เพิ่มช่องทางขายสินค้าเกษตร หนุนกลไกตลาดเงินสะพัด 2,410 ล้าน

เพิ่มช่องทางขายสินค้าเกษตร หนุนกลไกตลาดเงินสะพัด 2,410 ล้าน

กสก. ลุยช่วยเกษตรกร เพิ่มช่องทางขายสินค้า หนุนกลไกตลาดเงินสะพัด ปี 64-65 กว่า 2,410 ล้าน

กรมส่งเสริมการเกษตร เผยผลดำเนินงานช่วยเกษตรกรจำหน่ายสินค้าช่วงระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) โดยปี 2564-2565 เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบกว่า 2,410 ล้านบาท พร้อมประสานบริษัทขนส่งลดค่าบริการให้เกษตรกร และเดินหน้าขยายตลาดออนไลน์ เพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้เกษตรกร

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงมาตรการและผลการดำเนินงานช่วยเหลือเกษตรกรทั่วประเทศ ในการจำหน่ายและกระจายสินค้าการเกษตร ผ่านกิจกรรมส่งเสริมการตลาดด้านต่างๆ ในช่วงการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ระลอกใหม่ว่า การระบาดของโรคโควิด 19 ในห้วงเวลาที่ผ่านมา ส่งผลกระทบหลายอย่างกับห่วงโซ่การผลิตและการตลาดสินค้าเกษตร จึงได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตร เน้นการส่งเสริมการเกษตรโดยยึดหลักตลาดนำการผลิต โดยใช้เกษตรสมัยใหม่เชื่อมโยงกับกลไกตลาด เพื่อให้เกษตรกรและกลุ่มเกษตรกร มีการวางแผนการผลิตให้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และผลิตได้สอดคล้องกับปริมาณความต้องการสินค้าของตลาดอย่างสมดุลกัน เพื่อไม่ให้เกิดภาวะสินค้าล้นตลาด

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ผลจากการช่วยเหลือเกษตรกรในการกระจายสินค้าด้านการเกษตร ช่วงการระบาดโควิด 19 ระลอกใหม่ ทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบผ่านกิจกรรมส่งเสริมทางด้านการตลาดต่างๆ จำนวนมาก โดยในปี 2564 - 2565 มีมูลค่ารวมกว่า 2,410 ล้านบาท ประกอบด้วย 

1) ตลาดภายในพื้นที่ ทั้งตลาดสด ผู้ค้าส่ง ล้ง ลาน โรงสี โรงงาน และตลาดเกษตรกร 77 จังหวัด ซึ่งเป็นตลาดภายในพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมส่งเสริมการเกษตร มีมูลค่าการจำหน่ายรวมกว่า 390 ล้านบาท 

2) ตลาด Modern trade เป็นความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมการเกษตรกับบริษัท Lotus, Big C และ Makro เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้กับเกษตรกร แต่สินค้าทุกชนิดต้องผ่านมาตรฐาน GAP เกษตรอินทรีย์ หรือมาตรฐานตามที่ Modern trade กำหนด มีมูลค่าการจำหน่ายรวมกว่า 17 ล้านบาท 

3) ตลาดกลางค้าส่งขนาดใหญ่ เช่น ตลาดไท ทำให้เกษตรกรได้นำผัก ผลไม้ และพืชสมุนไพรเข้าไปขายจำนวนมาก มีมูลค่าการจำหน่ายรวม 1,670 ล้านบาท 

4) ตลาดเฉพาะกิจ เป็นกิจกรรมความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ รวมถึงภาคเอกชน เช่น บริษัทสุขสยาม The mall และบริษัทไปรษณีย์ไทยจำกัด เป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรได้พบผู้บริโภคที่หลากหลาย และปรับรูปแบบสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค เช่น จำหน่ายสินค้าในรูปแบบค้าส่งร่วมกับบริษัทไปรษณีย์ไทยจำกัด มีมูลค่ารวมทั้งหมดกว่า 12 ล้านบาท  5) การส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ โดยร่วมกับบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด บริษัท LAZADA Thailand และบริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด 

โดยได้วางแผนอบรมเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ จำนวน 600 ราย นอกจากนี้ยังได้ส่งเสริมและแนะนำให้เกษตรกรจำหน่ายสินค้าด้านการเกษตรผ่านทาง social media เช่น Facebook, Line, Line official, Instagram และกรมส่งเสริมการเกษตรได้พัฒนาเว็บไซต์ www.ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมเกษตรกรที่จำหน่ายผลผลิตการเกษตร มีผลประกอบการรวมมูลค่า 317 ล้านบาท และ 6) ตลาดช่องทางอื่นๆ เป็นการเพิ่มพื้นที่จำหน่ายให้กับเกษตรกร เช่น พื้นที่ตลาดนัดกรมส่งเสริมการเกษตร พื้นที่ตลาดนัดกรมวิชาการเกษตร พื้นที่โรงอาหารของศาลอาญารัชดา และการขายแบบ Preorder ในช่วงผลผลิตล้นตลาด เพื่อให้เกษตรกรเรียนรู้พฤติกรรมของผู้บริโภคในระดับต่างๆ มีมูลค่าการจำหน่าย รวมกว่า 3 ล้านบาท 

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า นอกจากเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าแล้ว ทางกรมส่งเสริมการเกษตร ยังได้สนับสนุนด้านการตลาดให้เกษตรกรหลายช่องทาง ได้แก่ 

1) การพัฒนาและปรับปรุงเว็บไซต์ www.ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com เพื่อให้เป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์การจำหน่ายสินค้าออนไลน์ของเกษตรกร และส่งเสริมให้เกษตรกรที่มีศักยภาพในการจำหน่ายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ สมัครเข้าจำหน่ายสินค้าออนไลน์ผ่าน แพลตฟอร์มต่างๆ เช่น Thailandpostmart.com, LAZADA, Shopee, DGTFarm Facebook, Line, Line Official และช่องทางออนไลน์อื่น ๆ 

2) การเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าด้านการเกษตร ร่วมกับหน่วยงานภาคีต่าง ๆ ที่มีการลงนามความร่วมมือระหว่างกัน 

3) ประสานความร่วมมือกับบริษัทขนส่ง เช่น บริษัท Kerry Express บริษัทขนส่ง Por Lor Express และบริษัท Grab เพื่อสนับสนุนเกษตรกรที่จำหน่ายสินค้าออนไลน์ เพื่อได้รับค่าขนส่งที่ถูกลงกว่าปกติ 

 4) พัฒนาแพลตฟอร์มการจำหน่ายสินค้าการเกษตร ตามนโยบาย เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้า โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกรแปลงใหญ่ที่มีศักยภาพไม่น้อยกว่า 200 แปลง ในการใช้และพัฒนาแพลตฟอร์มดังกล่าว