ก๊าซหุงต้มขั้นราคา ซ้ำเติมต้นทุนธุรกิจร้านอาหารรายเล็ก!

ก๊าซหุงต้มขั้นราคา  ซ้ำเติมต้นทุนธุรกิจร้านอาหารรายเล็ก!

ธุรกิจร้านอาหารกระอักรับต้นทุนพุ่ง หลังราคาก๊าซหุงต้มขยับอีกระลอก สมาคมภัตตาคารอาหารไทย ชี้พลังงานส่งผลกระทบไม่แรงเท่า วัตถุดิบแพง เนื้อสัตว์หลายประเภทพุ่งเกือบเท่าตัว ทำให้ราคาขายขยับล่วงหน้าตั้งแต่ต้นปี จับตากำลังซื้ออ่อนตัว กระเทือนร้านอาหารรายเล็กอยู่ยาก

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า เข้าสู่เดือนที่ 2 ของการปรับราคาก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี) กิโลกรัม(กก.)ละ 1 บาท หรือราคา 15 บาทต่อถังเล็ก หรือถังใหญ่อยู่ที่ 48 บาท ทั้งนี้ การปรับราคาใหม่เกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ส่วนราคาใหม่ที่เพิ่มขึ้น มองว่าไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจร้านอาหารมากนัก โดยเฉพาะการขยับราคาอาหาร หากเป็นเมนูแพง เช่น หูฉลามราคา 500 บาทต่อชาม หากขึ้นเพียงเล็กน้อยไม่มีผลต่อผู้บริโภค แต่ยอมรับว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการร้านอาหารรายย่อย

ทั้งนี้ ตัวแปรใหญ่ที่กระทบธุรกิจอาหารในขณะนี้ คือต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก เช่น เนื้อหมู ส่วนสะโพก จากซื้อขายราว 130-140 บาทต่อกก. พุ่งเป็นเกือบเท่าตัวกว่า 220 บาทต่อกก. ปลายเดือนพฤษภาคม ราคาสะโพกไก่อยู่ที่ 65 บาทต่อกก. ล่าสุดสูงกว่า 100 บาทต่อกก. หากเป็นผลิตภัณฑ์แบรนด์ดัง ราคาจะวิ่งสูงยิ่งขึ้น

เนื่องจากผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารเผชิญต้นทุนวัตถุดิบแพงตั้งแต่ต้นปี ทำให้ที่ผ่านมา หลายรายมีการปรับราคาขึ้นแล้ว โดยเฉพาะร้านอาหารเครือข่ายต่างๆ โดยรูปแบบการขยับราคา มีทั้งการจัดโปรโมชั่นใหม่ เพื่อไม่ให้กระทบความรู้สึกของผู้บริโภคในการจับจ่ายใช้สอย ขณะที่บางร้าน ที่ได้มิชลินสตาร์ เคยขายเมนูติดดาวราคา 200 บาท ปรับขึ้นเป็น 400 บาท เป็นต้น

สอดคล้องกับแบรนด์ร้านอาหารเครือข่าย(เชน) จำนวนมาก ที่มีการปรับขึ้นราคาอาหารตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เนื่องจากทนนแบกรับวัตถุดิบแพงไม่ไหว

“ราคาก๊าซหุงต้มขึ้น หากเป็นผู้ประกอบการร้านอาหารรายใหญ่ อาจมีภารต้นทุนขึ้นราว 20 บาทต่อวัน หรือก๊าซฯหนึ่งถังใช้ได้ 2-3 วัน หากจะส่งผลต่อการปรับราคา ถ้าเมนูอาหารราคาแพงอาจขยับไม่มาก ส่วนร้านรายเล็ก เมนูย่อยปรับขึ้นจะมีผลต่อผู้บริโภค โดยภาพรวมราคาวัตถุดิบขึ้นแรงกว่าราคาก๊าซฯมาก และมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการค่อนข้างหนัก”

ทั้งนี้ คาดหวังแนวโน้มวัตถุดิบครึ่งปีหลัง จะมีการปรับตัวลดลงบ้าง เนื่องจากมองผลผลิตหรือซัพพลายเนื้อสัตว์ประเภทต่างๆ เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ จะออกสู่ตลาด ทำให้ราคาอ่อนตัวลง

สถานการณ์ต้นทุนแพง และร้านอาหารปรับราคาขายเพิ่ม ทำให้มองภาพรวมธุรกิจปีนี้จะเติบโตในเชิงมูลค่าโดยปริยาย สวนทางกับกำลังซื้อผู้บริโภคที่ชะลอตัวลง และออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านน้อยลง รวมถึงการทำงานที่บ้าน ผ่านระบบออนไลน์ต่างๆ ทำให้การเลี้ยงสังสรรค์หายไป

อย่างไรก็ตาม ลูกค้าจำนวนน้อยลง ส่งผลให้ธุรกิจร้านอาหารขนาดเล็กอยู่ยากขึ้น ตัวอย่าง ร้านกระเพาะปลาของคุณตาวัย 83 และภรรยา เมื่อไม่มีลูกค้ามาใช้บริการ จึงเตรียมปิดกิจการ แต่กระแสสังคมออนไลน์ ทำให้กลับมาขายอีกอีกครั้ง

“ราคาอาหารแพง ทำให้มูลค่าตลาดธุรกิจร้านอาหารเติบโตแน่นอน หากเทียบก่อนหน้านี้ การรับประทานอาหารไทยค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ 300 บาท ปัจจุบันดีดขึ้นเป็น 450 บาท หากเป็นบุฟเฟต์จะแตะ 600-700 บาท ขณะเดียวกันที่น่าห่วงคือกำลังซื้อผู้บริโภคอ่อนตัวลง จากเคยออกมาทานข้าวนอกบ้านกับครอบครัว เพื่อน หรือปาร์ตี้ของออฟฟิศค่อนข้างมาก ปัจจุบันอาจลดเหลือเดือนละครั้ง ทำให้ธุรกิจร้านอาหารมีผลกระทบต่อเนื่อง”

ด้านนายเรืองชาย สุพรรณพงศ์. ประธานบริหารสายงานปฏิบัติการองค์กร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด ผู้บริหารร้านบาร์บีคิว พลาซ่า ฯกล่าวว่า จากการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มไม่ได้มีผลต่อต้นทุนร้านอาหารมากนัก เนื่องจากร้านในเครือใช้ก๊าซหุงต้มเป็นสัดส่วนไม่มาก การบริริการในร้านใช้เตาไฟฟ้าเป็นหลัก 

ส่วนการปรับขึ้นของค่าไฟฟ้า(เอฟที) มีผลกระทบกับต้นทุนพลังงานไฟฟ้าของส่วนกลาง เช่น โรงงาน และสำนักงาน ซึ่งมีราคาค่าไฟสูงขึ้น แต่สำหรับสาขายังไม่มีผลกระทบทางตรง เนื่องจากบริษัทหรือร้านจ่ายค่าไฟฟ้าให้ห้าง และห้างที่เป็นผู้ให้เช่าส่วนใหญ่ยังไม่ขึ้นค่าไฟฟ้า

"ค่าพลังงานไฟฟ้า ก๊าซหุงต้มไม่ทีผลกระทบต่อร้านมากนัก แต่ค่าน้ำมันที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระเทือนกับธุรกิจร้านอาหารของเรามากที่สุด ซึ่งต้นทุนโดยรวมเพิ่มขึ้น 0.2%"