ข่าวดี “โลมาอิรวดี” กำลังจะได้เป็น สัตว์สงวนแห่งชาติ

ข่าวดี “โลมาอิรวดี” กำลังจะได้เป็น สัตว์สงวนแห่งชาติ

"โลมาอิรวดี" ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มใกล้สูญพันธุ์ ในทะเลสาบสงขลา ประเทศไทย มีจำนวนลดลง เหลือเพียง 14 ตัว ทำให้หลายฝ่ายต้องเร่งมือดูแลอนุรักษ์อย่างเต็มที่ ก่อนที่จะสูญหายไปทั้งหมด

ข่าวเรื่อง โลมาอิรวดี ในทะเลสาบสงขลา มีจำนวนลดลงทุกปี เป็นสถานการณ์ที่รับรู้กันให้หมู่คนรักสิ่งแวดล้อม แต่ระยะหลังสถานการณ์เลวร้ายไปกว่านั้น เนื่องจากเหลือโลมาอิรวดี เพียง 14 ตัวเท่านั้น

วันที่ 27 เมษายน 2565 ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ระบุว่า โลมาอิรวดี ในทะเลสาบสงขลาเหลือเพียงแค่ 14 ตัว นับถอยหลังวันสูญพันธุ์

“ในช่วง 30 ปีจากร้อยกว่าตัวเหลือเพียง 14 ตัวสุดท้าย เป็นความสิ้นหวังสูงสุดของการอนุรักษ์สัตว์น้ำหายากของไทย

ในโลกนี้มี โลมาอิรวดี ที่อาศัยอยู่ในน้ำจืดเพียง 5 แห่ง อินเดีย กว่า 140 อินโดนีเซีย 90 เมียนมาร์ 80 กัมพูชา 90 และไทย 14 ตัว ในทะเลสาบสงขลา คือ สถานที่แห่งแรกในโลก ที่โลมาอิรวดีในน้ำจืดจะสูญพันธุ์ บางคนอาจบอกว่า ลาวสูญพันธุ์ไปก่อนแล้วนะ”

ข่าวดี “โลมาอิรวดี” กำลังจะได้เป็น สัตว์สงวนแห่งชาติ Cr.TOP Varawut

ทางด้าน ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน กล่าวว่า ประชากรโลมาในแม่น้ำโขงของลาว และกัมพูชา เป็นกลุ่มเดียวกัน

“ว่ายไปว่ายมา หากเราอนุรักษ์ในกัมพูชาไว้ได้ ในอนาคตก็ยังมีหวังที่โลมาจะกลับเข้าไปในลาว ผิดจากทะเลสาบสงขลา ที่ไม่มีมาจากไหนอีก

เมื่อ 6,000 ปีก่อน ระดับน้ำทะเลในแถบนี้สูงขึ้นเรื่อยๆ จนสูงสุด โลมาอิรวดี สัตว์เฉพาะเขตอินโด แปซิฟิก หากินตามชายฝั่ง ฝูงหนึ่งก็ได้ว่ายเข้ามาอยู่ในทะเลเหนือแผ่นดินพัทลุง และสงขลา

จากนั้นระดับน้ำทะเลเริ่มลดต่ำลง จนกลายเป็นทะเลสาบ เหลือเพียงช่องแคบเล็กๆ ที่เชื่อมต่อกับทะเลข้างนอก โลมามีความสุขอยู่ในทะเลสาบ เพราะไม่มีผู้ล่า มีปลาให้กินอย่างอุดมสมบูรณ์ โลมาออกลูกมาเป็นร้อยๆ ตัว

ต่อมามนุษย์เพิ่มจำนวนขึ้น จับปลามากขึ้น มีการปล่อยปลาบึกลงในทะเลสาบ เพื่อให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจ เครื่องมือประมงถูกปรับไปมุ่งจับปลาบึก แต่โลมากับปลาบึกมีขนาดใกล้เคียงกัน โลมาก็ติดอวนจมน้ำตาย เพราะโลมาหายใจด้วยปอด”

จากสถิติ โลมาตายปีละ 4-5 ตัว เมื่อปล่อยปลาบึกในปี 2545-2551 และมีคนมาจับปลาบึกในปี 2550-2555 โลมาก็ตายเพิ่มขึ้นปีละ 10 ตัว ปลาที่เป็นอาหารก็ถูกจับจนเหลือน้อย

น้ำตื้นมากขึ้นจากตะกอนที่ไหลมาจากการเปิดหน้าดิน โลมามีประชากรน้อย ผสมพันธุ์กันเอง มีปัญหาเลือดชิด ในที่สุดเหลือเพียง 14 ตัว

ข่าวดี “โลมาอิรวดี” กำลังจะได้เป็น สัตว์สงวนแห่งชาติ Cr.TOP Varawut

  • โลมาอิรวดี สัตว์ใกล้สูญพันธุ์

โลมาอิรวดีจัดอยู่ในสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ (EN-Endangered) โดย International Union for Conservation of Nature’s (IUCN) องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ

ก่อนหน้านี้เคยประกาศให้เป็นสัตว์สูญพันธุ์ไปแล้ว (Functionally Extinct) แต่มีการฟื้นฟูบำรุงให้กลับมาได้ทันก่อนที่ตัวสุดท้ายจะจากไป 

โลมาอิรวดี มีชื่อหลากหลายตามสถานที่พบ เช่น โลมาหัวบาตรมีครีบหลัง, โลมาน้ำจืด, โลมาหัวหมอน (ปลาข่า ในภาษาลาว) อยู่ในวงศ์โลมามหาสมุทร (Delphinidae ชื่อวิทยาศาสตร์ Orcaella brevirostris

ลักษณะเด่น มีรูปร่างคล้ายโลมา หัวโปนกลมมน ลำตัวสีเทาล้วน ตาเล็ก ปากสั้น ครีบบนมีขนาดเล็ก น้ำหนัก 90- 200 กิโลกรัม มีฟัน 12-19 ซี่ ที่ขากรรไกรทั้งสองข้าง ตัวเมียตั้งท้อง 9 เดือน คลอดลูกครั้งละ 1 ตัว

โลมาอิรวดี พบในพื้นที่ชายฝั่งทะเลเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแม่น้ำสามสาย ได้แก่ แม่น้ำอิรวดี (เมียนมาร์) มหากัม/มาฮาคัม (เกาะบอร์เนียวชาวอินโดนีเซีย) แม่น้ำจิลิกา ประเทศอินเดีย ปากแม่น้ำบางปะกง ทะเลสาบสงขลาและแม่น้ำโขง

โลมาอิรวดี แม่น้ำโขงอาศัยในลำน้ำ 118 ไมล์ ระหว่างกัมพูชาและสปป.ลาว

ส่วนใหญ่ โลมาอิรวดี ตายเพราะอวนลาก เศษซากอวนที่ถูกทิ้งในทะเลไปขวางทางพันตัวรัดเป็นแผลจนตาย หรือการสร้างเขื่อน ทำให้เกิดตะกอนลงไปในแหล่งอาหารแหล่งอาศัย

ข่าวดี “โลมาอิรวดี” กำลังจะได้เป็น สัตว์สงวนแห่งชาติ Cr.TOP Varawut

  • รัฐมนตรีฯ เน้นดูแลโลมาอิรวดี 14 ตัวในไทย

วันที่ 6 พฤษภาคม 2565 วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้โลมาอิรวดีตาย ส่วนใหญ่ติดเครื่องมือประมง

“รองลงมา สัตว์น้ำที่เป็นอาหารของโลมาลดลง และการผสมพันธุ์เลือดชิด เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดูแลโลมาอิรวดีทั้ง 14 ตัวของเราไว้ให้ได้ 

โลมาอิรวดี เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 เป็นสัตว์ที่ได้รับการคุ้มครองตามข้อตกลงระหว่างประเทศ จากการประชุม CITES ครั้งที่ 13 เมื่อปี พ.ศ.2546 ที่ประเทศไทยเสนอให้โลมาอิรวดีเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองบัญชีที่ 1 ส่งผลให้โลมาอิรวดีได้รับความคุ้มครองสูงสุดในระดับนานาชาติ

มาตรการระยะสั้น จะมุ่งเน้นไปที่การลาดตระเวนเชิงคุณภาพ การทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่

ส่วนระยะยาว ต้องสำรวจศึกษา วิจัย เกี่ยวกับการผสมพันธุ์ การฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในทะเลสาบ การแก้ปัญหามลพิษ การตื้นเขิน เร่งเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำอาหารของโลมาอิรวดี สร้างศูนย์ช่วยเหลือและพยาบาลสัตว์ทะเล ดูแลถิ่นที่อยู่ของโลมา จัดการสภาพแวดล้อมทะเลสาบสงขลา 

ข่าวดี “โลมาอิรวดี” กำลังจะได้เป็น สัตว์สงวนแห่งชาติ Cr.Thon Thamrongnawasawat

  • ล่าสุด โลมาอิรวดี กำลังจะได้เป็น สัตว์สงวน

วันที่ 12 พฤษภาคม 2565 อาจารย์ธรณ์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก แจ้งข่าวดีว่า คณะกรรมการทะเลแห่งชาติ รับข้อเสนอ โลมาอิรวดีเป็นสัตว์สงวนแล้ว

“วันนี้มีการประชุมคณะกรรมการทะเลชาติ (กทช.) มีท่านรองนายก เป็นประธาน ท่านรัฐมนตรีเป็นรองประธาน ผมเสนอให้ โลมาอิรวดี เป็นสัตว์สงวน ที่ประชุมเห็นชอบครับ

การเป็นสัตว์สงวนมีประโยชน์อย่างไร เรื่องนี้ตอบได้ตั้งแต่ เต่ามะเฟือง, ฉลามวาฬ, วาฬบรูด้า โอมูระ

กฎหมายชัดเจน ความสนใจเพิ่มมากขึ้น งบประมาณ และการดูแลอนุรักษ์ยกระดับไปอีกขั้น

โลมาอิรวดี ถูกจัดสถานภาพ endangered เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในระดับโลก (IUCN) 14 ตัวสุดท้ายที่เหลืออยู่ในทะเลสาบสงขลา เสี่ยงมากๆ ต่อการสูญพันธุ์ จากพื้นที่น้ำจืด 1 ใน 5 ของโลก...

ขั้นตอนต่อจากนี้ จะเป็นการดำเนินงานของกรมทะเลและชายฝั่ง ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อนำเสนอเรื่องอีกครั้ง ผ่านคณะกรรมการ ก่อนเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.)ไปคณะกรรมการกฤษฎีกา...

หากได้เป็น สัตว์สงวน ยังมีผลถึงโลมาอิรวดีในทะเลที่อื่นๆ เช่น ดอนสัก, อ่าวขนอม, อ่าวไทยตอนใน, ตรัง, กระบี่...

 

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์