ปุ๋ย '​มูลไส้เดือน' ยอดขายพุ่ง เกษตรกรใช้แทนปุ๋ยเคมี​

เกษตรกรหันผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือนขายดีแทนปุ๋ยเคมี ยอดขายพุ่งเกษตรกรหันซื้อใช้จนทำไม่ทัน เนื่องจากปุ๋ยเคมีราคาแพง และขาดแคลน เกษตรกรต้องการลดต้นทุนการผลิต จนต้องเร่งขยายบ่อเลี้ยง และส่งเสริมเกษตรกรรายอื่นๆเลี้ยงด้วย เพื่อผลิตปุ๋ยให้เพียงพอความต้องการของเกษตรกร

ที่จรัสศิลป์ฟาร์ม หมู่ที่ 9 ต.หาดสำราญ อ.หาดสำราญ จ.ตรัง นายณรงค์ชัย ชูเพ็ง เกษตรกรเจ้าของสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน และเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่พยายามคิดค้นวิธีลดต้นทุนการผลิตในการทำสวนของตนเอง รวมทั้งการผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือน AF แต่ปรากฏว่าเมื่อลงมือทำจริงๆ นอกจากใช้ในสวนของตนเองแล้ว ยังได้ขายมากกว่าใช้เองอีกด้วย
โดยเกษตรกร บอกว่า การผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือน AF ได้แนวคิดจากการเดินทางไปอบรมแผนธุรกิจ SME ที่ จ.เชียงใหม่ ตั้งแต่ 8 ปีที่แล้ว โดยสั่งซื้อไส้เดือนสายพันธุ์ AF จากจ.ราชบุรี จำนวน 20 กิโลกรัม ในราคากก.ละ 700 บาท ซึ่งลงทุนซื้อมาครั้งเดียวนี้เท่านั้น แต่สามารถเลี้ยงและขยายพันธุ์มาได้อย่างต่อเนื่อง จากนั้นนำมาผสมกับมูลวัวชนที่สั่งซื้อมาจากภาคกลางเช่นเดียวกัน ส่วนน้ำหมักจุลินทรีย์ ที่ต้องนำไปใช้ในระบบการเลี้ยงไส้เดือนก็ผลิตเอง โดยสกัดจากมูลไส้เดือนโดยตรง ไม่มีจุลินทรีย์ตัวอื่นผสม ทำให้บริเวณโดยรอบของฟาร์มไม่มีกลิ่นเหม็น โดยใช้เวลาหมักน้ำจุลินทรีย์ประมาณ 2 เดือน แล้วเอาไปราดในบ่อเลี้ยง

ทั้งนี้ เมื่อนำไส้เดือนมาผสมกับมูลวัวนม ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 1 เดือน ก็เก็บผลผลิตได้ ไส้เดือนกินอยู่สมบูรณ์ มีอายุขัย 2 ปี แต่ใช้วิธีขยายพันธุ์ไปเรื่อยๆ ตอนเลี้ยงใส่ใส้เดือนไปบ่อละประมาณ 5 กก. พอเลี้ยงไปได้ประมาณ 1 เดือน ก็จะได้ใส้เดือนเพิ่มมาประมาณ 6-7 กิโลกรัม ซึ่งเป็นการขยายพันธุ์และขยายบ่อไปด้วยเรื่อยๆ ตอนนี้มีทั้งหมด 48 บ่อ ผลผลิตต่อเดือนได้ประมาณ 3-4 ตันปุ๋ย จากที่ลงทุนซื้อมาเพียงครั้งเดียวเมื่อ 8 ปีก่อนเท่านั้น จากนั้นก็ไม่ต้องซื้อไส้เดือนอีกเลย ซึ่งเมื่อทำมาใช้เองในสวน ปรากฏว่าใช้ได้ผล ลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมี จึงทำออกขายให้แก่สมาชิกแก่คนรู้จักที่เห็นตัวอย่างด้วย จนผลิตปุ๋ยไม่ทันเชนกัน นอกจากนั้น ขณะนี้ทางฟาร์มก็ขายไส้เดือนเองด้วยกก.ละ 600 บาท มีลูกค้าสั่งจำนวนมาก จนผลิตให้ไม่ทัน เพราะต้องขยายพื้นที่การเลี้ยง เพื่อผลิตปุ๋ยป้อนให้ได้เพียงพอความต้องการของชาวสวน เนื่องจากปุ๋ยเคมีราคาแพง และบางสูตรขาดแคลน เกษตรกรสู้ต้นทุนปุ๋ยเคมีไม่ไหว จึงหันใช้ปุ๋ยอินทรีย์กันมากขึ้น เพื่อประหยัดต้นทุน จนถึงขั้นแย่งกันซื้อ โดยตนเองมีแผนจะขยายบ่อเลี้ยงเพิ่มอีกประมาณ 100 บ่อ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ปุ๋ยของเกษตรกร เนื่องจากปุ๋ยเคมีราคาแพง ดังกล่าว สำหรับมูลวัวสั่งซื้อมาจากจ.ราชบุรี กระสอบละ 30 กว่าบาท

ทั้งนี้ ขึ้นตอนการทำ เมื่อได้มูลวัวมาถึง ก็นำมูลวัวไปแช่ในอ่างน้ำ ประมาณ 7 วัน จากนั้นก็เอามูลวัวขึ้นตากให้แห้ง แล้วนำมูลวัวไปใส่บ่อเลี้ยง ประมาณบ่อละ 5 กระสอบ แล้วปล่อยไส้เดือน 5 กก.ต่อบ่อ ผ่านไป 1 เดือน ก็สามารถเก็บไปร่อน แยกปุ๋ยกับไส้เดือนออก แล้วนำปุ๋ยไปบรรจุกระสอบส่งขาย กระสอบละ 250 บาท น้ำหนัก 20 กก. ตกกก.ละ 12.50 บาท ส่วนไส้เดือนก็เอามาใส่บ่อเลี้ยงและขยายพันธุ์ในคราวเดียวกันต่อไป ผลผลิตเดือนละ 3 ตันตอนนี้ไม่เพียงพอ เพราะเกษตรกรต้องการมากแทนปุ๋ยเคมี แรกเริ่มตนผลิตไว้ใช้เอง เพื่อเอาไว้ใช้ในสวนยาง สวนปาล์ม ผลิตเองใช้เอง เมื่อปุ๋ยมีราคาแพงตนเองไม่จำเป็นต้องซื้อปุ๋ยเคมี ก็ผลิตเองใช้เอง แต่พอเกษตรกรรายอื่นๆทราบก็มาดูงาน และสั่งซื้อจำนวนมากจนผลิตไม่ทัน พร้อมพาดูสวนยางที่ใช้ปุ๋ยมูลไส้เดือน ปรับปรุงดิน ปรับปรุงต้นยางแก้ปัญหาโรคยางตายนึ่ง และทำให้เปอร์เซ็นต์น้ำยางดี ไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมีมาก ใช้บ้างเล็กน้อยเพื่อเสริมธาตุอาหาร นอกจากแก้เรื่องโรคยาง โรคใบได้แล้ว เปลือกยางยังนิ่ม กรีดง่าย และน้ำยางออกมาก เปอร์เซ็นต์น้ำยางดี และตอนนี้ทำงานวิจัยกับสวนปาล์มน้ำมัน ในเนื้อที่ประมาณ 40 ไร่ ใช้ปุ๋ยเคมีประมาณ 4 กก.ต่อต่อต้นปี และใช้ปุ๋ยมูลไส้เดือน 10 กก.ต่อต้นต่อปี แล้วผลผลิตที่ได้ประมาณ 4.5 ตันครึ่งต่อไร่ ลดรายจ่ายเพิ่มผลผลิตได้มาก สำหรับเกษตรกรที่สนใจอยากดูแปลงตัวอย่างทั้งสวนยาง และสวนปาล์มน้ำมัน สามารถติดต่อไปที่ ศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่จังหวัดตรัง กิจกรรม การผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือนของนายณรงค์ชัย ชูเพ็ง เลขที่ 58 หมู่ 9 ต.หาดสำราญ อ.หาดสำราญ จ.ตรัง เบอร์โทรศัพท์ 083 -0099386