‘เจ เวนเจอร์ส’ รุกตลาดบล็อกเชน สร้างการยอมรับ JFIN Chain รับเทคโนโลยี Web 3.0

‘เจ เวนเจอร์ส’ รุกตลาดบล็อกเชน สร้างการยอมรับ JFIN Chain รับเทคโนโลยี Web 3.0

หากย้อนกลับไปในช่วง 5 ปีก่อนหน้านี้ การสร้างบล็อกเชนในประเทศไทย และทั่วโลกค่อนข้างน้อย มีเพียงเชนหลักๆ อย่างอีเธอเรียมที่มีความแข็งแกร่ง ถูกรองรับด้วยระบบนิเวศน์ ทำให้ประเทศไทยเข้าใจสกุลเงินดิจิทัลหรือเหรียญคริปโทเคอร์เรนซีต่างๆ มากกว่าบล็อกเชนที่เป็นพื้นฐานของ Web3.0

ธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มและเทคโนโลยีในเครือกลุ่มบริษัท เจมาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า บริษัทเร่งสร้างความเข้าใจใน JFIN chain แทนที่ JFIN coin จากในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา คนใช้ และเข้าใจเหรียญคริปโทเคอร์เรนซีมากกว่าเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งคนเข้าใจวิธีการใช้งาน และสนใจในเหรียญ JFIN coin

แต่ในปีนี้คนเข้าใจในบล็อกเชน และนำบล็อกเชนเข้ามาในธุรกิจมากขึ้น เห็นได้จากหลายๆ บริษัทที่กำลังพัฒนาเชนของตัวเองขึ้นมาเพื่อใช้ในอีโคซิสเต็ม

โดยบริษัทอยู่ท่ามกลางโอกาส และความท้าทายใหม่ๆ และการเข้าสู่ปีที่ 5 ถือเป็นก้าวสำคัญมาจากที่ เจ เวนเจอร์ส มีจุดเริ่มต้นเป็น Venture Capital เพื่อลงทุนด้านเทคโนโลยี และยังต้องมองหาโอกาสพัฒนาต่อยอด และทำ Digital Transformation ให้กับกลุ่มเจมาร์ท เพื่อรับมือกับธุรกิจใหม่ๆ ที่ต้องขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี

แม้ปริมาณการซื้อขายของเหรียญ JFIN รวมทั้งตลาดคริปโทฯทั่วโลกลดลงเป็นไปตาม ‘บิตคอยน์ ฮาฟวิ่ง’ ที่ทำให้กระแสเงินทั่วโลกเข้ามาในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งเป็นสถานการณ์ปกติของตลาดในช่วง 2-3 ปีนี้ ที่เป็นช่วงเวลาของตลาดขาลง และมูลค่าของตลาดลดลง จึงไม่แปลกที่คนไม่สนใจในตอนนี้ เหมือนกับช่วงก่อนหน้านี้ในปี 2562-2563 ที่เป็นตลาดขาลง

แต่บริษัทยังคงนำเหรียญ JFINcoin เข้ามาใช้ในกลุ่มพาร์ตเนอร์ แต่สามารถใช้ในวงแคบมากขึ้นเปลี่ยนมาใช้ในรูปแบบของ Utility Token พร้อมใช้ ที่มีสินค้าและบริการรองรับ เป็นช่วงโปรโมชั่นการใช้งาน เนื่องจากไม่สามารถใช้โทเคนเป็นสื่อกลางในการซื้อสินค้าและบริการได้

‘เจ เวนเจอร์ส’ รุกตลาดบล็อกเชน สร้างการยอมรับ JFIN Chain รับเทคโนโลยี Web 3.0

'เจ เวนเจอร์ส' รุกตลาดบล็อกเชน

JFIN เข้ามาในตลาดเทคโนโลยีบล็อกเชนตั้งนานแล้ว ซึ่งเป็นการทำงานแบบ DeFi (Decentralized finance) การเงินแบบไม่รวมศูนย์ที่ไม่พึ่งพาตัวกลางเพิ่งได้รับความนิยมในปีนี้ หลังจากการพัฒนาของ Web 3.0 เกิดขึ้น ทำให้ทุกกระเป๋าเชื่อมต่อกันได้ง่าย และรวดเร็ว โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางโดยการทำงานของ Web3.0 เหล่านี้มีบล็อกเชนอยู่เบื้องหลังทำให้เรามุ่งสู่อินฟราสตักเจอร์ที่เข้ามาแทนที่ Web2.0 แบบเก่า ที่ไม่สามารถรองรับเทคโนโลยีนี้ได้

โดยการสร้าง JFINChain เพื่อให้พาร์ตเนอร์ต่างๆ มาสร้างแอปพลิเคชันบนเชนนี้ ซึ่งจะสามารถขยายการรับรู้และขยายฐานผู้ใช้จากลูกค้าในกลุ่มพาร์ตเนอร์ จะทำให้คนรับรู้และเข้าใจเหรียญ JFIN มากขึ้นไปโดยปริยาย ซึ่ง JFIN Chain ถือเป็นหนึ่งบล็อกเชนในไทยที่ได้เปรียบจากทุกเชนในตลาด

เนื่องจากบริษัทมีการพัฒนาเชนที่รองรับกลุ่มพาร์ตเนอร์ให้สามารถเข้ามาใช้งานในเชนของเราได้จริง เช่น บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT และ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS และจะมีพาร์ตเนอร์มากขึ้นในอนาคต

JFIN Chain และ XChain 2 บล็อกเชนของเจ เวนเจอร์

ในทางเทคนิค JFIN Chain เป็นเชนรายแรกในประเทศไทย ที่มีโปโตคอลแบบ Proof-of-Stake (POS) และรองรับ smart contract ตามมาตรฐาน Ethereum Virtual Machine ซึ่งทำให้สามารถนำแอปพลิเคชันเดิมที่อยู่บน EVM มาใช้งานบนระบบบล็อกเชน JFIN Chain ได้ทันที

เกิดจากการมองเห็นโอกาส และความต้องการของผู้ใช้งานสำหรับเครือข่ายที่จะมารองรับ Decentralized Applications ที่มีความหลากหลายทั้งในรูปแบบการทำงาน และอรรถประโยชน์ โดยเฉพาะ DeFi, GameFi, NFT และ Metaverse ซึ่งมีการเติบโตมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ JFIN Chain ใช้ JFIN Token เป็น Native Token ในการทำธุรกรรม (Gas Fee)

ขณะนี้มี 5 บริษัทในเครือ ที่ทำหน้าที่เป็นโหนดผู้ตรวจสอบ (Validator Nodes) ธุรกรรมบนเครือข่าย JFIN Chain ซึ่งมีรายได้ปีละ 5-6 หมื่นบาทต่อปี และเพิ่มจํานวน Validator Nodes เป็น7 Nodes ในวันที่ 17 ต.ค. 2565

ล่าสุด ผู้ถือเหรียญ JFIN สามารถนำเหรียญมาวางบน JFIN Chain เพื่อ Stake รับผลตอบแทน แม้จะวางแค่เหรียญเดียวก็ได้ส่วนแบ่งค่าแก๊สจากการทำธุรกรรมบน JFIN Chain  ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีจากผู้ถือเหรียญ JFIN รายย่อยในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะมีการนำเหรียญ JFIN ออกมาในซัพพลายเชนจำนวน 63 ล้านเหรียญต่อปี ซึ่งขณะนี้เหรียญ JFIN ถูกปล่อยออกมาในระบบจำนวน 1 แสนเหรียญ ซึ่งบริษัทอยากให้กลไกนี้อยู่ได้ด้วยความแข็งแรงของระบบ มากกว่าการให้รางวัลแก่นักขุด

สำหรับ XChain ใช้ระบบ PoA (Proof of Authority) โดย Validator Nodes ของ xCHAIN ประกอบไปด้วยสถาบันการศึกษา องค์กรธุรกิจระดับเอ็นเตอร์ไพรส์ โดยมีเหรียญ XTH Token ที่ใช้ชำระเป็นค่า Gas ให้มีมูลค่าคงที่ ปรับตัวขึ้น-ลง ตามต้นทุนจริง และต้องผ่านมติของ Validator Node 

ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับการนำไปใช้งานโดยหน่วยงานสถาบันการศึกษาหรือภาคธุรกิจ ที่ยังคงต้องการตัวเลขประมาณการต้นทุนที่ชัดเจน ทำให้ xCHAIN เป็น Blockchain Infrastructure ที่เหมาะสมในช่วงการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีในปัจจุบัน มาสู่เทคโนโลยีบล็อกเชนสำหรับทุกคน

หามุมใหม่ให้แอปพลิเคชัน ‘ป๋า’

ยอมรับยังไม่ประสบความสำเร็จใน ‘แอปพลิเคชัน ป๋า’ แพลตฟอร์มสินเชื่อออนไลน์แบบดิจิทัลในรูปแบบฟินเทค จากการพัฒนาระบบ Digital Lending Platform หรือ DLP เหมือนกับทุกกลุ่มธุรกิจที่เคยลงมาทำในธุรกิจประเภทนี้ จากพื้นฐานผู้ใช้บริการในประเทศไทยที่ไม่ได้มาตรฐาน และไม่มีวินัยในการชำระเงิน โดยแอปป๋าปล่อยสินเชื่อได้ 5 ล้านบาทต่อปี

อย่างไรก็ตาม บริษัทก็ยังคงหามุมมองใหม่ๆ ในการพัฒนาธุรกิจนี้ให้แข็งแรงขึ้น โดยการเลือกปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าที่มีประวัติดีและไว้ใจได้ เช่น การปล่อยกู้ให้กับ ‘แกร็บ’ (Grab) ในการปล่อยสินเชื่อซื้อโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นสินค้าของเจมาร์ท ซึ่งแกร็บเป็นผู้ที่ควบคุมการชำระสินเชื่อโดยการตัดเงินก่อนที่จะคืนผลตอบแทนให้กับไรเดอร์ โดยสามารถปล่อยสินเชื่อได้ 200 ล้านบาทต่อปี ซึ่งมียอดซื้อโทรศัพท์ประมาณ 10,000 เครื่องต่อปี

เจ เวนเจอร์ส สร้างรายได้ให้เจมาร์ทปีละ 10-20 ล้านบาท โดยในปีนี้ บริษัทมีแผนธุรกิจในการเร่งสร้างอินฟราสตรักเจอร์ใหม่ให้บริษัทแข็งแรง เช่นการเปิดตัว ‘จอย’ จาก ‘เจ.ไอดี’ สู่ เมต้ามาสก์ เวอร์ชั่น เอ็นเตอร์ไพรส์ ของ เจ เวนเจอร์ และพัฒนา JNFT Marketplace แพลตฟอร์ม NFT สัญชาติไทย รวมทั้งอีกหลายโปรเจกต์ที่จะเปิดตัวในปีนี้

ทั้งยังมีการลงทุนในสตาร์ทอัปทั้งแบบ M&A การควบรวมกิจการ และลงทุนในธุรกิจรายย่อยมากขึ้นในปีนี้ ในด้านตลาดคริปโทฯ เทคโนโลยี และการหาบุคลากรที่มีความสามารถเข้ามาพัฒนาในอีโคซิสเต็ม เพื่อรอตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลปรับตัวขึ้นอีกครั้งในฮาฟวิ่งบิตคอยน์ครั้งต่อไปในช่วงปี 2567

“ประเทศไทยได้มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีมากขึ้น จากการใช้และการเริ่มธุรกิจประเภท DeFi บล็อกเชน เมตาเวิร์ส เพียงแต่ว่าภาคธุรกิจจะต้องหามุมมองในการสร้างสรรค์ธุรกิจที่ตอบรับกับตลาดให้เกิดประโยชน์ ซึ่งคนเข้าใจถึงเรื่องการเก็งกำไร และการสร้างผลตอบแทน และทำให้ต้องเข้าในใจมุมมองของการเรียนรู้ และประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ด้วย” 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์