แบงก์ชาติ ส่งซิก ทบทวนมาตรการ ‘สินเชื่อฟื้นฟู - พักทรัพย์’ หมดเม.ย.66

แบงก์ชาติ ส่งซิก ทบทวนมาตรการ ‘สินเชื่อฟื้นฟู - พักทรัพย์’ หมดเม.ย.66

ธปท.เตรียมทบทวนมาตรการ “สินเชื่อฟื้นฟู - พักทรัพย์พักหนี้” ที่จะหมด เม.ย.66 หากสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ ชี้อยู่ระหว่าง แก้หลักเกณฑ์เงื่อนไขดูแลเงินบาท เหตุเกณฑ์ล้าสมัยใช้ตั้งแต่ปี 40 พร้อมเอื้อ ผู้ให้บริการทางการเงินให้บริการ “เฮดจิ้ง” กว้างขึ้น บนต้นทุนต่ำลง

      นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนา “ก้าวใหม่เศรษฐกิจการเงินภาคใต้ “ปรับกระบวนทัพรับกระแสโลก” ในหัวข้อ “ชีพจรเศรษฐกิจการเงินภาคใต้ และความท้าทายที่ต้องก้าวข้าม” หลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว นอกจากการปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ในด้านระบบการเงิน ก็ต้องปรับไปสู่ภาวะปกติเช่นเดียวกัน เพราะวันนี้สถานการณ์แบงก์เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว 
       ซึ่งเป็นที่มา ที่ธปท.มีการยกเลิกเงื่อนไขจ่ายเงินปันผลของธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) และเลิกลดเงินนำส่งเข้ากองทุนฟื้นฟู เพราะวันนี้แบงก์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แต่ยังมีบางจุดเปราะบาง และทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร 

       ดังนั้น อาจจะมีบางจุดที่ ธปท.ต้องคงมาตรการไว้ เช่น สินเชื่อฟื้นฟู มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ ที่จะมีอยู่อย่างน้อยถึง เม.ย.ปีหน้า แต่พวกนี้ต่อมาตรการได้ หากมีความจำเป็น รวมถึงมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน 3 ก.ย.ที่จะหมดสิ้นปี 2566 ดังนั้นสิ้นปีหน้าต้องมาดูอีกครั้งว่ามาตรการนี้จำเป็นอีกหรือไม่
      “เราทำงานแบบเน้นผล ไม่ได้เน้นยิงพลุ ไม่สักแต่ออกมาตรการที่มีสีสัน แต่เน้นทำให้มาตรการที่มีอยู่เกิดประสิทธิภาพ ทำให้เราทำงานกับแบงก์ใกล้ชิด ตอนสินเชื่อฟื้นฟู มีการเซตเป้า 6 เดือนให้ออกไป 1 แสนล้าน ท้ายที่สุดใช้เวลาแค่ 4 เดือน ดังนั้นมาตรการเรามีอยู่เยอะ แต่ปัญหาคือ การจัดการ อยากให้มั่นใจว่า มาตรการที่มีอยู่เพียงพอ แต่ต้องจัดการให้เดินได้ และใช้อย่างเต็มที่ ซึ่งเราเชื่อว่าจะครอบคลุมกลุ่มเปราะบางได้พอสมควร”


      หากดูสถานการณ์เงินบาท ในเร็วๆ นี้ เงินบาทอ่อนค่าที่สุดในรอบ 7 ปี หลักๆ มาจากปัจจัยภายนอกคือ ค่าเงินดอลลาร์แข็งเป็นหลัก และหากดูภาพรวม การอ่อนค่าของเงินบาท ถือว่ายังอยู่ระดับกลาง หรือค่อนไปทางสูง หากเทียบกับค่าเงินในภูมิภาค

       ทั้งนี้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าที่ 11-12% แต่เงินบาทอ่อนค่าเพียง 7% ดังนั้นก็ไม่ได้อ่อนค่ามากนัก มีสกุลเงินอื่นๆ ที่ยังอ่อนค่ามากกว่าเงินบาท เช่น เยน,วอน,เปโซ  ซึ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นกลไกตลาดที่เมื่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้น เงินบาทจะอ่อนค่า หรือดอลลาร์อ่อนค่า เงินบาทจะแข็งค่า ดังนั้น ธปท.ก็มีข้อจำกัดในการเข้าไปดูแล

       “เงินบาท เราเทียบดอลลาร์ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า เราจะไปควบคุม หรือกำหนดทิศทางของราคาดอลลาร์ได้สักแค่ไหน ก็อาจเริ่มเห็นข้อจำกัด แม้ว่าจะทำได้ระดับหนึ่ง สิ่งที่เราทำได้คือ ให้เป็นไปตามกลไกของตลาด แต่สิ่งที่เราไม่อยากเห็นคือ การปรับตัวเร็วเกินไป ผู้ส่งออก ผู้นำเข้าอาจยากลำบากในการปรับตัว เพราะสัดส่วนผู้ส่งออก และผู้นำเข้าที่ทำป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (เฮดจิ้ง) ค่อนข้างต่ำ เราจึงไม่อยากเห็นการเคลื่อนไหวเร็วเกินไป”

เร่งลดเงื่อนไขเกี่ยวกับ “เงินบาท”

   นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า  หากดูด้านเงินทุนเคลื่อนย้าย ปัจจุบัน ธปท.ไม่เห็นการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่มหาศาล หรือผิดปกติ ดังนั้นการอ่อนค่าของค่าเงินบาท มาจากดอลลาร์เป็นหลัก

     แต่หากมองข้างหน้า โอกาสค่าเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าได้ หากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มเปลี่ยนไป ทำให้การคาดการณ์การทำนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปลี่ยนไป ดังนั้นค่าเงินเหล่านี้แกว่งตัวตลอด และการทำเฮดจิ้งเป็นสิ่งเหมาะสม

     อย่างไรก็ตาม นอกจาก ธปท.พยายามดูแลเงินบาทไม่ให้มีการเคลื่อนไหวเร็ว หรือมากเกินไปแล้ว อีกด้านที่กำลังทำในปัจจุบันคือ การปรับเรื่อง Regulatory framework หรือการออกหลักเกณฑ์การกำกับต่างๆ ที่เกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยน ให้สะดวกสบายขึ้น ลดเงื่อนไขต่างๆ ลง

     เพราะยอมรับว่า กรอบกฎหมาย กฎระเบียบในปัจจุบัน มีความอนุรักษนิยมพอสมควร เพราะหลายอย่างมาจาก ปี 2540 ตอนที่ประเทศขาดเงินตรา ที่มีการวางกฎเกณฑ์ให้เงินเข้าง่าย แต่ออกยาก แต่วันนี้บริบทเปลี่ยนไป

       ดังนั้นการ จึงอยากให้ Regulatory framework ให้สอดคล้องกับปัจจุบันมากขึ้นอีกระดับไม่ใช่เอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งถือเป็นอีกเรื่องที่ ธปท.พยายามปรับ

เอื้อทำเฮดจิ้งกว้างขึ้น

     นอกจากนี้ ธปท.มีแผนปรับที่เกี่ยวกับ Service provider landscape หรือผู้ให้บริการด้านการเงิน โดยอยากให้การบริการทางการเงินในการทำด้านเฮดจิ้ง (ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน) กว้างขวางขึ้น ในราคาต้นทุนที่ถูกลงกว่าเดิม

     เพราะปัญหาหรืออุปสรรคที่หลายคนไม่ทำเฮดจิ้งเพราะต้นทุนการทำเฮดจิ้งสูงเกินไป ดังนั้นแนวทางเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ ธปท.กำลังจะไป

      ทั้งนี้หากดูสถานการณ์ในปัจจุบันศรษฐกิจไทยมีทิศทางดีขึ้น แต่ก็มีบางด้านที่เป็นความเสี่ยงมากขึ้น

     โดยด้านแรกคือ เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ไม่เร็วเหมือนที่อยากเห็น แต่ก็เป็นการ Recovery เห็นได้จากภาพรวมเศรษฐกิจไตรมาสแรก ที่ออกมา และคาดจะดีต่อเนื่องในไตรมาส 2 ปีนี้ จากอุปสงค์ในประเทศ การบริโภคยังเติบโตต่อเนื่อง บวกกับรายได้คนปรับตัวดีขึ้นจากช่วงแรกของโควิด-19 ที่ติดลบ ขณะที่รายได้ภาคเกษตร ถือว่าเติบโตได้ดี เหล่านี้ช่วยให้การฟื้นตัวเศรษฐกิจเกิดความต่อเนื่อง

     ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการปรับจีดีพีของ ธปท.เพิ่มขึ้น ปีนี้ที่ 3.3% และปีหน้ากว่า 4% แต่ที่ไม่ดีคือ ปัญหาจากเงินเฟ้อ ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ล่าสุด มิ.ย.ออกมากว่า 7% สูงกว่ากรอบเงินเฟ้อของ ธปท.ที่ 1-3% พอสมควร

เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อ

    นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ภาพเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวต่อเนื่อง เช่นเดียวกับเศรษฐกิจภาคใต้ที่มีแรงงานในภาคเกษตร 40% ภาคท่องเที่ยว 20%

   ดังนั้นหากภาพรวมดีขึ้น ก็มีส่วนทำให้เศรษฐกิจภาคใต้ฟื้นตัวได้เช่นเดียวกัน ภายใต้การคาดการณ์ว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 6 ล้านคนปีนี้ โดยคาดเฉลี่ยนักท่องเที่ยวเฉลี่ย 3 หมื่นคนต่อวัน ดังนั้นหากมีอัพไซด์ นักท่องเที่ยวอาจได้ถึง 8 ล้านคน และทุก 1 ล้านคน จะช่วยเพิ่มจีดีพีได้ 0.4%

     ทั้งนี้โจทย์ใหญ่ของประเทศ ในปัจจุบัน คือ เรื่องของเงินเฟ้อ ภายใต้ตัวเลขครัวเรือน เอสเอ็มอีที่มีความเปราะบาง ดังนั้นหน้าที่หลักของ ธปท.คือ การดูแลเสถียรภาพด้านราคา เสถียรภาพเศรษฐกิจ และระบบการเงิน โดยเฉพาะการดูแลด้านเสถียรภาพราคาที่เป็นหัวใจสำคัญ เพราะหากไม่สามารถดูแลด้านราคาได้ ตัวอื่นๆก็อาจควบคุมดูแลไม่ได้ด้วย

      โดยหากดูด้านเสถียรภาพด้านราคา ปัจจุบัน ธปท.ใช้กรอบเงินเฟ้อยืดหยุ่น 1-3% แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เงินเฟ้อจะอยู่ในกรอบเป้าหมายทุกเวลา เพราะบางช่วงอาจหลุดกรอบไปบ้าง แต่โดยรวมอยากให้อยู่ในกรอบได้ในระยะยาว ดังนั้นเงินเฟ้อ ถือเป็นประเด็นสำคัญที่ กนง.ให้น้ำหนักมากขึ้น จากบริบทของเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป และมีการฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น

     ดังนั้นหน้าที่ของ ธปท.คือ การยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อ อย่าให้หลุดกรอบ และต้องให้มั่นใจว่า เครื่องยนต์เงินเฟ้อไม่ติด และไม่ทำให้การคาดการณ์เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะหากยังเพิ่มขึ้น อาจส่งผลไปสู่การส่งผ่านไปสู่การเพิ่มขึ้นของค่าแรง ต้นทุน การผลิต เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่ง การดูแลกรอบเงินเฟ้อ โดยการขึ้นดอกเบี้ยยามที่จำเป็น เพื่อดูแลเงินเฟ้อก็เป็นเครื่องมือหนึ่ง

นโยบายการเงินต้องทำให้ ศก.ฟื้น

     นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า การดำเนินนโยบายการเงิน โจทย์ของ กนง.ไม่ใช่ซอฟท์แลนดิ้ง แต่ต้องทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยสมูท และเทคออฟไม่สะดุด ซึ่งการทำนโยบายการเงินต้องค่อยเป็นค่อยไป โดยการถอนคันเร่ง ไม่ใช่เหยียบเบรก

    อันนี้ก็เป็นหน้าที่ของ กนง.คือ การปรับนโยบายการเงิน และการดูแลเสถียรภาพทางการเงิน ระบบสถาบันการเงิน ให้กลับมาสู่ระดับปกติ เพราะหากไม่ปรับ ก็อาจมีผลข้างเคียงที่อาจสร้างความเสียหายเกิดขึ้นได้ เงินเฟ้อก็อาจเพิ่มขึ้นสูง ทำให้คนเดือดร้อนคือ กลุ่มเปราะบาง

    “ไม่เถียงว่า หากบ้านเราดอกเบี้ยขึ้น กระทบทั้งครัวเรือน และภาคธุรกิจที่มีหนี้สูง แต่หากเงินเฟ้อเพิ่มกระทบเขาหนักกว่า ค่าครองชีพเพิ่มผลกระทบต่อครัวเรือนหนักกว่า ผลกระทบภาระหนี้ จากดอกเบี้ยขึ้น”

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์