกับการบริหารธุรกิจในบริบทใหม่ หรืออีกนัยยะหนึ่ง

อาจเป็นไปได้ว่า ทักษะในการบริหารธุรกิจของผู้บริหารรุ่นใหม่ไทยยังน้อยกว่าผู้บริหารรุ่นใหม่ทั่วโลก โดยเฉพาะทักษะความเป็นผู้นำ และทักษะทางสังคม 

จึงส่งผลให้ผู้บริหารรุ่นใหม่ไทยส่วนใหญ่กระตือรือร้นที่จะเข้ารับการอบรมเพื่อเพิ่มทักษะเสริมความรู้ในประเด็นนี้ ซึ่งถ้านัยยะนี้เป็นความจริง ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงจุดอ่อนของระบบการศึกษาไทยที่ต้องได้รับการพัฒนา เพื่อส่งเสริมให้เกิดการผลิตเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วสามารถที่จะบริหารงาน รวมถึงการบริหารชีวิตในบริบทโลกรูปแบบใหม่ได้อย่างราบรื่น

ในรายงานฉบับดังกล่าวนี้ยังแสดงให้เห็นถึงผลการเปรียบเทียบความคิดเห็นระหว่างผู้บริหารรุ่นใหม่ไทย ผู้บริหารรุ่นปัจจุบันไทย และผู้บริหารรุ่นใหม่ทั่วโลก ต่อประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental,  Social and Governance; ESG)

โดยเกือบร้อยละ 70 ของผู้บริหารรุ่นใหม่ไทยเชื่อว่า การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบอื่นๆ ที่ตามมา เป็นปัญหาสำคัญที่ต้องร่วมกันแก้ไข ซึ่งสอดคล้องกับความคิดเห็นของผู้บริหารรุ่นใหม่ทั่วโลก ในขณะที่มีเพียงร้อยละ 36 ของผู้บริหารรุ่นปัจจุบันไทยเท่านั้นที่เห็นด้วยกับประเด็นดังกล่าว 

ยิ่งกว่านั้นเกินกว่าร้อยละ 50 ของผู้บริหารรุ่นใหม่ไทยและผู้บริหารรุ่นใหม่ทั่วโลกเห็นพ้องต้องกันว่า การสร้างความเชื่อมั่นด้านความยั่งยืน คือหัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจของตน

อาจกล่าวได้ว่า ผลพวงหนึ่งของการระบาดใหญ่ของโควิด-19 คือ บริษัทต่างๆ ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับเรื่องของสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาลมากขึ้น ดังนั้น จึงมีหลายบริษัทได้นำแนวคิด แนวปฏิบัติ รวมไปถึงกลยุทธ์ด้าน ESG มาใช้กับธุรกิจของตน ส่งผลให้บริษัทของไทยที่ต้องการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ จำต้องคำนึงถึงเรื่อง ESG เป็นสำคัญ

จากข้อมูลบางส่วนของผลการสำรวจในรายงานฉบับนี้ สามารถนำไปสู่ข้อสรุปที่เป็นข้อเสนอแนะในภาพรวมได้ กล่าวคือ ผู้บริหารรุ่นใหม่จำต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ

ดังนั้นผู้บริหารรุ่นใหม่จึงต้องเปิดใจเพื่อเรียนรู้กับสิ่งใหม่ ในขณะเดียวกันต้องไม่ละเลยองค์ความรู้และประสบการณ์จากผู้บริหารรุ่นก่อนหน้าและรุ่นปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว 

ดังนั้น จึงเกิดเทคโนโลยีที่ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา การเรียนรู้เพื่อให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีจึงเป็นอีกปัจจัยสู่ความสำเร็จของผู้บริหารรุ่นใหม่ หากแต่ปัจจัยที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ การรู้จักนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเหมาะสมมาใช้กับธุรกิจของตน หาใช่จะมุ่งเน้นแต่เพียงความทันสมัย บุคลากรขององค์กรถือเป็นตัวจักรสำคัญในการผลักดันให้องค์กรนั้นเจริญเติบโต 

ดังนั้น การสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีทั้งด้านร่างกายและจิตใจ รวมไปถึงการพัฒนาความรู้และทักษะของบุคลากรถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญของการดำเนินธุรกิจเพื่อให้เกิดการเจริญเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน.

คอลัมน์ สมการความคิด                 
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วิษณุ วงศ์สินศิริกุล
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต