พบ “ฝูงโลมาหลังโหนก” 6 – 8 ตัว บริเวณชายฝั่งทะเลปัตตานี

พบ “ฝูงโลมาหลังโหนก” 6 – 8 ตัว บริเวณชายฝั่งทะเลปัตตานี

พบ “ฝูงโลมาหลังโหนก” 6 – 8 ตัว บริเวณชายฝั่งทะเลปัตตานี ผลพวงจากกรมประมงเร่งสร้างความเข้าใจ และชาวประมงขานรับ พร้อมปฏิบัติตามแผน MMPA ของประเทศไทย เพื่อป้องกัน และบรรเทาผลกระทบจากการทำประมงต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม

นายเฉลิมชัย  สุวรรณรักษ์  อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงทะเลปัตตานี กองตรวจการประมง ว่าเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2565 มีนักท่องเที่ยว พบฝูงโลมาหลังโหนก (Indopacific humpback dolphin) ชื่อวิทยาศาสตร์ Sousa chinensis จำนวน 6 – 8 ตัว ว่ายน้ำอยู่แถวชายหาดแฆแฆ ตำบลบ้านน้ำบ่อ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี 

พบ “ฝูงโลมาหลังโหนก” 6 – 8 ตัว บริเวณชายฝั่งทะเลปัตตานี พบ “ฝูงโลมาหลังโหนก” 6 – 8 ตัว บริเวณชายฝั่งทะเลปัตตานี

ซึ่งบริเวณดังกล่าว เป็นเขตอนุรักษ์ของชุมชนปะนาเระ สะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำที่ฟื้นคืนกลับมา หลังกรมประมงเร่งสร้างความรู้ ความเข้าใจร่วมกับพี่น้องชาวประมงในพื้นที่เกี่ยวกับการใช้เครื่องมือประมงอย่างไร ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม

รวมถึงการช่วยเหลือสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมเบื้องต้น และกรมประมงได้บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันการทำประมงผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการทำการประมงในพื้นที่ห้าม การใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมาย หรือการใช้เครื่องมือประมงที่ห้ามใช้ทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่ง เป็นต้น

 

โดยที่ผ่านมากรมประมงได้ผลักดันการดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของกฎหมายว่าด้วยการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำเพื่อคุ้มครองสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม (Marine Mammal Protection Act : MMPA) ของสหรัฐอเมริกามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษามูลค่าการส่งออกสินค้าประมงไปยังสหรัฐอเมริกา

โดยหลังจากที่ประเทศไทย ได้จัดส่งข้อมูลเพื่อประกอบการประเมินความเท่าเทียมในการดำเนินการตามกฎระเบียบ MMPA อาทิ ข้อมูลสถานภาพสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมในพื้นที่ทำการประมง ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทำประมง กฎระเบียบในประเทศ ข้อบังคับด้านการทำประมงเชิงพาณิชย์ ข้อมูลระบบทะเบียน และการอนุญาตทำการประมง หรือมาตรการที่เกี่ยวข้องในการลดการตายหรือลดการบาดเจ็บของสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมซึ่งเป็นสัตว์น้ำพลอยจับ (Bycatch) ฯลฯ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ไปยังสหรัฐอเมริกา เมื่อวันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา

เพื่อเป็นการแสดงถึงเจตจำนงของประเทศไทย ที่ให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์และการบริหารจัดการสำหรับสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมที่เป็นรูปธรรม เป็นไปตามหลักสากล และพันธกรณีระหว่างประเทศ ภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ขณะนี้อยู่ในระหว่างการประเมินของสหรัฐอเมริกา และจะมีการประกาศผลการพิจารณาประมาณเดือนพฤศจิกายน 2565 และบังคับใช้กฎหมาย MMPA ในวันที่ 1 มกราคม 2566 

 

 

ประเทศไทยได้จัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม พ.ศ. 2566 – 2570 ภายใต้ข้อกำหนดกฎหมายคุ้มครองสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม (MMPA) ซึ่งประกอบด้วย 5 กลยุทธ์ 19 แผนงาน 51 โครงการ ดังนี้

กลยุทธ์ที่ 1 การติดตามและประเมิน (Monitoring & Estimation) 

กลยุทธ์ที่ 2 การวิจัยและพัฒนา (Research & Development) 

กลยุทธ์ที่ 3 การอนุรักษ์และจัดการ (Conservation & Management) 

กลยุทธ์ที่ 4 การบังคับใช้ (Enforcement)

และกลยุทธ์ที่ 5 การสื่อสาร (communication) รวมทั้งมีการเตรียมความพร้อม

โดยหารือร่วมกับผู้ประกอบการในการจัดทำโครงการเร่งด่วนเพื่อรองรับกฎระเบียบ MMPA ที่จะประกาศบังคับใช้ โดยรัฐบาลได้อนุมัติงบกลาง 35,687,200 บาท   ให้ดำเนินการโครงการเร่งด่วนจำนวน 4 โครงการ ประกอบด้วย

1. โครงการการเพิ่มประสิทธิภาพระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าสัตว์น้ำ เพื่อรองรับ Marine Mammal Protection Act  ของประเทศสหรัฐอเมริกา

2. โครงการการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการปรับเปลี่ยนเครื่องมือประมง และวิธีการทำการประมงเพื่อป้องกันการติดโดยบังเอิญของสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม

3. โครงการการควบคุมเฝ้าระวังพื้นที่ทำการประมงในบริเวณพื้นที่เสี่ยงต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม

4. โครงการการศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาเครื่องมือประมงที่มีผลกระทบต่อพะยูน

 

         ทั้งนี้ นอกจากการบริหารจัดการทรัพยากรประมงโดยใช้กลไกต่างๆ แล้ว กรมประมงให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชุมชน และพี่น้องชาวประมงในพื้นที่ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ อาทิ โครงการพัฒนาอาชีพและส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนประมง และโครงการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมขององค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น เพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ของการทำประมงที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม และเป็นไปอย่างยั่งยืน

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์