TISCO ลุ้นสินเชื่อปี 65 พลิกบวกรอบ 4 ปี รุกปล่อยกู้รถมือสอง - จำนำทะเบียน

TISCO ลุ้นสินเชื่อปี 65 พลิกบวกรอบ 4 ปี รุกปล่อยกู้รถมือสอง - จำนำทะเบียน

แบงก์” คาด “สินเชื่อ” กลับมาเติบโตต่อ เหตุเศรษฐกิจส่งสัญญาณทยอยฟื้นตัว หลังภาครัฐผ่อนคลายมาตรการคุมโควิด-19 "ทิสโก้" ชี้สินเชื่อพลิกกลับมาโตในรอบ 4 ปี “บีบีแอล” ชี้เอสเอ็มอีเริ่มฟื้นตัว หลังลูกหนี้ในมาตรการกลับมาชำระหนี้ได้ 40%

       นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ (TISCO) กล่าวว่า ภาพรวมสินเชื่อธนาคาร (แบงก์) ปี 2565 คาดว่าสินเชื่อจะกลับมาบวกได้ในรอบ 4 ปี นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 แม้สินเชื่อรถใหม่ของธนาคารจะลดลง แต่การที่ธนาคารกลับมารุกสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ และสินเชื่อรถมือสอง

     ซึ่งส่งผลให้สินเชื่อเติบโตดีขึ้น เพราะทั้งสองกลุ่มเป็นกลุ่มที่มีไฮยีลด์มาร์จินสูง ดังนั้น แม้สินเชื่อจะบวกขึ้นไม่มาก แต่ผลตอบแทนถือว่าอยู่ในระดับที่ดี

     ดังนั้น คาดว่าผลประกอบการไตรมาส 2/65 และภาพรวมทั้งปี 65 แบงก์น่าจะรักษาการเติบโตของมาร์จินอยู่ในระดับเดิมได้ แม้สินเชื่อรถมือหนึ่งลดลง จากปัญหาซัพพลายเชนขาดแคลน

     “ภาพรวมวันนี้จะเป็นปีแรกที่สินเชื่อเราจะกลับมาเติบโตรอบ 4 ปี หลังจากเปิดประเทศ หลังเราหันไปรุกกลุ่มรถมือสอง และสินเชื่อจำนำทะเบียนมากขึ้น โดยเฉพาะจำนำทะเบียนที่เติบโตได้ดี เพราะคนขาดสภาพคล่อง แม้พอร์ตนี้จะไม่ได้มาก และหนุนสินเชื่อภาพรวมเราให้โตได้ปีนี้ แต่การโตก็ยังอ่อนๆ แต่เราสามารถรักษาการเติบโตของมาร์จินที่ระดับเดิมได้ ทำให้รายได้เราไม่ได้ลดลง”

       นายศิริเดช เอื้องอุดมสิน รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL กล่าวว่า หากดูแนวโน้มสินเชื่อเอสเอ็มอีของธนาคารถือว่าเริ่มมีการฟื้นตัวต่อเนื่อง หากเทียบกับที่ผ่านมา เพราะเริ่มมีเอสเอ็มอีบางส่วน เริ่มกลับมาชำระหนี้ได้มากขึ้น

     หลังธุรกิจกลับมาฟื้นตัว จากมาตรการผ่อนคลายโควิด-19 รวมถึงการเปิดประเทศ ทำให้ธุรกิจที่เคยอยู่ภายในมาตรการกลับมาฟื้นตัวได้

      โดยเฉพาะลูกหนี้กลุ่มที่เคยอยู่ภายใต้มาตรการทางการเงิน ซึ่งวันนี้กลับมาชำระหนี้ได้ 30-40% หากเทียบกับลูกหนี้ที่เคยอยู่ในมาตรการทั้งหมด

     ดังนั้น คาดว่าภาพรวมสินเชื่อเอสเอ็มอีปีนี้น่าจะเห็นการเติบโตได้มากขึ้น หากเทียบกับสิ้นปี 2564 แต่ถือว่าโตต่ำกว่า หากเทียบกับภาพรวมสินเชื่อแบงก์ที่คาดว่าจะเติบโตดีขึ้นต่อเนื่อง

     “ตอนนี้เอสเอ็มอีบางรายดีขึ้น แต่บางรายก็ยังไม่ดี เช่น ลูกหนี้ที่เคยอยู่ในมาตรการ วันนี้กลับมาชำระเงินได้ปกติ 30-40% ขณะที่ 60% ยังมีปัญหาอยู่ ดังนั้น ก็ต้องประคองกันไปก่อน”

       นายวิน พรหมแพทย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานลูกค้าไฮเน็ตเวิร์ธ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY กล่าวว่า แม้ธุรกิจธนาคารจะอ่อนไหวกับเศรษฐกิจ แต่ก็ยังเชื่อภาคธนาคารก็น่าจะสามารถประคองตัวเองได้

     ดังนั้นปีนี้กลุ่มธนาคารก็ยังเป็นกลุ่มที่ยังน่าสนใจ และจะเป็นกลุ่มที่ได้อานิสงส์จากการเติบโตของเศรษฐกิจได้ต่อเนื่อง

        ดังนั้น คาดภาพรวมสินเชื่อทั้งระบบแบงก์ปีนี้ น่าจะยังเติบโตได้ดีที่ราว 5% โดยเฉพาะธนาคารขนาดกลาง และธนาคารขนาดใหญ่ที่จะยังรักษาการเติบโตระดับดังกล่าวได้ 

     นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ภาพรวมสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา ยังเติบโตได้ดีระดับ 6.7%

     แม้จะชะลอจากไตรมาสแรกที่ขยายตัว 8.8% เพราะมีเรื่องฐานสูงเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่สินเชื่อยังเติบโตได้ หลักๆ มาจากความต้องการขอสินเชื่อหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น โดยขยายตัว 6.6% เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 ที่ผ่านมา 

     สะท้อนความต้องการเตรียมสภาพคล่องไว้เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในธุรกิจมากขึ้น ขณะเดียวกัน บางส่วนมีการขอสินเชื่อเพิ่มขึ้น สอดรับกับต้นทุนเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นทำให้ธุรกิจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน

      ส่วนสินเชื่อรายย่อยเติบโตทรงตัว 3.3% แต่สินเชื่อที่โตโดดเด่น คือ สินเชื่อบุคคล และสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน ที่อยู่ภายใต้กำกับ ธปท.เติบโตสูงที่ 35.4% มาอยู่ที่ 3.38 แสนล้านบาท จาก 3.13 แสนล้านบาท

     ส่วนหนึ่งมาจากครัวเรือนที่มีการขอกู้เพิ่มขึ้น จากการขาดสภาพคล่อง อีกทั้ง มาจากที่ธนาคารหันไปรุกการปล่อยกู้ผ่านออนไลน์ บุคคลบนดิจิทัลเพิ่มขึ้น เพราะกลุ่มนี้ถือว่าเป็นโปรดักต์ไฮยีลด์ให้กับแบงก์ทำให้เห็นการเติบโตของสินเชื่อต่อเนื่อง 

     แต่อย่างไรก็ตาม แม้สินเชื่อพีโลนจะขยายตัวได้ดี แต่สัดส่วนพอร์ตโดยรวมอยู่เพียง 2.2% เท่านั้น หากเทียบกับสินเชื่อแบงก์ทั้งหมด

      ส่วนภาพรวมปีนี้ คาดว่าสินเชื่อธุรกิจจะเติบโตได้ระดับ 5-6.5% ขณะที่รายย่อยที่คาดเติบโตได้ 3-4% ขณะที่พีโลนเติบโตได้ 12.5% ส่งผลให้ภาพรวมสินเชื่อของแบงก์ปีนี้คาดเติบโตได้ 4-5.5%

 

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์