ไม่แทรกแซง 2:1 แต่ ‘ค่าแรง’ ต้องขึ้น

ไม่แทรกแซง 2:1 แต่ ‘ค่าแรง’ ต้องขึ้น

ครม. ไฟเขียวปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท/วัน ทั่วประเทศ นับเป็นการขึ้นค่าแรงรอบ 3 ภายในปี 2567 ท่ามกลางการคัดค้านของภาคเอกชนกว่า 200 องค์กร

ดูเหมือนเป็นข่าวดีของผู้ใช้แรงงาน ลูกจ้าง เมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) “เศรษฐา ทวีสิน” ไฟเขียวการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท/วัน ทั่วประเทศ นับเป็นการขึ้นค่าแรงรอบ 3 ภายในปี 2567 และจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้บังคับใช้ ก.ย. - ต.ค. 2567 ท่ามกลางการคัดค้านของภาคเอกชนกว่า 200 องค์กร ไม่ว่าจะเป็น หอการค้าไทย สภาองค์การนายจ้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง ค้าปลีก ค้าส่ง ผู้ประกอบการ SMEs ผู้ประกอบการรายย่อย แต่คงสู้แรงผลักดันทางการเมืองไม่ได้

ชัดเจนจากท่าที “ไพโรจน์ โชติกเสถียร” ปลัดกระทรวงแรงงาน หลังประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ครั้งที่ 5/2567 เมื่อวันที่ 14 พ.ค.ยืนยันว่าจะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ รอบ 3 แน่นอน และได้มอบให้คณะอนุกรรมการไตรภาคีแต่ละจังหวัดเสนอการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ว่าจะปรับขึ้นเท่าใด กิจการ ธุรกิจไหนพร้อมปรับบ้าง ภายใน 2 เดือนหลังจากนี้ ทั้งที่ควรต้องใช้อัตราเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ ที่จะออกมาในช่วงต้นเดือนก.ย.ประกอบการพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

ฝั่งนายจ้าง ได้ออกมาให้ข้อมูลว่า คณะกรรมกาารไตรภาคีดูเร่งรัด และเร่งรีบที่จะให้คณะอนุกรรมการไตรภาคีจังหวัดนำเสนอเร็วๆ ทั้งที่ข้อมูลอาจไม่เพียงพอ ซึ่งในที่ประชุมมีการเสนอว่าควรให้เก็บข้อมูลให้เป็นไปตามปกติ และให้ใช้สูตรคำนวณลอยตัวคณะอนุกรรมการไตรภาคีจังหวัดจะนำเสนอปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเท่าใดก็ได้ ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องกำหนดไว้ที่ 400 บาท เพื่อจะได้ไม่กระทบกลุ่มธุรกิจ SMEs ค้าปลีก ค้าส่ง ที่ปัจจุบันต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มขึ้น ทั้งค่าไฟ ค่าขนส่ง และมีการปรับค่าแรงไปแล้ว 2 รอบ หากปรับอีกรอบ พวกเขาคงไม่ไหว

ส่วนฝั่งลูกจ้าง ได้เสนอว่าถึงเวลาที่ต้องปรับค่าแรงขั้นต่ำแล้ว และแต่ละพื้นที่ บางกิจการต้องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมากกว่า 400 บาท เพราะขณะนี้ค่าครองชีพ ราคาสินค้าสูงมากขึ้น ผู้ใช้แรงงานต้องการให้รัฐบาลเข้ามาช่วยดูแลค่าแรงขั้นต่ำ และค่าครองชีพที่สูงขึ้น เพราะหลายคนมองว่าค่าจ้างขั้นต่ำปัจจุบันยังน้อย และเมื่อได้ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นก็จะซื้อสินค้า บริโภค อุปโภคดีขึ้น ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอีกด้วย

จะว่าไปแล้วการหารือร่วมของไตรภาคี ทั้งฝ่าย “ผู้ประกอบการ (นายจ้าง) ลูกจ้าง และหน่วยงานในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง” ยังคงต้องประเมินในหลายมิติ เพื่อกำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่เหมาะสม ที่สำคัญ นอกจากการปรับขึ้นค่าแรงแล้ว สิ่งที่ควรทำในตอนนี้ คือ การส่งเสริมมาตรการทางการเงิน และการอุดหนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้ผู้ประกอบการธุรกิจรายเล็กๆ และเสริมทักษะของลูกจ้างให้สอดคล้องกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำด้วย

ขณะเดียวกันภาครัฐ (ฝ่ายการเมือง) อาจต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ คำนึงถึงบริบทของการจ้างงาน และนายจ้างให้สอดคล้องกับฐานการผลิดให้เกิดความยืดหยุ่นในแต่ละอุตสาหกรรม เพราะหากฝ่ายการเมืองยืนยันที่ต้องปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศอย่างแน่นอน ก็ต้องให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้างอยู่รอดทั้ง 2 ฝ่าย เพราะหากนายจ้างอยู่ไม่รอด ลูกจ้างก็คงไม่รอดเช่นเดียวกัน และการเมืองก็คงได้รับผลกระทบ และที่กระทบมากที่สุดก็คือ ประชาชน จากของแพงและค่าแรงไม่เหมาะสม