"ไมเนอร์" เปิดแผนลงทุน 3 ปี ทุ่ม 2.6 หมื่นล้าน หนุนฟื้นก้าวกระโดด-กำไรปีนี้

"ไมเนอร์" เปิดแผนลงทุน 3 ปี ทุ่ม 2.6 หมื่นล้าน หนุนฟื้นก้าวกระโดด-กำไรปีนี้

“ไมเนอร์ อินเตอร์ฯ” ยักษ์ใหญ่วงการท่องเที่ยว-ร้านอาหาร ตั้งเป้าเทิร์นอะราวด์ พลิกทำกำไรปีนี้ รับดีมานด์นักท่องเที่ยวดีดกลับ หลังวิกฤติโควิด-19 ฉุดขาดทุนอ่วม 2 ปี มุ่งสร้างรากฐานแข็งแกร่ง ฟื้นตัวแบบก้าวกระโดด ลุยเพิ่มโรงแรมใหม่ 60 แห่งใน 5 ปี เน้นรับบริหารเป็นหลัก

หวังปิดความเสี่ยงการใช้เงินลงทุนสูงช่วงโควิดยังไม่หายขาด เสริมพอร์ตโรงแรมทั่วโลกกว่า 527 แห่ง ตั้งการ์ดลดผลกระทบ “เงินเฟ้อ” ยึดแนวทาง “ไม่ชะล่าใจ” บริหารต้นทุนวัตถุดิบร้านอาหารเข้ม

บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT ยักษ์ใหญ่แห่งวงการท่องเที่ยวบริการและร้านอาหารของไทย ก้าวเข้าสู่ปีที่ 55 นับตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี 2510 ภายใต้การนำทัพของนายวิลเลียม เอ็ลล์วู๊ด ไฮเน็ค ผู้ก่อตั้ง ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ หลังผลักดันบริษัทก้าวสู่ระดับสากล เดินกลยุทธ์กระจายการเติบโตและความหลากหลายสู่ 3 กลุ่มธุรกิจหลัก โรงแรม ร้านอาหาร และสินค้าไลฟ์สไตล์ ที่ปัจจุบันปักธงกว่า 63 ประเทศ ขับเคลื่อนด้วยพนักงานในเครือประมาณ 6.5 หมื่นคน

แต่ช่วงกว่า 2 ปี ที่เผชิญโควิด-19 ทำให้ปี 2563 ขาดทุนจากการดำเนินงาน 1.88 หมื่นล้านบาท ปี 2564 ขาดทุนฯ 9.3 พันล้านบาท ต้องปรับตัวครั้งใหญ่ ทั้งต้นทุน คน และกระบวนการธุรกิจ โดยตั้งเป้าหมาย “เทิร์นอะราวนด์” กลับมาทำกำไรให้ได้ในปี 2565

นายชัยพัฒน์ ไพฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้ากลับมาทำกำไรในปีนี้ ด้วยการสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งเพื่อการฟื้นตัวแบบก้าวกระโดด ปัจจัยหลักมาจากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะเทรนด์การท่องเที่ยวล้างแค้น (Revenge Travel) หลังจากหลายประเทศผ่อนคลายข้อจำกัดการเดินทางและเปิดประเทศเต็มรูปแบบ เช่น ยุโรป มัลดีฟส์ ออสเตรเลีย และไทย ซึ่งเป็นจุดหมายหลักของโรงแรมในเครือไมเนอร์ฯ

โดย ณ สิ้นไตรมาส 1 ที่ผ่านมา บริษัทมีโรงแรมทั้งหมด 527 แห่ง คิดเป็นจำนวนห้องพัก 75,805 ห้อง มีจำนวนห้องพักมากติดอันดับ 1 ใน 20 ของเชนโรงแรมทั่วโลก

\"ไมเนอร์\" เปิดแผนลงทุน 3 ปี ทุ่ม 2.6 หมื่นล้าน หนุนฟื้นก้าวกระโดด-กำไรปีนี้
 

++ เร่งฟื้นยอดเข้าพัก-ราคาห้องครึ่งปีหลัง

ช่วงครึ่งปีหลังนี้ เร่งเพิ่มอัตราการเข้าพักและราคาห้องพัก ให้สอดคล้องกับดีมานด์ที่เพิ่มขึ้น โดยเดือน พ.ค.-มิ.ย.ที่ผ่านมา โรงแรมในยุโรป มัลดีฟส์ และออสเตรเลีย มีอัตราการเข้าพัก ราคาห้องพัก และรายได้ต่อห้องพัก (RevPar) แซงหน้าปี 2562 ก่อนยุคโควิด-19

เฉพาะยุโรป ซึ่งครองสัดส่วนรายได้ 60% ของรายได้โรงแรมทั้งหมด มีอัตราการเข้าพักไตรมาส 1 เฉลี่ย 40% ไตรมาส 2 เฉลี่ย 68% ส่วนราคาห้องพักไตรมาส 1 เพิ่มขึ้น 32% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ไตรมาส 2 เพิ่มขึ้นเกือบ 60% เฉพาะเดือน มิ.ย. ราคาเฉลี่ย 142 ยูโร/ห้อง/คืน แซงหน้าเดือน มิ.ย.2562 

โดยช่วงครึ่งปีหลังจะรุกดึงนักเดินทางกลุ่มธุรกิจและไมซ์ (การประชุม เดินทางเพื่อเป็นรางวัล สัมมนา และแสดงสินค้า) มากขึ้น เสริมตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มพักผ่อนทั่วไปที่กำลังฟื้นตัวดี

สำหรับโรงแรมในไทย ปัจจุบันครองสัดส่วนรายได้ 10% แม้จะฟื้นตัวช้ากว่าตลาดอื่นๆ เพราะเพิ่งเปิดประเทศเต็มรูปแบบ ยกเลิกระบบไทยแลนด์พาส มีผลเมื่อวันที่ 1 ก.ค. แต่ผลการดำเนินงานดีขึ้น อัตราการเข้าพักเดือน ก.ค. เกิน 50% แล้ว ฟื้นตัวจากไตรมาส 1 ที่มี 31% และไตรมาส 2 ที่มี 43% ส่วนราคาห้องพักไตรมาส 1-2 เพิ่มขึ้นเป็นตัวเลข 2 หลัก ขณะที่รายได้ต่อห้องพัก ไตรมาส 1 เพิ่มขึ้น 100% และไตรมาส 2 เพิ่มขึ้น 300%

\"ไมเนอร์\" เปิดแผนลงทุน 3 ปี ทุ่ม 2.6 หมื่นล้าน หนุนฟื้นก้าวกระโดด-กำไรปีนี้

 

++ เน้นรับบริหาร รร. ปิดเสี่ยงโควิดยังไม่หายขาด

นายชัยพัฒน์ กล่าวว่า แผนขยายธุรกิจโรงแรมช่วง 5 ปี (2565-2569) มีโรงแรมที่อยู่ระหว่างการพัฒนา (Pipeline) 60 แห่ง 11,742 ห้อง แบ่งเป็นโรงแรมที่ไมเนอร์ฯ เป็นเจ้าของและเช่า จำนวน 11 แห่ง 2,018 ห้อง เตรียมเปิดให้บริการทั้งหมดภายในปีนี้

ส่วนโรงแรมที่รับบริหาร เซ็นสัญญาแล้ว 49 แห่ง 9,724 ห้อง ทยอยเปิดให้บริการในปีนี้ 16 แห่ง 3,254 ห้อง ปี 2566 จำนวน 16 แห่ง 2,703 ห้อง ปี 2567 จำนวน 9 แห่ง 1,541 ห้อง และปี 2568-2569 อีก 8 แห่ง 2,226 ห้อง

“กลยุทธ์ที่ไมเนอร์ฯ ใช้ขยายธุรกิจโรงแรมในช่วงนี้ เน้นการรับบริหาร (Asset-Light) เป็นหลัก กระจายที่ตั้งทั่วทุกภูมิภาคของโลก ทั้งเอเชีย ตะวันออกกลาง ยุโรป อเมริกาใต้ และโอเชียเนีย เนื่องจากไม่ต้องเสี่ยงกับการใช้เงินลงทุนสูง คุ้มกับอัตราผลตอบแทนที่จะได้รับในช่วงโควิด-19 ยังไม่หายไปจากโลก อย่างไรก็ตามในอนาคตเมื่อบริษัทมีงบดุลที่แข็งแกร่งกว่านี้ สถานการณ์และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจดีขึ้น เราก็อาจจะกลับมาขยายงานเชิงรุกได้มากกว่านี้”

 

++ ลงทุน 3 ปี รวม 2.64 หมื่นล้านบาท

สำหรับภาพรวมค่าใช้จ่ายในการลงทุน (CAPEX) ปีนี้  ลงทุน 6,400 ล้านบาท ถูกหั่นไป 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับวงเงินลงทุนเดิม เป็นไปตามกลยุทธ์ควบคุมต้นทุนขององค์กรนับตั้งแต่ปี 2562 ที่โควิด-19 ระบาด ส่วนใหญ่นำไปใช้จ่ายในธุรกิจโรงแรม เช่น การปรับปรุงบำรุงรักษา ส่วนปี 2566-2567 มีแผนลงทุนประมาณ 10,000 ล้านบาท/ปี

“บริษัทอยู่ระหว่างจัดทำแผนธุรกิจ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2566-2568 ถือเป็นครั้งแรกที่จัดทำแผนระยะ 3 ปี จากปกติก่อนโควิด-19 ระบาด ทำแผนธุรกิจระยะ 5 ปีมาตลอด เพราะตอนนี้มองว่า 5 ปีนานเกินไปสำหรับการคาดการณ์ธุรกิจ”

 

++ ตั้งการ์ดเข้มลดผลกระทบ ‘เงินเฟ้อ’

จากความท้าทายเรื่องเงินเฟ้อกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงครึ่งปีหลัง มองว่าไม่น่าจะทำให้บริษัทเหนื่อยเท่ากับวิกฤติโควิด-19 ที่มาแบบตูมเดียว เพราะปัจจัยเงินเฟ้อเป็นสิ่งที่พอจะประเมินและคาดการณ์ได้ แต่ก็ไม่ได้ชะล่าใจ พยายามเฟ้นหากลยุทธ์มาลดทอนผลกระทบ

อย่างกลุ่มธุรกิจอาหาร หลังจากสามารถทำกำไรสุทธิต่อเนื่อง 7 ไตรมาส จนถึงไตรมาส 1 ที่ผ่านมา กลยุทธ์ที่นำมาสู้กับภาวะเงินเฟ้อ มีทั้งการบริหารต้นทุนวัตถุดิบ โดยทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และมอนิเตอร์ราคาวัตถุดิบเพื่อเพิ่มสต็อกบางตัวในช่วงที่ราคาลดลง เป็นการตุนเอาไว้ให้เรามีเวลาและสายป่านไปดีลกับภาวะเงินเฟ้อมากขึ้น รวมถึงปรับโครงสร้างเมนูอาหารและปรับราคาบางเมนูให้สอดคล้องกับต้นทุน

ควบคู่กับการมุ่งปรับภาพลักษณ์ร้านอาหารในเครือ พัฒนาแอปพลิเคชั่นและการสั่งอาหารผ่านเว็บไซต์ และนำระบบดิจิทัลเข้ามาใช้ในช่องทางรับอาหารกลับบ้าน

\"ไมเนอร์\" เปิดแผนลงทุน 3 ปี ทุ่ม 2.6 หมื่นล้าน หนุนฟื้นก้าวกระโดด-กำไรปีนี้

 

++ ย้ำฐานะการเงินบริษัทแข็งแกร่ง

นายชัยพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันบริษัทยังคงมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง โดย ณ สิ้นเดือน พ.ค.2565 มีเงินสดคงเหลือกว่า 22,000 ล้านบาท และวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกประมาณ 31,000 ล้านบาท รวมถึงมีวอร์แรนต์ 3 ชุด ซึ่งจะครบกำหนดใช้สิทธิ์ในปี 2566-2567 อีกประมาณ 15,000 ล้านบาท ทำให้บริษัทมีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่ง

อย่างไรก็ตาม เพื่อยังคงรักษาฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ในวันที่ 31 ส.ค.2565 บริษัทจะไถ่ถอนหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท (“หุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ”) ชุดเดิม (MINT18PA) 15,000 ล้านบาท ที่เสนอขายเมื่อปี 2561 ก่อนกำหนด และเตรียมเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ชุดใหม่ทดแทน แก่ประชาชนเป็นการทั่วไปในเดือน ก.ย. มูลค่า10,000 ล้านบาท

สำหรับหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯชุดใหม่นี้ ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ “BBB+” แนวโน้ม “Stable” ขณะที่บริษัทได้รับการยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือที่ “A” และได้รับการปรับแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นแนวโน้ม “Stable” จากบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2565 ตอกย้ำถึงศักยภาพของบริษัทที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม ร้านอาหารและไลฟ์สไตล์ชั้นนำระดับโลก ฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง รวมถึงความสามารถในการบริหารสภาพคล่องและชำระดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา

\"ไมเนอร์\" เปิดแผนลงทุน 3 ปี ทุ่ม 2.6 หมื่นล้าน หนุนฟื้นก้าวกระโดด-กำไรปีนี้