เช็กสัญญาณเศรษฐกิจไทย ปี 65 มีโอกาสซ้ำรอยปี 40 หรือไม่?

เช็กสัญญาณเศรษฐกิจไทย ปี 65 มีโอกาสซ้ำรอยปี 40 หรือไม่?

เมื่อเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับความเสี่ยงจากหลายปัจจัย อาทิ เงินเฟ้อสูง ค่าเงินผันผวน ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ขณะที่ยังต้องเร่งฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 ก่อให้เกิดความกังวลว่าไทยจะเพลี้ยงพล้ำจนเกิดวิกฤติคล้ายปี 40 หรือไม่?

ในปี 2565 ประเด็นที่ถูกพูดถึงกันเป็นอย่างมาก คือ ภาวะเงินเฟ้อ ที่คาดว่าจะเร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่ฟื้นตัวจากโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ภาวะเงินเฟ้อกลับทวีความรุนแรงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ จากการพุ่งขึ้นของราคาพลังงานในภาวะสงคราม ส่งผลให้แทบทุกประเทศต้องเผชิญกับตัวเลขเงินเฟ้อสูงทุบสถิติในรอบหลายปี 

  •   ภาวะเศรษฐกิจโลก สู่ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย  

เมื่อสหรัฐอเมริกา ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากพิษเงินเฟ้อในปีนี้ โดยตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. พุ่งทะลุระดับ 9% ไปเป็นที่เรียบร้อย นับเป็นการทำสถิติสูงสุดในรอบ 40 ปีอีกครั้ง หลังจากหลายเดือนที่ผ่านมาก็ทำสถิติในลักษณะเดียวกัน จึงเป็นเหตุให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต้องเร่งถอนสภาพคล่องจากระบบเศรษฐกิจและการเงินสหรัฐด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 

การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ส่งผลกระทบมายังเศรษฐกิจไทย ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) ให้เผชิญกับภาวะเงินบาทอ่อนค่า จากทิศทางการเคลื่อนย้ายของเงินทุนที่มุ่งหน้าเข้าสู่สหรัฐ ซึ่งหากสหรัฐยังทำการขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป ขณะที่ไทยยังคงไว้ที่ระดับเดิม จะยิ่งทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลงไปอีก


 

แม้ว่าในปัจจุบัน ณ วันที่ 24 มิ.ย. เงินบาทจะอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ 36.67 บาทต่อดอลลาร์ จากต้นปีที่ประมาณ 33 บาทต่อดอลลาร์ หรืออ่อนลงกว่า 10% ในปีนี้ แต่หากพิจารณาเทียบกับกลุ่มประเทศเอเชียด้วยกัน พบว่า เงินบาทอ่อนค่าลงเพียงระดับปานกลาง สะท้อนจากตัวเลขดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ที่แสดงระดับการอ่อนค่าของเงินบาท เท่ากับ 1.5% 

อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงมีบทบาทในการดูแลเสถียรภาพด้านอัตราแลกเปลี่ยน หรือคอยดูแลไม่ให้เงินบาทมีความผันผวนมากจนเกินไป สอดคล้องกับที่ พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินและตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงปัจจุบัน ไทยสูญเสียทุนสำรองระหว่างประเทศไปราว 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยคาดว่า อาจนำบางส่วนไปดูแลค่าเงินบาท (Intervention) 

นอกจากนั้น ไทยก็ประสบกับพิษของเงินเฟ้อเช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลก โดยอัตราเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. พุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 7.66% ทุบสถิติสูงสุดในรอบ 13 ปี โดยเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารและพลังงาน รวมไปถึงการเริ่มฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว

ทั้งหมดนี้ก่อตัวเป็นแรงกดดันต่อการดำเนินนโยบายของธปท. เพราะความรุนแรงของภาวะเงินเฟ้อและภาวะการอ่อนค่าของเงินบาท เสมือนเป็นสัญญาณให้ไทยต้องขยับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นไปจากปัจจุบัน ขณะเดียวกัน ธปท. ยังคงต้องดำเนินนโยบายการเงิน เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวกลับมาอยู่ในจุดก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19  

  •   สถานะเศรษฐกิจการเงินไทยในปัจจุบันเป็นอย่างไร รอดตัวหรือซ้ำรอยปี 40?  

แม้ว่าความเสี่ยงที่จากภาวะเศรษฐกิจโลกจะส่งผลกระทบมาถึงไทย แต่การดำเนินนโยบายการเงินของทุกประเทศ มักจะต้องคำนึงถึงปัจจัยภายในเป็นสำคัญ สอดคล้องกับคำกล่าวของ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าธปท. ที่ระบุว่า โจทย์ของเศรษฐกิจไทยและต่างประเทศมีความต่างกัน โดยของเราคือ “การฟื้นตัวได้อย่างไม่สะดุด” หรือ Smooth takeoff ฉะนั้น ไทยไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยแรงตามสหรัฐ 

อย่างไรก็ตาม ด้วยระดับเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยที่ต่ำมาก เมื่อเทียบประเทศในระดับภูมิภาค และยังถือเป็นตัวเลขต่ำสุดในประวัติศาสตร์ไทย ทำให้ไทยจำเป็นต้องถอนคันเร่งการกระตุ้นเศรษฐกิจตรงนี้ลงไปบ้าง เพื่อรักษาเสถียรภาพทางด้านราคาของสินค้าและบริการในประเทศ  ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเงินเฟ้อที่สูงจนเกินไป

สถานการณ์ข้างต้น ฉายภาพให้เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยในตอนนี้ยังอยู่ในภาวะที่รับมือได้ของธปท. ขณะเดียวกัน ก็มีหลายฝ่ายออกมาตั้งคำถามเกี่ยวกับ ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจมากมายเช่นนี้ อาจนำพาไทยไปเจอกับวิกฤติที่เคยเกิดขึ้นในปี 40 ได้หรือไม่  

จากความกังวลดังกล่าว ธปท. จึงได้ออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานะทางการเงินไทยในด้านต่างๆ ดังนี้ 

- เสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน 

หากเปรียบเทียบกับสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจช่วงปี 40 และปี 65 ผ่านตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลประชาชาติ (จีดีพี), ดุลบัญชีเดินสะพัด (% เทียบจีดีพี) และอัตราหนี้สินต่อทุนของบริษัทจดทะเบียน (D/E ratio) จะพบว่า ช่วงก่อนปี 40 ตัวเลขจีดีพีติดลบและมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องกันหลายปี อีกทั้งภาระหนี้สินของภาคธุรกิจยังสูงกว่าทุนราว 5 เท่า 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในปี 63 เศรษฐกิจไทยต้องประสบกับภาวะถดถอย ตัวเลขจีดีพีติดลบ 6.2% จากผลกระทบของวิกฤติโควิด-19 แต่ในปี 64 ตัวเลขจีดีพีก็ปรับตัวเป็นบวก และในปี 65 และ 66 ก็มีคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวต่อเนื่องไปอีก ขณะเดียวกัน การขาดดุลเดินบัญชีเดินสะพัดที่เริ่มต้นขึ้นในปี 64 จะกลับมาเกินดุลได้ในปี 66 

เช็กสัญญาณเศรษฐกิจไทย ปี 65 มีโอกาสซ้ำรอยปี 40 หรือไม่?

- เสถียรภาพสถาบันการเงิน 

หากพิจารณาที่เสถียรภาพสถาบันการเงิน พบว่า ในช่วงปี 40 ไทยมีสินเชื่อที่เป็นหนี้เสียในระบบสถาบันการเงิน (NPL Ration) สูงเกือบ 50% ของสินเชื่อทั้งหมด ขณะที่ ณ สิ้นไตรมาส 1/65 ไทยมีสินเชื่อที่เป็นหนี้เสียเพียง 2.9% ของสิ้นเชื่อทั้งหมด 

นอกจากนั้น ธนาคารพาณิชย์ไทยยังมีการสำรองเงินกองทุนไว้สำหรับสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ที่ 19.6 % ซึ่งสูงกว่าปี 40 ราว 10.6%  

เช็กสัญญาณเศรษฐกิจไทย ปี 65 มีโอกาสซ้ำรอยปี 40 หรือไม่?

- เสถียรภาพต่างประเทศ 

ปัจจุบัน เงินสำรองระหว่างประเทศของไทยอยู่ในระดับสูงกว่า 2.5 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น (มิ.ย. 65) ต่างจากช่วงปี 40 ที่หนี้สินต่างประเทศมีมูลค่ามากกว่าเงินสำรองฯ และเมื่อพิจารณาที่ตัวเลขหนี้ต่างประเทศ ก็พบว่า ไทยมีการพึงพิงแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศที่ 39% ในปีนี้ ต่ำลงจากช่วงปี 40 ที่ราว 65%  

เช็กสัญญาณเศรษฐกิจไทย ปี 65 มีโอกาสซ้ำรอยปี 40 หรือไม่?

- อัตราแลกเปลี่ยน

อีกประการหนึ่งที่สำคัญ คือ ไทยได้เปลี่ยนระบบการแลกเปลี่ยนเงินตราจาก ระบบที่ผูกเงินบาทไว้กับตะกร้าเงิน (Pegged Exchange Rate) มาใช้ระบบลอยตัวแบบมีการจัดการ (Managed Float) ซึ่งจะทำให้ค่าเงินเคลื่อนไหวตามกลไกตลาด แต่ธปท. ยังคงสามารถเข้าแทรกแซงได้ในบางจังหวะ เพื่อสกัดความผันผวนที่ผิดปกติของค่าเงิน 

จากการเปลี่ยนแปลงข้างต้น ทำให้เงินบาทไม่ต้องเผชิญกับการลดลงของมูลค่าอย่างหนักเช่นในช่วงหลังการลอยตัวค่าเงินบาทอีก

เช็กสัญญาณเศรษฐกิจไทย ปี 65 มีโอกาสซ้ำรอยปี 40 หรือไม่?

นอกจากข้อมูลข้างต้นจากธปท.แล้ว ทาง ฟิทช์ เรทติ้งส์ (Fitch Rating) ยังจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ให้อยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ  (Stable outlook) ทั้งหมดนี้สะท้อนถึงสถานะเศรษฐกิจการเงินไทยในปัจจุบันมีความแข็งแกร่งกว่าช่วงปี 40 เป็นอย่างมาก ซึ่งอาจนับเป็นสัญญาณว่า ไทยคงไม่กลับไปประสบกับวิกฤติทางการเงินที่รุนแรงเช่นในอดีตอีก

----------------------------------------

อ้างอิง

ดำรงเกียรติ มาลา , ธนาคารแห่งประเทศไทย  , ประชาชาติธุรกิจ , สำนักข่าวอิสรา , สำนักนโยบายและแผน สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ