"ประกันชีวิต" ชูสินค้า"สุขภาพ-โรคร้ายแรง-ยูนิตลิงค์" สู้ ดบ.ขาขึ้น

"ประกันชีวิต" ชูสินค้า"สุขภาพ-โรคร้ายแรง-ยูนิตลิงค์" สู้ ดบ.ขาขึ้น

“ธุรกิจประกันชีวิต” เตรียมพร้อมรับมือ “ดอกเบี้ย” ผันผวน ยันฐานะการเงินแข็งแกร่ง ปรับกลยุทธ์หันขาย “ประกันสุขภาพ-โรคร้ายแรง-ยูนิตลิงค์” เหตุไม่อ่อนไหวตามทิศทางดอกเบี้ยขึ้น-ลง   

นายอิฏฐ์ อภิรักษ์ติวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานผลิตภัณฑ์และกลยุทธ์ บริษัท พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานสัมมนาวิชาการ “ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นมีผลกระทบอย่างไรกับธุรกิจประกันชีวิต” ว่า การขยับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เป็นดอกเบี้ยระยะสั้น ดังนั้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจประกันชีวิตมากนัก เพราะธุรกิจประกันชีวิตโฟกัสที่ดอกเบี้ยระยะยาวมากกว่าและได้ปรับตัวรับกับภาวะดอกเบี้ยผันผวนก่อนหน้านี้ไปแล้ว  

อีกทั้ง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลธุรกิจประกันชีวิตของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ในปัจจุบันถือว่าช่วยเหลือภาคธุรกิจประกันชีวิตสามารถรองรับภาวะดอกเบี้ยผันผวนแล้ว เช่น การลดภาระการตั้งสำรองฯ ให้กับเท่ากับการเวนคืนกรมธรรม์

รวมถึงช่วงวิกฤติต่างๆ และโควิด 2 ปีที่ผ่านมา เป็นทดสอบอย่างหนัก แต่จะเห็นว่าธุรกิจประกันชีวิตไม่ได้รับผลกระทบมากนักเท่าอุตสาหกรรมอื่นๆ ขณะที่ในปีนี้แต่ละบริษัทมุ่งสร้างการเติบโตโฟกัสที่จุดแข็งของตัวเองมากขึ้น เช่น มุ่งเน้นขายผลิตภัณฑ์คุ้มครอง , จับกลุ่มลูกค้าเวลธ์ และขายผ่านช่องทางพันธมิตรอย่างธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น 

แต่อย่างไรก็ตามทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น เงินเฟ้อสูง และเงินบาทอ่อนค่ามากเกินไป มองว่า ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทางอ้อมในระยะข้างหน้าทำให้การบริโภคมีแนวโน้มชะลอตัวลงได้ แต่ยังเชื่อเศรษฐกิจไทยมีโอกาสฟื้นตัวจากการท่องเที่ยวและต่างชาติยังสนใจลงทุนในไทย

นายปาณัท สุทธินนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ว่า  ธุรกิจประกันชีวิตได้ปรับกลยุทธ์การออกผลิตภัณฑ์ หันเน้นการออกแบบประกันที่ไม่ได้รับกระทบจากภาวะดอกเบี้ยขึ้นหรือลง อย่างเช่น ประกันสุขภาพ ประกันโรคร้ายแรง และประกันควบการลงทุน (ยูนิตลิงค์) ที่ไม่ได้มีลักษณะการันตีผลตอบแทน ซึ่งยังมีโอกาสเติบโตสูง 

ส่วน ประกันสะสมทรัพย์ พบว่า ที่ผ่านมาธุรกิจประกันชีวิตได้ชะลอ หรือหยุดการขายแบบประกันสะสมทรัพย์ที่มีลักษณะการันตีผลตอบแทนลงไปมากแล้ว แต่บางช่วงเวลาอาจเห็นบางบริษัท หากต้องการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดและยังสามารถบริหารจัดการต้นได้ ก็จะออกแบบประกันสะสมทรัพย์ระยะสั้น ผลตอบแทนสูง แต่จำกัดการรับประกัน มูลค่าไม่เกิน 200-300 ล้านบาท ระยะไม่เกิน 7 ปี 

“ผลตอบแทน (IRR) สินค้าประกันชีวิต คงไม่หวือหวาเท่าในอดีต คาดระยะข้างหน้า IRR เฉลี่ย 1-1.5% จากปัจจุบัน 1-2%  แต่ประกันชีวิตก็ยังช่วยลูกค้าบริหารความเสี่ยงท่ามกลางตลาดผันผวนได้ ในช่วง 2 ปีมานี้ยังไม่พบการกู้ตามกรมธรรม์เพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ”