'ซิโนไทย' เคลียร์พื้นที่อู่ตะเภา มั่นใจความพร้อมก่อสร้าง ต.ค.นี้

'ซิโนไทย' เคลียร์พื้นที่อู่ตะเภา มั่นใจความพร้อมก่อสร้าง ต.ค.นี้

“ซิโนไทย” เปิดความคืบหน้างานออกแบบ - ปรับพื้นที่ ท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก คืบหน้าแล้วกว่า 50% ลั่นมีความพร้อมตอกเสาเข็มทันที หากอีอีซีไฟเขียว NTP เข้าพื้นที่งานก่อสร้าง พร้อมโชว์งานในมือปีนี้ 1.1 แสนล้านบาท คาดรายได้พุ่ง 10%

โครงสร้างพื้นฐาน 2 โครงการมีความคืบหน้ามากขึ้น โดยภาครัฐจะมีการออกหนังสือให้เริ่มงาน หรือ NTP ให้เอกชนคู่สัญญาในเดือน ต.ค.2565 รวม 2 โครงการ ซึ่งเป็นก้าวสำคัญของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่มีกำหนดเสร็จในปี 2568-2569 และรัฐบาลอาจจัดงานคิกออฟทั้ง 2 โครงการ ประกอบด้วย

1.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ซึ่งส่งมอบพื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา งานสาธารณูปโภครื้อเสร็จและการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พร้อมส่งมอบพื้นที่ 100% ให้เอกชนเข้าพื้นที่เตรียมก่อสร้าง

2.โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โดยการลงทุนส่วนภาครัฐนั้นกองทัพเรือออกแบบทางวิ่งที่ 2 เสร็จเรียบร้อย งานปรับถมดินลานจอดศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานแล้วเสร็จ 100% และงานปรับถมดินทางวิ่งที่ 2 ก้าวหน้าเกิน 80% และเอกชนคู่สัญญาเข้าพื้นที่เพื่อสำรวจและเตรียมก่อสร้างแล้ว

สำหรับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มี บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA เป็นเอกชนคู่สัญญา ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 45% ,บริษัทบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 35% และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 20% และมีผู้บริหารสนามบินนานาชาตินาริตะเป็นพันธมิตรพัฒนาสนามบิน

ภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ที่รับผิดชอบส่วนงานโยธา ระบุว่า บริษัทฯ อยู่ระหว่างออกแบบงานก่อสร้าง ปรับพื้นที่ และจัดหาอุปกรณ์ เพื่อเตรียมก่อสร้างโครงการท่าอากาศยานอู่ตะเภาทันทีที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ออกในอนุญาตให้เข้าพื้นที่เริ่มงานก่อสร้าง (NTP)

ปัจจุบันบริษัทฯ ได้รับมอบจากทาง UTA ในการทำข้อตกลงจัดสรรงบประมาณ 1,800 ล้านบาท เพื่อให้บริษัทฯ เริ่มงานออกแบบการก่อสร้างส่วนของอาคารผู้โดยสาร ซึ่งเป็นระยะแรกของการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งบริษัทฯ ได้ออกแบบงานดังกล่าวคืบหน้าไปแล้ว 50% และทยอยเริ่มงานก่อสร้างได้ทันทีหากได้รับอนุมัติเข้าพื้นที่

“กำลังทำในส่วนที่ดำเนินการได้ก่อน คือ การเตรียมพร้อมอุปกรณ์ก่อสร้าง เข้าไปปรับพื้นที่งานที่ทำได้ ส่วนการออกแบบแม้จะคืบหน้ากว่า 50% แต่ทยอยก่อสร้างได้ทันทีหากเข้าพื้นที่ได้ เพราะงานก่อสร้างไม่จำเป็นต้องดำเนินการในพื้นที่ทั้งหมด ทยอยก่อสร้างทีละส่วนได้”

ทั้งนี้ สกพอ.น่าจะอยู่ขั้นตอนเจรจารายละเอียดรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) รวมถึงแผนงานก่อสร้างของท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกที่ต้องเกี่ยวเนื่องกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยกำหนดก่อนหน้านี้คาดว่าเข้าพื้นที่ได้ต้นปี 2565 แต่ภาพรวมขณะนี้แม้จะเข้าพื้นที่ล่าช้ากว่าแผน แต่ UTA มั่นใจว่าไม่กระทบภาพรวมโครงการ เพราะปัจจุบันเริ่มทำงานในส่วนที่ดำเนินการได้แล้ว

โครงการท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เป็นโครงการที่ต้องใช้งบลงทุนรวม 2.9 แสนล้านบาท เป้าหมายพัฒนาเพื่อรองรับการขนส่งทางอากาศทั้งการขนส่งผู้โดยสาร และการขนส่งสินค้า โดยต้องพัฒนา ได้แก่ ทางวิ่งมาตรฐาน 2 ทางวิ่ง มีความยาว 3,500 เมตร มีหลุมจอดอากาศยานรวม 124 หลุมจอด ส่วนอาคารผู้โดยสาร เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จทุกระยะ จะมีขนาดพื้นที่ 450,000 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 60 ล้านคนต่อปี แบ่งการพัฒนา ดังนี้

ระยะที่ 1 แผนพัฒนาของ UTA วงเงินลงทุน 50,000 ล้านบาท พัฒนาอาคารผู้โดยสารพื้นที่ 157,000 ตารางเมตร พื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ อาคารจอดรถ ศูนย์ขนส่งภาคพื้นดิน และหลุมจอดอากาศยาน 60 หลุมจอด เสร็จปี 2567 รองรับผู้โดยสารได้ปีละ 15.9 ล้านคน

ระยะที่ 2 พัฒนาอาคารผู้โดยสาร ให้มีพื้นที่เพิ่มขึ้น 107,000 ตารางเมตร ติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) และระบบทางเดินเลื่อน รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 16 หลุมจอดเสร็จปี 2573 รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 30 ล้านคนต่อปี

ระยะที่ 3 งานก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติมจากระยะที่ 2 กว่า 107,000 ตารางเมตร เพิ่มรถขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) อีก 1 ขบวน รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 34 หลุมจอด เสร็จปี 2585 รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 45 ล้านคนต่อปี

ระยะที่ 4 ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 มีพื้นที่เพิ่มขึ้น 82,000 ตารางเมตร พร้อมทั้งติดตั้งระบบ Check-in แบบอัตโนมัติ รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 14 หลุมจอด ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี 2598 และรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 60 ล้านคนต่อปี