สร้างแลนด์มาร์คโลก! อินเด็กซ์ ฯ ปั้น 'THE CAVENTURE’ ต่อยอด 13 หมูป่าติดถ้ำ

สร้างแลนด์มาร์คโลก! อินเด็กซ์ ฯ ปั้น 'THE CAVENTURE’  ต่อยอด 13 หมูป่าติดถ้ำ

อินเด็กซ์ ฯ ต่อยอดเหตุการณ์ระดับโลก สู่บิ๊กโปรเจค ‘THE CAVENTURE’ ด้วยงบลงทุน 1,000 ล้านบาท เพื่อรำลึกเหตุการณ์ 13 หมูป่า และดันเป็นแลนด์มาร์กใหม่ ดึงนักท่องเที่ยวเยือนเชียงรายและประเทศไทย

ย้อนรอยหนึ่งในเหตุการณ์ใหญ่ที่โลกให้ความสนใจ คือการติดถ้ำหลวงนางนอนของทีม “หมูป่า 13 ชีวิต” ซึ่งเป็นน้องๆนักฟุตบอล 12 คน และโค้ชอีก 1 คน

ภารกิจหาทางช่วยชีวิต ไม่ได้จำกัดวงอยู่ในประเทศเท่านั้น แต่มีการส่งเทียบเชิญนักประดาน้ำที่เชี่ยวชาญการดำน้ำในถ้ำ มาปฏิบัติการณ์ด้วย

ตลอดเวลา 17 วัน เป็นระยะเวลาของทีมงานช่วยชีวิต ที่มีทั้งเบื้องหน้า และปิดทองหลังพระอยู่เบื้องหลัง จนสามารถช่วยชีวิตทีม 13 หมูป่าได้สำเร็จ ปัจจุบันระยะเวลาผ่านไป 4 ปี แต่เหตุการณ์ดังกล่าว ยังคงได้รับความสนใจจากทั้งโลก เพราะมีหนังสือ สารคดี และภาพยนตร์มากมาย ที่นำเสนอเรื่องราวเด็กติดถ้ำ และการช่วยชีวิตในครั้งนั้น

หนึ่งในนั้นคือแพลตฟอร์มระดับโลกอย่าง Netflix ที่สร้างสรรค์ซีรีส์ 13 หมูป่า “ถ้ำหลวง: ภารกิจแห่งความหวัง หรือ Thai Cave Rescue ซึ่งพร้อมให้ทุกคนได้รับชม 22 กันยายนนี้ การทำงานร่วมกับเน็ตฟลิกซ์ของทีมหมูป่า โดยเฉพาะลิขสิทธิ์ต่างๆ กินเวลายาวนานไม่น้อย

ขณะที่ “อินเด็กซ์ฯ” หนึ่งในบริษัทสร้างสรรค์งานอันดับ 7 ของโลก มองการต่อยอดเหตุการณ์ใหญ่ระดับโลก ด้วยการเดินหน้าบิ๊กโปรเจค ‘THE CAVENTURE’ ทุ่มทุนถึง 1,000 ล้านบาท เพื่อรำลึกเหตุการณ์ 13 หมูป่า และดันโครงการเป็นแลนด์มาร์กใหม่ ดึงนักท่องเที่ยวเยือนเชียงรายและประเทศไทย

เกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) เล่าว่า โปรเจค THE CAVENTURE ใช้เวลาค่อนข้างนานเพื่อดำเนินการ ตั้งแต่เก็บข้อมูลรอบด้าน หาซื้อที่ดิน ออกแบบ และตระเตรียมสร้างโครงการ

โดยความสนใจต่อยอดเหตุการณ์ทีม 13 หมูป่า เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2561 เป็นห้วงเวลาที่เด็กๆติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนจังหวัดเชียงราย

สร้างแลนด์มาร์คโลก! อินเด็กซ์ ฯ ปั้น \'THE CAVENTURE’  ต่อยอด 13 หมูป่าติดถ้ำ

ทว่า การจะสร้างสรรค์สถานที่ท่องเที่ยว(Attraction)อิงเหตุการณ์จริงระดับโลก บริษัทต้องสืบค้นข้อมูลเชิงลึก และพบว่าหากมีเพียงอนุสรณ์สถาน อาจไม่ดึงดูดผู้คนหรือนักท่องเที่ยวมากนัก แต่เมื่อสร้างเป็นสถานที่ท่องเที่ยว มีพื้นที่บอกเล่าเหตุการณ์ เรื่องราวต่างๆ ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มยอดนักท่องเที่ยวที่เข้ามาชม แต่ยังดึงให้กลุ่มเป้าหมายใช้เวลากับสถานที่นั้นๆยาวนานขึ้น

ตัวอย่าง เหตุการณ์ระดับโลก และถูกนำไปต่อยอดสร้างแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวมีมากมาย เช่น วินาศกรรม 11 กันยายน หรือ 911 ที่สหรัฐฯ มีนักท่องเที่ยวเยือนราว 3 ล้านคนต่อปี และอนุสรณ์สถานสโตนเฮนท์ ประเทศอังกฤษ มีนักท่องเที่ยว 1.6 ล้านคนต่อปี หรือเพิ่มนักท่องเที่ยวราว 60% โดยผู้คนใช้เวลานานขึ้น 1-1.30 ชั่วโมง(ชม.) เมื่อเทียบกับการมีเพียงอนุสรณ์สถานจะใช้เวลาราว 15 นาทีเท่านั้น

เมื่อโลกมีต้นแบบการสร้างสถานที่ท่องเที่ยวดึงดูกนักเดินทางจากทั่วทุกมุมโลก “เกรียงไกร” จึงลุยบิ๊กโปรเจค THE CAVENTURE ภายใต้บริษัท ถ้ำหลวง ดิ เอ็กซ์พีเรียนซ์ จำกัด ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับภาคธุรกิจท้องถิ่นถือหุ้น 60% และ 40% ตามลำดับ

สำหรับโครงการ THE CAVENTURE ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 20 ไร่ ณ โป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ห่างจากวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนราว 1 กิโลเมตร(กม.) ภายในจะบอกเล่าเรื่องราวของ 13 หมูป่า เพื่อรำลึก รวมถึงเรียนรู้เหตุการณ์ ความช่วยเหลือ การนำเทคโนโลยีการกู้ภัย อันเป็นวาระแห่งโลก และนำสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาให้คนสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของคนท้องถิ่น มาสู่สายตานักท่องเที่ยว

สร้างแลนด์มาร์คโลก! อินเด็กซ์ ฯ ปั้น \'THE CAVENTURE’  ต่อยอด 13 หมูป่าติดถ้ำ

โปรเจค THE CAVENTURE ลงทุน 1,000 ล้าน บนเนื้อที่ 20 ไร่

ไฮไลท์สำคัญคือ ห้องแสดงเรื่องราวต่างๆ เป็นการจำลองภายในถ้ำหลวงฯ เพื่อให้ผู้เข้าชมเรียนรู้ หากติดถ้ำ จะปฏิบัติตัวอย่างไร เพื่อให้มีชีวิตรอด และมีการนำเสนอมุมของทีมปฏิบัติการช่วยชีวิตเด็กๆ รวมถึงเสื้อผ้า ข้าวของที่นำมาจัดแสดงภายใน ล้วนเป็น “ของจริง” เช่น จักรยานที่เด็กๆปั่นไปยังถ้ำ เสื้อผ้าที่สวมใส่ตอนเดินสายไปยังประเทศต่างๆทั่วโลก อุปกรณ์ช่วยชีวิตจากทีม Navy seals ของไทย แม้กระทั่งสิ่งของที่ชาวบ้านนำมาช่วยเหลือทีมงานต่างๆ เป็นต้น

นอกจากนี้ THE CAVENTURE จะสร้างปรากฏการณ์การท่องเที่ยวแบบ Immersive อย่างแท้จริง เช่น หากมีน้ำขึ้นภายในถ้ำ ผู้เข้าชมจะได้สัมผัสและรู้สึกถึงน้ำแตะเท้าจริงๆ ฯ และยังมีจุดสำคัญคือบริเวณด้านหน้าของโครงการมีสิ่งศักดิ์ให้สักการะ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ระหว่างการค้นหาและช่วยชีวิตทีม 13 หมูป่า ยังมี “ความเชื่อ” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย รวมถึงมีบอลลูนให้ขึ้นชมวิวถ้ำหลวงนางนอนมุมสูง เป็นต้น

สำหรับโครงการดังกล่าว จะเริ่มก่อสร้างเดือนสิงหาคมนี้ คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการอย่างไม่เป็นทางการตุลาคมปี 2566 เพื่อรับงานอีเวนท์ระดับโลกอย่างมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ (Thailand Biennale, Chiang Rai) ซึ่งมีศิลปินชั้นนำมาร่วมงาน

เมื่อเปิดให้บริการคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติมาเยือนราว 500,000 รายต่อปี สร้างรายได้ราว 300 ล้านบาทต่อปี สูงสุดราว 560 ล้านบาทต่อปี และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับจังหวัดเชียงราย

สร้างแลนด์มาร์คโลก! อินเด็กซ์ ฯ ปั้น \'THE CAVENTURE’  ต่อยอด 13 หมูป่าติดถ้ำ เกรียงไกร กาญจนะโภคิน

อย่างไรก็ตาม การลุยบิ๊กโปรเจค THE CAVENTURE “เกรียงไกร” มองว่า ปัจจุบันมีพลังช่วยโปรโมทเหตุการณ์มากมายให้ผู้คนทั้งโลกรับรู้ ยิ่งย้อนไปช่วงเกิดเรื่องราว อีลอน มัสก์ ทวิตเตอร์ข้อความ ส่งแคปซูล รวมถึงมาช่วยในภารกิจ เดวิด เบคแคม โพสต์ข้อความกล่าวถึงเหตุการณ์ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 มอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ให้แก่ทีมนักประดาน้ำอังกฤษที่ร่วมปฏิบัติภารกิจช่วยชีวิต ขณะที่ปัจจุบันการสร้างหนัง สารคดีมากมาย เป็นอีกกระบอกเสียงทรงพลัง เพื่อดึงนักท่องเที่ยวมาเยือนไทยและจังหวัดเชียงราย

“THE CAVENTURE เป็นโปรเจคการลงทุนใหญ่สุดของอินเด็กซ์ฯ ซึ่งเชื่อว่าเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะกลายเป็นแลนด์มาร์กสำคัญที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติมาเที่ยวจังหวัดเชียงรายเพิ่มขึ้น”

ขณะเดียวกันโปรเจค THE CAVENTURE ยังเป็นจิ๊กซอว์สร้างรายได้จากโปรเจคของบริษัทให้แตะ 50% ตามเป้า และสานพันธกิจการลุยธุรกิจเกาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน