หวั่น "เฟด" ขึ้นดอกเบี้ยแรง ไซด์เอฟเฟกต์ สะเทือนถึงไทย

หวั่น "เฟด" ขึ้นดอกเบี้ยแรง ไซด์เอฟเฟกต์ สะเทือนถึงไทย

"เงินเฟ้อสหรัฐ" เดือน มิ.ย. แตะ 9.1% กดดันธนาคารกลางทั่วโลกกำลังขึ้นดอกเบี้ยรับมือ "เงินเฟ้อ" ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ "ประเทศไทย" ก็หนีไม่พ้น

นอกเหนือจาก "โควิด-19" ที่ยังระบาดระลอกแล้วระลอกเล่า จนกลายเป็นเรื่องน่ากังวลไม่มีวันจบสิ้น "เงินเฟ้อ" เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่เข้ามากวนใจ ชาวบ้านร้านตลาดอาจไม่เข้าใจความหมายว่า เงินเฟ้อคืออะไร

แต่สิ่งที่พวกเขาต้องเจอคือราคาสินค้าแพงขึ้นทุกวัน ขณะที่รายได้คงที่เท่ากับว่าเงินในกระเป๋าลดน้อยถอยลงไปโดยปริยาย สำหรับมหาอำนาจเศรษฐกิจเบอร์หนึ่งของโลกอย่างสหรัฐ เงินเฟ้อเดือน พ.ค.ที่ 8.6% ว่าสูงแล้วจนหลายคนคิดว่า "เงินเฟ้อสหรัฐ" น่าจะถึงจุดพีคเสียที ที่ไหนได้เจอตัวเลขเดือน มิ.ย. ปาเข้าไป 9.1% สูงสุดนับตั้งแต่สมัยรัฐบาล "ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน"

ตัวเลขเงินเฟ้อส่งผลไปถึงการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ นับตั้งแต่เดือน มี.ค. เฟดขึ้นดอกเบี้ยแบบไต่ระดับ จาก 0.25% เป็น 0.50% ในเดือน พ.ค. และ 0.75% ในเดือน มิ.ย. ที่มองกันว่าสูงแล้ว แต่พอเจอตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดเข้าไปตอนนี้เริ่มมีการคาดการณ์กันแล้วว่า  การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน "ธนาคารกลางสหรัฐ" (เอฟโอเอ็มซี) ในวันที่ 27-28 ก.ค. เฟดน่าจะขึ้นดอกเบี้ยถึง 1%

เรื่องแบบนี้อย่าคิดว่าเป็นไปไม่ได้ ดูอย่างธนาคารกลางแคนาดานั่นปะไร เมื่อวันพุธ (13 ก.ค.) ขึ้นดอกเบี้ยรวดเดียว 1% สู่ระดับ 2.5% เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ พร้อมเตือนว่าอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก ซึ่งครั้งนี้ธนาคารกลางแคนาดาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2541 และอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 2.5% ถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2551

กล่าวได้ว่า ธนาคารกลางทั่วโลกกำลังขึ้นดอกเบี้ยรับมือเงินเฟ้อ ยกเว้นธนาคารกลางจีนและญี่ปุ่นซึ่งยังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ส่วนสิงคโปร์ที่เคยขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว วานนี้ (14 ก.ค.) ประกาศใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินด้วยการปรับค่ากลาง (Re-centre the Mid-Point) ของกรอบอัตราแลกเปลี่ยนหรือที่เรียกว่า Nominal Effective Exchange Rate (NEER) เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ เรียกได้ว่าใครมียุทธศาสตร์อะไรก็งัดกันมาทุกเม็ดเพื่อกดเงินเฟ้อลงให้ได้ 

ที่อ้างมาสารพัดประเทศเพื่อเป็นอุทาหรณ์ว่า ประเทศไทยเองก็คงหนีไม่พ้นต้องขึ้นดอกเบี้ยเหมือนกัน ก็ต้องลุ้นการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในวันที่ 10 ส.ค. ซึ่งผลจะออกมาเป็นอย่างไรก็ต้องดูการประชุมเอฟโอเอ็มซีในเดือน ก.ค. นี้ ด้วยเหมือนกัน

เห็นได้ชัดว่าโลกทุกวันนี้นานาประเทศเกี่ยวข้องกันอย่างลึกซึ้งแยกจากกันไม่ได้ ส่วนประชาชนถ้าดอกเบี้ยสูงก็เจ็บ เงินเฟ้อสูงก็เจ็บ แต่ในเมื่อเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยอย่างไรให้ประชาชนเจ็บน้อยที่สุดเป็นสิ่งที่ผู้กำหนดนโยบายต้องคิด อะไรที่เป็นจุดแข็งหนุนเสริมเศรษฐกิจได้ก็ต้องทำ โควิดระลอกใหม่ป้องกันไม่ให้บานปลายได้หรือไม่ การท่องเที่ยวทำอย่างไรให้ชาวต่างชาติมั่นใจคนไทยปลอดภัย และที่สำคัญคือถ้าประชาชนต้องเจ็บเพราะขึ้นดอกเบี้ยก็ขอให้เจ็บแล้วจบ อย่าปล่อยให้เรื้อรังนาน