AOT เผยไตรมาส 3 ปี 65 “ขาดทุนลดลง” เหลือ 2.2 พันล้าน เหตุรายได้บริการเพิ่มขึ้น

AOT เผยไตรมาส 3 ปี 65 “ขาดทุนลดลง” เหลือ 2.2 พันล้าน เหตุรายได้บริการเพิ่มขึ้น

“ท่าอากาศยานไทย” เผยไตรมาส 3 ปี 65 "ขาดทุนสุทธิ" ลดลงเหลือ 2.20 พันล้าน เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 4.07 พันล้าน เนื่องจากมีรายได้จากการขายหรือการให้บริการ-การบินเพิ่มขึ้น

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า ผลดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2565 (สิ้นสุดมิ.ย.) มีผลขาดทุนสุทธิจำนวน 2,207.19 ล้านบาท โดยผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 1,871.28 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีผลขาดทุนสุทธิจำนวน 4,078.47 ล้านบาท โดยรายได้จากการขายหรือการให้บริการเพิ่มขึ้น 2,999.49 ล้านบาท หรือร้อยละ 179.99 จากการเพิ่มขึ้น ทั้งรายได้เกี่ยวกับกิจการการบิน 1,570.11 ล้านบาท หรือร้อยละ 312.82 และรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน 1,429.38 ล้านบาท หรือร้อยละ 122.74

เนื่องจากจำนวนเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสารโดยรวมเพิ่มขึ้นรายได้อื่นเพิ่มขึ้น 411.46 ล้านบาท หรือร้อยละ 452.85 ค่าใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้น 1,176.06 ล้านบาท หรือร้อยละ 20.17 ส่วนใหญ่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายอื่น ค่าใช้จ่ายผลประโยชน์พนักงาน ขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ค่าซ่อมแซมและบำรุงรักษา ค่าจ้างภายนอก ค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุและค่าสาธารณูปโภค ในขณะที่ต้นทุนทางการเงินลดลง 10.15 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.37 สำหรับรายได้ภาษีเงินได้ลดลง 335.29 ล้านบาท หรือร้อยละ 37.90

สำหรับงวด 9 เดือน (สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2565) มีผลขาดทุนสุทธิจำนวน 9,755.32 ล้านบาท โดยผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 1,409.22 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีผลขาดทุนสุทธิ 11,164.54 ล้านบาท โดยรายได้จากการขายหรือการให้บริการเพิ่มขึ้น 4,389.97 ล้านบาท หรือร้อยละ 78.11 จากการเพิ่มขึ้นทั้งรายได้เกี่ยวกับกิจการการบิน 2,207.46 ล้านบาท หรือร้อยละ 112.38 และรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน 2,182.51 ล้านบาท หรือร้อยละ 59.69

เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสารรวม รายได้อื่นเพิ่มขึ้น 662.34 ล้านบาท หรือร้อยละ 89.11 ค่าใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้น 3,155.41 ล้านบาท หรือร้อยละ 17.44 ส่วนใหญ่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายอื่น ค่าใช้จ่ายผลประโยชน์พนักงาน ขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ ค่าสาธารณูปโภคค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ค่าซ่อมแซมและบำรุงรักษา และค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุในขณะที่ต้นทุนทางการเงินลดลง 28.41 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.27 สำหรับรายได้ภาษีเงินได้ลดลง 363.67 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.21