"สนธิรัตน์" ห่วง "ค่าไฟแพง" กระทบประชาชน-ภาคอุตสาหกรรม

"สนธิรัตน์" ห่วง "ค่าไฟแพง" กระทบประชาชน-ภาคอุตสาหกรรม

"สนธิรัตน์" ระบุ "ค่าไฟ-ค่าก๊าซธรรมชาติ-ค่าเอฟที" ทั้ง 3 ค่าที่เกี่ยวเนื่องกัน ชี้สงครามรัสเซีย-ยูเครน เป็นปัจจัยค่าไฟแพง แต่อีกปัจจัยคือ กำลังผลิต "แหล่งเอราวัณ" ไม่ตามเป้า หวั่น กระทบกลุ่มอุตสาหดรรมภาพรวม

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรรสร้างอนาคตไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โพสต์เฟสบุ๊คว่า ผมขออนุญาตชวนทุกคนมาคิดด้วยกันเรื่องค่าไฟครับ เพราะอย่างที่เราได้รู้ก่อนหน้านี้ คือ ค่าไฟในเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 ที่จะถึงนี้ราคาจะขึ้นไปเป็นหน่วยละเกือบ 5 บาท ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะค่าเอฟที (FT) เพิ่มขึ้น

จริงๆ หลายคนคงยังไม่ทราบว่าค่าเอฟทีคือค่าอะไร ทำไมต้องปรับขึ้นลงเป็นช่วงๆ และถ้าขึ้นลงทีไรกระทบค่าไฟทุกที

พูดง่ายๆ ว่า ค่าเอฟที หรือ ค่าไฟฟ้าผันแปร คือค่าที่ใช้ปรับสำหรับการจัดการต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า เช่นราคาเชื้อเพลิง อัตราเงินเฟ้อ อัตราค่าเงิน เป็นต้น พอค่าพวกนี้ปรับตัวขึ้นหรือลง ค่าเอฟทีก็จะปรับตาม

เราต้องทราบนะครับว่า ก๊าซธรรมชาตินั้นถูกนำไปใช้ในการผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก โดยมีสัดส่วนการใช้ถึง 60 % และที่เหลือเป็นการใช้ในภาคอุตสาหกรรม โรงแยกก๊าซ NGV และอื่นๆ

ที่ค่าเอฟขึ้นช่วงนี้ สาเหตุหนึ่งก็เพราะราคาต้นทุนเชื้อเพลิงที่เอามาผลิตไฟฟ้านี่แหละครับ โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ ที่ตั้งแต่หลังสงครามรัสเซีย ยูเครน ราคาก็เพิ่มขึ้น (มากกว่าลดลง) มาตลอด

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ค่าเอฟทีก็ปรับเพิ่ม

แต่จริงๆ จะว่าไป อีกสาเหตุหนึ่งคือ การบริหารจัดการการเปลี่ยนผ่านในการสำรวจขุดเจาะแหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศเราที่แหล่งบงกชเอราวัณ ที่เกิดปัญหาจากการเข้าไปดำเนินการผลิตที่ล่าช้าจากแผนเดิม ทำให้เกิดปัญหากับความสามารถในการผลิตและการส่งก๊าซ ทำให้เราต้องพึ่งพิงจากการใช้ก๊าซภายนอกประเทศที่ราคาก็เพิ่มขึ้นอยู่เรื่อยๆ

ดังนั้น ค่าไฟฟ้าก็จะเพิ่มถ้าเรายังจัดการปัญหานี้ไม่ได้  แม้ตอนนี้ กฟผ. เองก็ช่วยแบกรับผลกระทบที่มีตรงนี้ไปด้วยแล้วก็ตาม แต่การจัดการต้นทุนเชื้อเพลิงเป็นสิ่งแรกที่ต้องมาดูครับ

และผลกระทบจากค่าก๊าซ ค่าเอฟที นี่ ไม่ได้มีผลต่อประชาชนทั่วไปที่ต้องแบกรับภาระค่าไฟนะครับ

ผลกระทบยังเกิดกับโรงงานอุตสาหกรรม หรือ นิคมอุตสาหกรรมที่ใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) เช่นกัน เพราะด้วยราคาก๊าซที่แพงขึ้นทำให้โรงงานไฟฟ้าขนาดเล็กเหล่านี้บางแห่งต้องหยุดเดินเครื่องไปด้วยต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการ SPP เองก็ได้พูดถึงความต้องการในการช่วยดูเรื่องต้นทุนการผลิตของพวกเขา เพราะต้นทุนหลายๆ อย่างได้เพิ่มขึ้นและค่าเอฟทีเองก็ไม่สอดคล้องกับต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นด้วย

การหยุดเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าขนาดเล็กก็ทำให้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมไม่ได้มีแหล่งสำรอง ระบบไฟฟ้าที่ใช้ในโรงงานก็อาจจะไม่มั่นคง ส่งผลต่อประสิทธิภาพการผลิต และทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดไปในที่สุด

วันนี้ถ้าเรามาพูดเรื่องค่าไฟ ก็ต้องพูดเรื่องต้นทุน ค่าเอฟที ค่าก๊าซ ค่าเชื้อเพลิงการผลิต ที่จะส่งต่อผู้ใช้ไฟฟ้าที่ไม่ใช่แค่ประชาชนทั่วไป แต่ต้องรวมถึงโรงงานอุตสาหกรรม นิคมอุตสาหกรรม ด้วยครับ