สศช. หวั่นเศรษฐกิจโลก ‘ถดถอย’ เร็วเกินคาด

สศช. ระบุ หลังสหรัฐประกาศตัวเลขเงินเฟ้อของเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 9.1% หรือสูงสุดในรอบ 40 ปี รวมถึงสถานการณ์เงินบาทที่อ่อนค่านั้น หน่วยงานด้านเศรษฐกิจของไทย ไม่ว่ากระทรวงการคลัง หรือธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องหารือร่วมกันว่าจะเตรียมรับมืออย่างไร

เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ดนุชา พิชยนันท์ ระบุ หลังสหรัฐประกาศตัวเลขเงินเฟ้อของเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 9.1% หรือสูงสุดในรอบ 40 ปี รวมถึงสถานการณ์เงินบาทที่อ่อนค่านั้น หน่วยงานด้านเศรษฐกิจของไทย ไม่ว่ากระทรวงการคลัง หรือธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องหารือร่วมกันว่าจะเตรียมรับมืออย่างไร แม้จะมีการมอนิเตอร์เงินเฟ้อเป็นรายเดือนอยู่แล้วก็ตาม ซึ่งสถานการณ์เงินเฟ้อของไทยเกิดจากปัจจัยด้านอุปทานจากภาวะราคาอาหารและพลังงานที่สูงขึ้น เชื่อว่าเมื่อทุกอย่างคลี่คลายและเข้าที่ จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ เพราะไทยเคยเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อสูงสุด 9% มาแล้วเมื่อปี 2551

สถานการณ์ที่เงินเฟ้อเพิ่มสูงในแต่ละประเทศได้พยายามหาทางแก้ปัญหา เช่น การใช้เครื่องมือนโยบายทางการเงินแก้ไขสถานการณ์ โดยเฉพาะการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสู้ปัญหาเงินเฟ้อ แต่สิ่งที่น่ากังวล คือ เมื่อขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจะทำให้ต้นทุนของประชาชนและภาคเอกชนสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นปัญหาอีกด้านของเศรษฐกิจและมีความเสี่ยงที่จะเกิดเศรษฐกิจถดถอยเร็วกว่าที่คาด และหากเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยมาอีกเท่ากับเศรษฐกิจของไทยต้องเผชิญกับมรสุม 3 ลูกที่เข้ามาพร้อมกัน ประกอบด้วย

1.เงินเฟ้อสูง โดยล่าสุดกระทรวงพาณิชย์รายงานอัตราเงินเฟ้อเดือน มิ.ย.2565 ขยายตัว 7.66% รวม 6 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัว 5.61%

2.ผลกระทบจากสงครามที่ยืดเยื้อ ที่ยังส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งน้ำมันและสินค้าอื่นที่ราคาสูงขึ้น

3.ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกถดถอย ซึ่งเดิมคาดว่าความเป็นไปได้ของเศรษฐกิจถดถอยจะเกิดขึ้นในช่วง 12-16 เดือนข้างหน้า แต่ขณะนี้มีความกังวลกันว่าปัญหาเศรษฐกิจถดถอยโดยเฉพาะในสหรัฐและยุโรปจะมาเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ทั้งในสหรัฐและในยุโรป

"ขณะนี้เริ่มเห็นการที่บริษัทขนาดใหญ่ไม่รับคนเพิ่ม รวมถึงมีการปลด และลดคน ลงเพื่อลดค่าใช้จ่าย เป็นสัญญาณว่ามีการเตรียมตัวที่จะรับมือกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้ ซึ่งต้องเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น”