ส่องปั๊มชาร์จรถอีวี “โออาร์-บางจาก-พีที” เพียงพอรับการเดินทาง ?

ส่องปั๊มชาร์จรถอีวี “โออาร์-บางจาก-พีที” เพียงพอรับการเดินทาง ?

เปิดปริมาณสถานีชาร์จไฟฟ้ายานยนต์ไฟฟ้าของ 3 ปั๊มใหญ่ในไทย “โออาร์-บางจาก-พีที” เพียงพอรับการเดินทางข้ามจังหวัดมากน้อยแค่ไหน?

ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับปัญหาโลกร้อน ซึ่งแต่ละประเทศต่างหามาตรการสนับสนุนต่างๆ เพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งหนึ่งในมาตรการที่ถือเป็นกลุ่มที่ปล่อยคาร์บอนปริมาณมากคือ มาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV)

คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV ชาติ) ซึ่งมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ได้กำหนดนโยบายขับเคลื่อนนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไว้ที่ 30@30 คือ การตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2030 (พ.ศ.2573)

และเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก และเป็นกลไกสำคัญในการก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ดังนั้น ภาครัฐจึงได้ออกมาตรการสนับสนุนเพื่อส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าทั้งด้านภาษี และไม่ใช่ภาษี เพื่อให้ราคายานยนต์ไฟฟ้าใกล้เคียงกับรถยนต์สันดาป (ICE)

ซึ่งกระทรวงพลังงาน จะเร่งดำเนินการส่งเสริมการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) ในพื้นที่สาธารณะให้เพียงพอกับยานยนต์ไฟฟ้า จากข้อมูลพบว่าปัจจุบันมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าจำนวน 944 แห่งทั่วประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 4 มี.ค. 2565) สำหรับยอดจำนวนจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าถึงเดือนเม.ย.2565 สะสมรวมทั้งสิ้น 5,614 คัน

ทั้งนี้ ปัจจัยที่จะขับเคลื่อนสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้รถอีวีคือ สถานีชาร์จไฟฟ้าสำหรับเดินทางไปยังพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะการเดินทางไปต่างจังหวัด จากที่เคยแวะสถานีบริการน้ำมันเพื่อเติมน้ำมัน วันนี้ “กรุงเทพธุรกิจ” จะพามาตรวจเช็คจำนวนสถานีชาร์จอีวีของผู้ให้บริการ 3 ปั๊มน้ำมันเบอร์ใหญ่ว่ามีจำนวนเท่าไร และตั้งเป้าหมายติดตั้งเพื่อรองรับการเดินทางของลูกค้าไว้อย่างไร

นายภาณุพันธ์ ทรัพย์จรัสแสง ผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรมและซ่อมบำรุงฟิสิคัลแพลตฟอร์ม และผู้อำนวยการ โครงการ EV Station PluZ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR กล่าวว่า ขณะนี้จำนวนสถานีชาร์จอีวีของ OR รวมกันราว 100 สถานี แบ่งเป็น Quick Charge 83 แห่ง และ Normal Charge อีก 29 แห่ง รวมจำนวนหัวชาร์จ CCS2 ที่ 90 หัวชาร์จ และ CHAdeMO จำนวน 82 หัวชาร์จ ส่วน AC Type2 อยู่ที่ 150 หัวชาร์จ

ทั้งนี้ OR มีแผนการขยายสถานีชาร์จ ภายในปี 2565  จะเพิ่มสถานีชาร์จเป็น 450 แห่ง ทั่วประเทศ และในปี 2573 จะเพิ่มเป็น 7,000 แห่ง โดยปัจจุบัน OR ได้ขยายสถานีชาร์จโดยความร่วมมือกับ EVLOMO ติดตั้งเครื่องชาร์จในสถานีบริการ PTT Station ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมถึงขยายสถานีชาร์จร่วมกับเจ้าของพื้นที่เชิงพาณิชย์ ที่ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้วในพื้นที่สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, OR Space, ศูนย์การค้าในเครือ Terminal 21, Recall Isaan Isan Concept Resort Khaoyai

“ช่วงเดือนส.ค. 2565 โออาร์จะเริ่มเก็บค่าชาร์จไฟฟ้ากับลูกค้าแล้ว หลังจากที่ให้สมาชิกที่ถือบัตรบลูการ์ดชาร์จไฟฟรีมาตลอด และอยากจะให้ภาครัฐสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้านั้น สิ่งสำคัญคือ การผลักดันให้เกิดยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อสอดรับต่อการขยายตัวของสถานีชาร์จไฟฟ้า” นายภาณุพันธ์ กล่าว

ขณะที่ นายยศธร อรัญนารถ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจและพันธมิตรค้าปลีก บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ บางจาก เปิดเผยว่า บางจาก ได้ร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยร่วมกับพันธมิตรติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ภายใต้ชื่อ PEA VOLTA Charging Station โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2564 เป็นต้นมา ปัจจุบันมีสถานีชาร์จ 56 แห่ง ในสถานีบริการน้ำมันบางจาก และมีแผนจะเพิ่มอีก 60 แห่งภายในปี 2565

นอกจากนี้ ยังร่วมกับ MG ภายใต้ชื่อ MG Super Charge เมื่อเดือนต.ค. 2564 เป็นต้นมา ปัจจุบันมีสถานีชาร์จ 50 แห่ง ในสถานีบริการน้ำมันบางจาก และมีแผนจะเพิ่มอีก 50 แห่งภายในปี 2565 รวมถึงความร่วมมือกับ บริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นท์ (SHARGE MANAGEMENT) ภายใต้ชื่อ Quick SHARGE ช่วงเดือนต.ค.2564 เป็นต้นมา ปัจจุบันมีสถานีชาร์จ 1 แห่ง ที่นำร่องในสถานีบริการน้ำมันบางจากสาขาสุขุมวิท 62 และมีแผนจะเพิ่มอีก 6 แห่งภายในปี 2565

นอกจากนี้ยังมี EV LOMO ซึ่งยังอยู่ระหว่างเตรียมเปิดสถานีชาร์จในสถานีบริการน้ำมันบางจาก 20 แห่งภายในปี 2565

ทั้งนี้ บางจาก มีจำนวนสถานีบริการ EV Quick Charging Station กระจายไปทั่วประเทศมากที่สุด ถึง 107 สาขา ซึ่งสามารถใช้บริการผ่าน Bangchak Mobile Application พร้อมทั้งตั้งเป้าเพิ่มอีก 150 แห่ง ภายในปี 2565 ยอดสะสมภายในสิ้นปี 2565 จะมีเท่ากับ 257 แห่ง

รายงานข่าวจาก บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG ปัจจุบันได้ร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในการขยายสถานีชาร์จไฟฟ้าผ่านสถานีบริการน้ำมัน PT โดย ณ สิ้นเดือนก.ค.2565 จะมีทั้งหมด 35 สถานี รวม 70 หัวชาร์จ ที่เป็น DCโดยตั้งเป้าภายในปี 2565 จะเปิดเพิ่มอีกจำนวน 10-30 สถานี และปี 2566 เปิดเพิ่มอีก 30-60 สถานี

ทั้งนี้ อยากให้ภาครัฐเร่งรัดขั้นตอนการให้สิทธิ Low Priority รวมถึงขั้นตอนการดำเนินงานขอใบอนุญาตต่างๆ ในการก่อสร้าง และขออนุญาตประกอบกิจการ

รายงานข่าวระบุว่า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ในฐานะฝ่ายเลขานุการร่วมกับ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ของบอร์ดอีวีอยู่ระหว่างการนำเสนอมาตรการส่งเสริมเพิ่มเติมในการประชุมบอร์ดอีวีเดือนส.ค.2565 ได้แก่

1. มาตรการสนับสนุนเครื่องอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ในเรื่องอัตราค่าไฟฟ้า Low Priority สำหรับผู้ประกอบการสถานีอัดประจุไฟฟ้าต่อเนื่อง โดยปัจจุบันอยู่ที่ราคา 2.69 บาท

2. จัดทำ Platform กลาง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงมาตรการ และวิธีการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่กลุ่มผู้อยู่อาศัยในอาคารชุด คอนโดมิเนียม

3. มาตรการสนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และ

4. สิทธิประโยชน์การลงทุน และการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต

 

 

พิสูจน์อักษร  โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์