ลุ้น ‘สภาพัฒน์’ แถลงจีดีพีQ2/65 บริโภค- ท่องเที่ยวหนุนตัวเลขเติบโต

ลุ้น ‘สภาพัฒน์’ แถลงจีดีพีQ2/65  บริโภค- ท่องเที่ยวหนุนตัวเลขเติบโต

ลุ้น ‘สภาพัฒน์’ แถลงจีดีพีQ2/65 บริโภค- ท่องเที่ยวหนุนตัวเลขเติบโต คาดจีดีพีปีนี้โตได้ 3% ถ้าสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย - ยูเครน ไม่รุนแรง และมาตรการคว่ำบาตรไม่เพิ่มขึ้น

วันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม 2565 นี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำหนดจัดการแถลงข่าวแก่สื่อมวลชน เรื่อง “รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 และแนวโน้มปี 2565”  โดยมี นายดนุชา  พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช. และผู้บริหารที่เกี่ยวข้องเป็นผู้แถลง

ทั้งนี้ในการประชุม คณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1/2565 ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานเมื่อวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา สศช.ได้รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้

นายวิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการ สศช. กล่าวว่าในการแถลงข่าวผลการประชุมฯว่าสถานการณ์ปัจจุบันแม้พบว่าเศรษฐกิจโลกโดยรวมเริ่มมีสัญญาณการชะลอตัว จากปัญหาราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งแนวโน้มของเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีแรกปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและมีแนวโน้มจะลดลงได้ในช่วงครึ่งปีหลัง

อย่างไรก็ตามภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 2 ในปีนี้ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มมีสัญญาณชะลอตัว ยังสามารถเติบโตได้ดีต่อเนื่องจากการขยายตัวในไตรมาสแรก โดยภาคส่วนเศรษฐกิจที่มีการขยายตัวได้ดีได้แก่ การอุปโภค บริโภค รวมทั้งภาคการส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดีทั้งในส่วนของการส่งออกสินค้า และบริการ

โดยการส่งออกภาคบริการหรือว่าภาคการท่องเที่ยวนั้นขยายตัวได้ดีต่อเนื่องหลังจากมีการเปิดประเทศ ภายหลังจากที่มีการผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 ทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ในการแถลงจีดีพีครั้งที่ผ่านมา สศช.คาดการณ์ว่าจีดีพีในปี 2565 จะขยายตัวได้ประมาณ 2.5 – 3.5% โดยมีค่ากลางที่ 3% ส่วนในปี 2566 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวประมาณ 3.7%

สำหรับประเด็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซีย สศช.ได้วางฉากทัศน์ (Scenarios)ไว้ 3 รูปแบบ โดย ในเป็นกรณีฐาน โดยเป็นสถานการณ์ในปัจจุบัน คือสงครามทางทหารระหว่างรัสเซีย ยูเครนยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจยังคงระดับเดิมหรือเพิ่มระดับความรุนแรงอย่างช้าๆ โดยต่างฝ่ายต่างระมัดระวังผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตร (Sanction) และมาตรการตอบโต้ทางเศรษฐกิจ การทรงตัวหรือการเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ของมาตรการ Sanction 

ในลักษณะดังกล่าวจะทำให้อุปสงค์ และอุปทานน้ำมันดิบในตลาดโลกสามารถปรับตัวได้ทัน เช่นการลดการนำเข้าน้ำมันรัสเซีย แต่รัสเซียสามารถที่จะเปลี่ยนไปเป็นการส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ โดยไม่ส่งผลให้อุปทานน้ำมันในตลาดโลกลดลง เช่นที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน

ในกรณีนี้ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะค่อยๆ ลดลงในช่วงที่เหลือของปี ตามการปรับตัวของอุปทานน้ำมันในตลาดโลกที่สามารถจัดสรรใหม่ (reallocate) ได้ดี รวมทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความวิตกกังวลต่อภาวะความถดถอยของประเทศเศรษฐกิจหลัก ส่วนราคา LNG ยังคงอยู่ในระดับสูงและยังมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ก่อนที่จะเริ่มปรับคัวลดลงในปี 2566 ตามอุปทานที่น่าจะสามารถจัดสรรใหม่ (reallocate) ได้มากขึ้นตามลำดับรวมทั้งการสิ้นสุดลงของฤดุหนาวและเศรษฐกิจโลกที่จะเริ่มชะลอตัวชัดเจนมากขึ้น

ในด้านทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ และประเทศเศรษฐกิจหลัก (สหรัฐ แคนาดา สหราชอาณาจักร) ยังคงมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างน้อยที่สุดจนถึงสิ้นปีเพื่อลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและสร้างความมั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่เป้าหมายของนโยบายการเงินในระยะยาว

ในภาพนี้ เศรษฐกิจโลกในปี 2565 จะขยายตัวสอดคล้องกับประมาณการของหน่วยงานต่างประเทศในปัจจุบัน `และชะลอตัวลงอย่างชัดเจนในปี 2566 ตามการปรับทิศทางนโยบายการเงินและวัฎจักรของประเทศเศรษฐกิจหลักเป็น ส่วนเศรษฐกิจไทย ในภาพนี้เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้สอดคล้องกับการประมาณการของหน่ายงานหลักด้านเศรษฐกิจ (สศช ธปท. สศค.) เงินเฟ้อค่อยๆ ปรับตัวลดลง ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลอย่างช้าๆ ในปี 2566 โดย สศช.คาดว่าจีดีพีในปีนี้จะขยายตัวได้ในช่วง 2.5 – 3.5% ค่ากลางที่ 3%

ซึ่งใกล้เคียงกับหน่วยงานเศรษฐกิจต่างๆได้วิเคราะห์ไว้ว่าเศรษฐกิจในปีนี้ใกล้เคียงกับ 3% เช่น กระทรวงการคลังคาดว่าเศรษฐกิจในปีนี้จะขยายตัวที่ 3.5% ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าเศรษฐกิจในปีนี้จะเติบโต 3.3%