EV ดันไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ สเต็ปต่อไปหนุนลงทุนปั๊มชาร์จ

EV ดันไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ สเต็ปต่อไปหนุนลงทุนปั๊มชาร์จ

นโยบายส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นอีกนโยบายขับเคลื่อนประเทศไทยก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low-carbon Society) เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่มาจากภาคขนส่งปีละ 80 ล้านตัน จากปริมาณรวมทั้งประเทศปีละ 350 ล้านตัน

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประธานคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ กล่าวว่า เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในประเทศไทย นโยบายสนับสนุนทั้งภาคผลิตและภาคประชาชนเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) จึงสำคัญ

รัฐบาลได้ผลักดันนโยบายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) 30@30 โดยตั้งเป้าการผลิตในประเทศ 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในประเทศปี ค.ศ.2030 หรือผลิต 700,000 คันต่อปีภายใน 8-9 ปีต่อจากนี้ เพื่อลดปล่อยคาร์บอนและรักษาศูนย์กลางการผลิตรถยนต์

“นอกจากการตั้งเป้าผลิตรถ Zero Emission Vehicle (ZEV) ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ.2030 มุ่งหวังให้ราคายานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) แข่งขันได้และลดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ด้วย

ทั้งนี้ จึงออกมาตรการ 4 ด้าน คือ 1.ด้านการผลิต 2.ด้านการใช้ 3.ด้านโครงสร้างพื้นฐาน และ 4.ด้านแบตเตอรี่ อาทิ รถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน BEV ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท จะได้สิทธิอากรนำเข้า โดยหากมีอากรไม่เกิน 40% ให้ยกเว้น และหากเกิน 40% ให้ลดอากรลงอีก 40%

และให้เงินคันละ 70,000 บาท สำหรับแบตเตอรี่ตั้งแต่ 10 กิโลวัตต์ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 30 กิโลวัตต์ชั่วโมง ส่วนแบตเตอรี่ขนาด 30 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมงขึ้นไป จะได้เงินคันละ 150,000 บาท

รถยนต์ที่นั่ง BEV ขนาดตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป ที่มีราคามากกว่า 2 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 7 ล้านบาท ได้ส่วนลดอากรนำเข้าปี 2565-2566 โดยยกเว้นอากรไม่เกิน 20% แต่หากอากรเกิน 20% จะลดอีก 20% และลดอัตราอากรนำเข้าเหลือ 60% ทั้งนี้ ได้ลดภาษีสรรพสามิตรถ BEV จาก 8% เหลือ 2% ในปี 2565-2568 ด้วย

ส่วนรถจักรยานยนต์ประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 150,000 บาท จะเสียภาษีสรรพสามิตตามมูลค่า 1% พร้อมเงินอุดหนุนคันละ 18,000 บาท ครอบคลุมที่ผลิตในประเทศ และนำเข้า เป็นต้น

ขณะที่รถ EV ที่ผลิตหรือประกอบในประเทศ ได้สิทธิยกเว้นอากรนำเข้าชิ้นส่วนปี 2565-2568 อาทิ แบตเตอรี่ Traction Motor คอมเพรสเซอร์ยานยนต์ไฟฟ้า ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ (BMS) ระบบควบคุมการขับขี่ (DCU) และ Reduction Gear

นอกจากนี้ ค่ายรถที่เข้าร่วมมาตรการนี้ต้องลงนามกับรัฐเพื่อรับเงื่อนไข อาทิ การผลิตชดเชยให้เท่ากับจำนวนที่นำเข้า CBU ระหว่างปี 2565-2566 ในปี 2567 หากจะขยายเวลาถึงปี 2568 ต้องผลิตในอัตราส่วน 1.5 เท่า เป็นต้น

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า เพื่อเดินตามเป้าหมายการส่งเสริมสถานีชาร์จ EV สาธารณะแบบ Fast charge จำนวน 12,000 หัวจ่าย และสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าจำนวน 1,450 สถานี รัฐได้ส่งเสริมการลงทุนกรณีที่มีหัวจ่ายประจุไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 40 หัวจ่าย ประเภท Quick Charge ไม่น้อยกว่า 25% ให้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี ส่วนกรณีอื่นๆ ได้ยกเว้นภาษีเงินนิติบุคคล 3 ปี

ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จัดทำแผนการพัฒนาสถานีชาร์จ EV สาธารณะปี ค.ศ.2030 พบว่า ผู้ประกอบการและกลุ่มที่เกี่ยวข้อง 4 กลุ่ม มีความเห็นว่าควรมีสถานีชาร์จ EV สาธารณะ 1,394 สถานี จำนวน13,251 หัวจ่าย อยู่หัวเมืองใหญ่ 505 สถานี จำนวน 8,227 หัวจ่าย และเขตพื้นที่ทางหลวง 62 สถานี จำนวน 5,024 หัวจ่าย