MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 18-22 กรกฎาคม 2565

MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 18-22 กรกฎาคม 2565

เงินบาทยังอ่อนค่า แต่ดัชนีหุ้นไทยปรับขึ้นจากสัปดาห์ก่อน  เงินบาทอ่อนค่าทดสอบแนว 36.95 บาทต่อดอลลาร์ฯ แต่ฟื้นตัวกลับมาบางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ตามการปรับโพสิชัน ขณะที่ตลาดรอติดตามสัญญาณดอกเบี้ยสหรัฐฯ จากผลการประชุมเฟด 26-27 ก.ค. อย่างใกล้ชิด

•    หุ้นไทยปรับตัวขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดยมีแรงซื้อคืนหุ้นหลายกลุ่มหลังการรายงานผลประกอบการ    
 

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

เงินบาทอ่อนค่าไปแตะ 36.95 บาทต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นระดับอ่อนค่าสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2549 (ในรอบเกือบ 15 ปี 9 เดือน) ท่ามกลางทิศทางที่แข็งแกร่งของค่าเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งได้รับแรงหนุนจากแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ประกอบกับภาพรวมของสกุลเงินในเอเชียก็เผชิญแรงกดดันในระหว่างสัปดาห์จากความกังวลเกี่ยวกับสัญญาณอ่อนแอของเศรษฐกิจโลก รวมถึงความเสี่ยงของเศรษฐกิจและสถานการณ์โควิดในจีน ซึ่งกดดันให้เงินหยวนอ่อนค่าลง

อย่างไรก็ดี เงินบาทและสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาคฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนในช่วงปลายสัปดาห์ท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ เพื่อปรับโพสิชันก่อนการประชุมนโยบายการเงินของเฟดในวันที่ 26-27 ก.ค. นี้ 

MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 18-22 กรกฎาคม 2565

ในวันศุกร์ที่ 22 ก.ค. 2565 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 36.70 (ระหว่างสัปดาห์ แตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบประมาณ 15 ปี 9 เดือน ที่ 36.95) เทียบกับระดับ 36.61 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (15 ก.ค.) ขณะที่ระหว่างวันที่ 18-22 ก.ค. นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 889 ล้านบาท ขณะที่มีสถานะเป็น NET OUTFLOW ออกจากตลาดพันธบัตร 3,534 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตรไทย 2,455 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่หมดอายุ 1,079 ล้านบาท) 
 

สัปดาห์ถัดไป (25-29 ก.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 36.40-37.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมเฟด (26-27 ก.ค.) ตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจโลกของ IMF ทิศทางเงินทุนต่างชาติ รวมถึงตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดและเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยเดือนมิ.ย. ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ค. ยอดขายบ้านใหม่ ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ดัชนีราคา PCE/Core PCE Price Index เดือนมิ.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขจีดีพี 2Q/65 ของสหรัฐฯ ยุโรปและเกาหลีใต้ด้วยเช่นกัน

 

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

ตลาดหุ้นไทยทยอยปรับตัวขึ้นจากสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้หุ้นไทยปรับตัวขึ้นช่วงต้นสัปดาห์ตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ หลังนักลงทุนกลับมาประเมินว่า เฟดอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.75% ในการประชุมรอบ ก.ค. นี้ อย่างไรก็ดีแรงเทขายของกลุ่มนักลงทุนสถาบันและต่างชาติกดดันตลาดช่วงสั้นๆ ในเวลาต่อมา แต่ดัชนีหุ้นไทยพลิกกลับมาปรับตัวขึ้นอีกครั้งในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ โดยมีแรงหนุนจากแรงซื้อคืนหุ้นหลายกลุ่ม ทั้งเทคโนโลยี ไฟแนนซ์และแบงก์ซึ่งรับอานิสงส์จากผลประกอบการไตรมาสล่าสุดที่ออกมาค่อนข้างดี ทั้งนี้ปริมาณการซื้อ-ขายในระหว่างสัปดาห์ค่อนข้างเบาบางเนื่องจากตลาดรอติดตามผลการประชุมเฟดอย่างใกล้ชิด 

MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 18-22 กรกฎาคม 2565

ในวันศุกร์ (22 ก.ค.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,552.73 จุด เพิ่มขึ้น 1.26% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 55,613.34 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.96% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 1.93% มาปิดที่ 575.66 จุด     

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (25-29 ก.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,535 และ 1,525 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,565 และ 1,580 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมเฟด (26-27 ก.ค.) ผลประกอบการงวด 2Q/65 ของบริษัทจดทะเบียนใน ตลท. ทิศทางเงินทุนต่างชาติ รวมถึงสถานการณ์โควิด ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคล ดัชนี PCE/Core PCE Price Index เดือนมิ.ย. รวมถึงตัวเลขจีดีพี 2Q/65 ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนก.ค. (เบื้องต้น) และตัวเลขจีดีพี 2Q/65 ของยูโรโซน รวมถึงกำไรบริษัทอุตสาหกรรมเดือนมิ.ย. ของจีน