ชาววานรนิวาส แห่บุญผะเหวด ไม่เอาเหมืองโปแตช

ชาววานรนิวาส แห่บุญผะเหวด ไม่เอาเหมืองโปแตช

งานแห่พระเวสันดร ชาววานรนิวาส ร่วมรณรงค์ต้านขุดเจาะแร่โพแทช หวั่นส่งผลกระทบให้พื้นที่สกลนคร  

แม้จะยังมีความขัดแย้งไม่เห็นด้วย การขุดเจาะสำรวจแร่โพแทช ในพื้นที่อำเภอวานรนิวาส แต่ชาวบ้านยังต้องสืบสานประเพณีตามฮีตสิบสอง พร้อมๆ กับการรณรงค์ต่อต้านการเข้ามาสำรวจของบริษัท

โดยชาวบ้านหลายตำบลของ อ.วานรนิวาส ร่วมแสดงจุดยืนคัดค้านการดำเนินการสำรวจแร่โพแทชในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยครั้งนี้กลุ่มชาวบ้าน บ.แหลมทอง ต.วานรนิวาส จ.สกลนคร และกลุ่มฮักวานร บ่ ออน ซอนโพแทช กลุ่มสำนึกรักบ้านเกิด อ.วานรนิวาส กว่า 500 คน ร่วมกันสวมเสื้อสกรีนข้อความ และถือป้ายคัดค้านการขุดเจาะสำรวจและไม่เอาเหมืองแร่โพแทช โดยจัดเป็นขบวนใช้ชื่อคุ้มหยุดเหมือง เดินร่วมไปกับชาวคุ้มต่างๆ เพื่อแห่พระเวสสันดรเข้าเมือง ตามประเพณีอีสาน ไปสิ้นสุดที่วัดไตรภูมิ เขตเทศบาลตำบลวานรนิวาส

ตลอดเส้นทางแห่พระเวสสันดร ยังมีการขึ้นป้ายข้อความไว้ตามหน้าบ้านของชาวบ้าน แสดงจุดยืนไม่เอาเหมืองแร่เช่นกัน ซึ่งกิจกรรมครั้งนี้ ชาววานรนิวาส ถือว่าเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ บนพื้นฐานของความหวงแหนรักษาบ้านเกิดด้วยวิธีสันติ และพร้อมจะรณรงค์ให้ความรู้กับประชาชน และเยาวชนอย่างต่อเนื่อง ก่อนจะมีกิจกรรมใหญ่อีกครั้งในต้นเดือนเมษายนนี้

ซึ่งบ้านแหลมทอง หมู่13 เป็นพื้นที่ตั้งแท่นขุดเจาะสำรวจ แหล่งที่2 ของบริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) ที่เข้ามาดำเนินการเตรียมการขุดสำรวจแหล่งแร่โพแทช หลังจากบริษัทไม่สามารถดำเนินการได้ ที่แท่นขุดเจาะบ้านวังบง หมู่12 เนื่องจากกรรมสิทธิ์ให้เช่าพื้นที่ขุดเจาะสำรวจของชาวบ้านเป็นโมฆะ จึงต้องย้ายแท่นหัวเจาะมาที่แท่นบ้านแหลมทอง ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ไม่เห็นด้วย และออกมาแสดงจุดยืนในงานประเพณีบุญผะเหวด หรือ บุญมหาชาติ ประจำปีของชาวคุ้มใต้ ซึ่งเป็นประเพณีบุญตาม ฮีตสิบสอง ของชาวอีสาน ที่เชื่อว่าเป็นประเพณีการบริจาคทาน และต้องการให้บริษัทฯ แสดงการบริจาคทานที่ยิ่งใหญ่ ด้วยการยกเลิกการขุดเจาะสำรวจแหล่งแร่ในพื้นที่ทันที

ทั้งนี้ การสำรวจแร่โปแตชในพื้นที่ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร บริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) ได้รับอนุมัติอาชญาบัตรพิเศษ ในการขุดเจาะสำรวจแร่โพแทช จำนวน 12 แปลง ครอบคลุมพื้นที่ 1.2 แสนไร่ ในพื้นที่ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร โดยมีอายุการสำรวจแร่ระยะเวลา 5 ปี ซึ่งชาวบ้านยืนยัน จะเดินหน้าคัดค้านต่อไป