Healthcare กับแรงหนุน M&A ร้อนแรง สู้ศึก Recession

Healthcare กับแรงหนุน M&A ร้อนแรง สู้ศึก Recession

แม้การลงทุนครึ่งปีหลัง 2022 การเผชิญต่อภาวะ Recession ดูเหมือนเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะปัญหาเงินเฟ้อรุนแรงกว่าหลายครั้งในอดีต ทำให้ธนาคารกลางต้องดำเนินนโยบายการเงินอย่างเข้มงวด แต่สถิติลงทุนตลอด 30 ปีที่ผ่านมา Healthcare สามารถต่อสู้ภาวะถดถดยได้

อัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นทั่วโลก กดดันให้ธนาคารกลางหลายประเทศจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการเงินให้เข้มงวดขึ้น เพื่อลดอัตราเงินเฟ้อภายในประเทศให้เป็นไปตามเจตนารมย์ของธนาคารกลางที่ต้องควบคุมเสถียรภาพด้านราคา อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นมักมาพร้อมกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว หรืออาจเกิดภาวะถดถอย (Recession) หากอัตราเงินเฟ้อสูงเกินกว่าที่เศรษฐกิจจะรับได้ 

จากสถิติของศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) สรุปข้อมูลอัตราเงินเฟ้อของประเทศสหรัฐอเมริกาในอดีตที่ผ่านมาไว้ว่า หากอัตราเงินเฟ้ออยู่สูงเกินกว่า 4% การเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อมักตามมาด้วยเศรษฐกิจถดถอยเสมอ คิดเป็น 8 ใน 11 ครั้งของแนวโน้มนโยบายการเงินเข้มงวด หากเราเทียบเคียงกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่อัตราเงินเฟ้อ (CPI) ของสหรัฐฯ เดือนมิถุนายน ยังสูงทำสถิติใหม่ต่อเนื่องที่ +9.1% YoY ประกอบกับตัวเลขชี้นำการเติบโตของเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น ดัชนีฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของสหรัฐฯ ก็ชะลอลงต่อเนื่องสู่จุดต่ำสุดในรอบ 2 ปี ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าในอีก 12 เดือน หรือ 24 เดือนข้างหน้าจะเกิด Recession ที่ราว 40% และ 98% ตามลำดับ ดังนั้น ด้วยความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่ยังไม่แน่นอนอาจเป็นจังหวะที่ดีสำหรับการปรับพอร์ตลงทุน โดยเลือกบริษัทที่ยังมีพื้นฐานแข็งแกร่งยามเศรษฐกิจถดถอย เช่น อัตรากำไรยังเติบโตได้โดดเด่น สวนทางกับภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแออย่างกลุ่ม Healthcare เป็นต้น

สถิติที่เป็นรูปธรรมที่สุดในการบ่งบอกว่ากลุ่ม Healthcare มีอัตรากำไรเติบโตโดดเด่นทุกสภาวะเศรษฐกิจ คือ ตลอด 30 ปีที่ผ่านมาที่มี 3 วิกฤตเศรษฐกิจใหญ่อย่าง Dot-com, Hamburger และ COVID-19 กำไรเฉลี่ยยังสามารถเติบโตได้ในช่วงวิกฤตถึง +7.8% ขณะที่หุ้นทั้งหมดใน S&P 500 กำไรลดลงถึง -25.5% และหากดูกำไรเฉลี่ยต่อปีตลอด 30 ปีของกลุ่ม Healthcare ก็สามารถเติบโตได้ถึงอันดับ 2 ที่ +10.2% เป็นรองแค่กลุ่ม IT ที่ +10.3% ซึ่งห่างกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และยังมีประเด็นเชิงบวกเสริมสำหรับกลุ่ม Healthcare ในปีนี้อีกด้วย เช่น กิจกรรมการควบรวมกิจการ (M&A) มากขึ้นหลังจากนี้ โดยมีแรงจูงใจหลักเพื่อลดผลกระทบประเด็นหน้าผาสิทธิบัตร (Patent Cliff) ของกลุ่มผู้ผลิตยาขนาดใหญ่ในกลุ่ม Healthcare อีกด้วย 

แผนภาพที่ 1 : การเติบโตของกำไรกลุ่ม Healthcare และ ดัชนี S&P 500 ของสหรัฐฯ ย้อนหลัง 30 ปี 

Healthcare กับแรงหนุน M&A ร้อนแรง สู้ศึก Recession

ที่มา: Bloomberg, TISCO Wealth Advisory 

โดย Pricewaterhouse coopers (PwC) ทำบทวิเคราะห์แนวโน้มการควบรวมกิจการในบทความ Pharmaceutical & Life sciences: Deals 2022 Midyear Outlook โดยระบุไว้ว่า แม้ครึ่งปีแรกของ 2022 มูลค่าการดำเนินการซื้อขายกิจการ (M&A) หรือการทำข้อตกลงการลงทุนต่าง ๆ ของธุรกิจการแพทย์มีมูลค่าเพียง 61.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ -58% YoY ชะลอตัวลงจากหลายปัจจัย ได้แก่ การสำรองเงินสดเผื่อไว้ลงทุนสำหรับการแสวงหาโอกาสลงทุนในตลาด COVID-19ตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลง ปัญหาด้านอุปทาน รวมทั้งเป็นผลมาจากความเข้มงวดในการซื้อขายกิจการที่มีมูลค่าสูงของคณะกรรมการการค้าของสหรัฐอเมริกา (FTC)

 

แต่ PwC เชื่อว่าการทำ M&A จะกลับมาคึกคักอีกครั้งในช่วงครึ่งปีหลังจาก 2 ปัจจัย คือ 1) เงินสดของบริษัทยาขนาดใหญ่ที่สำรองไว้สำหรับตลาด COVID-19 ยังมีอีกมาก โดยบริษัทวาณิชธนกิจ (Investment Banking) ที่เชี่ยวชาญกลุ่ม Healthcare อย่าง SVB Leerink ระบุว่า ธุรกิจยายังมีเงินสดมูลค่าถึง 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อควบรวมกิจการในปีนี้ และ 2) บริษัทยาขนาดใหญ่ต้องเร่งหาซื้อสินทรัพย์ (ยาต่าง ๆ ที่คิดค้นโดยบริษัทขนาดเล็ก แต่ยังอยู่ในช่วงการวิจัย) เพื่อต่อยอดรายได้หากยาเหล่านี้ผ่าน FDA ได้ เพราะบริษัทขนาดใหญ่กำลังเผชิญกับสภาวะ Patent Cliff ซึ่งส่งผลกระทบให้ยอดขายยาที่สิทธิบัตรหมดอายุจะลดลงอย่างฉับพลัน เพราะคู่แข่งสามารถเข้ามาผลิตแข่งกันเป็นจำนวนมากได้ ซึ่งในปี 2024 มีมูลค่ามากถึง 1.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และอาจเผชิญสภาวะนี้ไปจนถึงปี 2028 ซึ่งวิธีการควบรวมกิจการช่วยเกิดประโยชน์ทั้งผู้ขายที่จะได้เงินสดจากการขายหุ้นมาลงทุนในการวิจัยต่อและเพื่อสร้างมูลค่าการตลาด และสำหรับผู้ซื้อที่ช่วยหลีกเลี่ยง Patent Cliff และเป็นการแก้ปัญหาโดยใช้เวลาให้สั้นกว่าการคิดค้นยาด้วยตัวเองอีกด้วย 

สำหรับประโยชน์ของหุ้นที่ขายจากดีล M&A มักทำให้ราคาหุ้นปรับเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เช่น บริษัท Turning Point Therapeutics ผู้เชี่ยวชาญยารักษาโรงมะเร็งแบบมุ่งเป้าที่ราคาหุ้นปรับขึ้นถึง 118% จากการเข้าซื้อของ Bristol-Myers Squibb ด้วยมูลค่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ บริษัท Biohaven Pharmaceutical ปรับเพิ่มขึ้น 68% หลังการควบรวมกับบริษัท Pfizer ด้วยมูลค่า 11.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 

แม้ว่าการลงทุนในครึ่งปีหลังของปี 2022 นั้น การเผชิญต่อภาวะ Recession ดูเหมือนเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะปัญหาเงินเฟ้อในปีนี้รุนแรงกว่าหลายครั้งในอดีต ทำให้ธนาคารกลางจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการเงินอย่างเข้มงวดมาก แต่จากสถิติของการลงทุนตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ยังมีธุรกิจ Healthcare ที่สามารถต่อสู้ต่อภาวะ Recession ด้วยการพิสูจน์ตนเองว่า การเติบโตของกำไรอยู่เหนือกลุ่มอื่น ๆ ในทุกสภาวะเศรษฐกิจ ประกอบกับปัจจัยบวกเฉพาะตัวของธุรกิจ Healthcare ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ที่กลุ่มธุรกิจต้องวางแผนการหลีกเลี่ยง Patent Cliff นั้น นับเป็นโอกาสที่ดีไม่น้อยในการปรับพอร์ตเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในกลุ่ม Healthcare เพื่อสร้างกำไรต่อสู้กับ Recession หลังจากนี้

หากท่านใดมีข้อข้องใจเกี่ยวกับการวางแผนการเงินของตนเองสามารถส่งคำถามของท่านมาได้ที่[email protected]บทความโดยศิวกร ทองหล่อCFP®Wealth Managerธนาคารทิสโก้