‘มหาพายุ’ เขย่าเศรษฐกิจโลก

‘มหาพายุ’ เขย่าเศรษฐกิจโลก

“มหาพายุ” หรือ Perfect Storm สถานการณ์เศรษฐกิจโลกย่ำแย่เข้าสู่ภาวะ “ถดถอย” จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลทุกประเทศ ต้องเตรียมแผนรับมือ

วิกฤติเศรษฐกิจโลกรอบนี้ นักเศรษฐศาสตร์และองค์กรการเงินชั้นนำระดับโลกห่วงกันว่าจะเป็น “มหาพายุ” หรือ Perfect Storm สถานการณ์เศรษฐกิจโลกย่ำแย่เข้าสู่ภาวะ “ถดถอย” จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลทุกประเทศ ต้องเตรียมแผนรับมือ ภาวะสงครามระหว่างรัสเซียยูเครนนำมาสู่วิกฤติพลังงาน ทำให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งสูงขึ้น สร้างแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศ มีผลต่อกำลังซื้อและกระทบชิ่งต่อเนื่องถึงการค้าโลกช่วงครึ่งปีหลัง ภาวะดังกล่าว ทำให้หลายฝ่ายเริ่มกังวลต่อภาพรวมการส่งออกของไทยที่อาจชะลอตัวลง จากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ชะลอ ทั้งสหรัฐ สหภาพยุโรป (อียู) และจีนที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย

หลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกแถลงการณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (เอฟโอเอ็มซี) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ระบุถึงสัญญาณที่บ่งชี้เกี่ยวกับการใช้จ่ายและการผลิตชะลอตัวลง แม้ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้นอย่างมากช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และอัตราว่างงานยังอยู่ระดับต่ำ หากอัตราเงินเฟ้อยังคงเร่งตัวขึ้น สะท้อนถึงภาวะไร้สมดุลระหว่างอุปทานและอุปสงค์ เป็นผลมาจากโรคระบาด ราคาพลังงานที่สูงขึ้น และแรงกดดันด้านราคาที่เพิ่มขึ้นเป็นวงกว้าง ขณะที่ เศรษฐกิจสหรัฐก็เข้าสู่ภาวะถดถอยเชิงเทคนิคเป็นที่เรียบร้อย หลังจีดีพีไตรมาส 2 ปี 2565 ของสหรัฐหดตัว 0.9% ซึ่งเป็นการหดตัวติดกัน 2 ไตรมาส หลายฝ่ายกังวล และจับตาถึงสัญญาณการถดถอยเศรษฐกิจในประเทศอื่นด้วย

สงครามในยูเครนและเหตุการณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มีส่วนสำคัญในการเพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ภาวะเงินเฟ้อในหลายประเทศของโลกกำลังเล่นงานชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในประเทศนั้นๆ โดยเฉพาะชาวอเมริกันที่ตอนนี้เจอปัญหาเงินเฟ้อพุ่งทำลายสถิติ ส่งผลให้ชาวอเมริกันเกือบครึ่งแบกรับภาระหนี้สินก้อนโต เพราะต้องไปหากู้ยืมเงินเพื่อนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ขณะที่ อินโดนีเซียก็มีปัญหาเรื่องนี้เหมือนกัน ธนาคารกลางอินโดนีเซียเผยว่า อัตราเงินเฟ้อของประเทศทะยานสูงสุดในรอบ 7 ปี แตะที่ 4.94% ในเดือนก.ค.สูงกว่ากรอบเป้าหมายไปมาก

พายุเศรษฐกิจ ที่ม้วนตัวมาพร้อมกันเป็น Perfect Storm จะทำให้การค้าเศรษฐกิจการเงินทรุดหนักลงมาก ไทยต้องพร้อมรับมือ โดยเฉพาะภาคการส่งออก เพราะคือ เส้นเลือดใหญ่ของไทย แน่นอนว่า ได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย เงินบาทอ่อนอาจช่วยได้บางส่วน แต่หากค่าเงินบาทผันผวนมากคนก็ไม่กล้าลงทุน และถ้าเศรษฐกิจโลกไม่ดี ความต้องการสินค้าของโลกก็จะถดถอย กระทบชิ่งไปยังภาคการท่องเที่ยว ที่เป็นอีกกลไกหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย รัฐบาลต้องไม่ประมาท ทีมเศรษฐกิจระดับนโยบาย กลไกทางการเงินต้องเตรียมพร้อม และหาโซลูชั่นทางออกเพื่อสกัดวิกฤติไม่ให้กัดเซาะจนถล่มระบบเศรษฐกิจของไทยให้พังพินาศไปมากกว่านี้