“กสิกรไทย” รุกดิจิทัล “แสนล้าน” ขยายโอกาสให้ใช้บริการแบงก์เต็มประสิทธิภาพ

“กสิกรไทย” รุกดิจิทัล “แสนล้าน” ขยายโอกาสให้ใช้บริการแบงก์เต็มประสิทธิภาพ

“กสิกรไทย” รุกดิจิทัล “แสนล้าน” ขยายโอกาสให้ใช้บริการแบงก์ได้เต็มประสิทธิภาพ เร่งลงทุน-ซื้อกิจการเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี

ที่ผ่านมาคงได้เห็น “ธนาคารพาณิชย์” ทั้งในและต่างประเทศ ปรับตัวเป็น “ดิจิทัลแบงก์” กันมาระยะหนึ่งแล้ว! สาเหตุหลักก็เพื่อที่จะปรับการบริการให้เข้ากับผู้บริโภค “ยุคใหม่” ที่เป็น Gen Y หรือ Gen Z แต่ก็ยังรู้สึกว่าแบงก์จะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หรือให้บริการก็ยังไม่ทันใจ อีกทั้งกระบวนการสมัครก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่คาดหวัง ถือเป็นความท้าทายที่ธุรกิจจะต้องอ่านโจทย์ล่วงหน้าให้ออก

และหนึ่งในธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ของเมืองไทย ที่เป็น “ผู้นำ” ทางด้านเทคโนโลยีอย่าง ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เร่งเดินหน้าประกาศโครงการเชิงกลยุทธ์ครั้งใหม่ มูลค่านับ “แสนล้านบาท” ด้วยการมุ่งขยายโอกาสการเข้าถึงบริการธนาคารให้กับคนไทย และเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก ที่ยังไม่เคยเข้าถึงบริการธนาคาร หรืออาจจะเข้าถึงบริการของธนาคารแล้วแต่ยังไม่เต็มประสิทธิภาพ

สะท้อนผ่านแผนการเร่งลงทุนในเทคโนโลยีต่างๆ การซื้อกิจการ (M&A) ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี การผนึกกำลังพาร์ทเนอร์เพื่อเป็นการยกระดับองค์กรไปอีกขั้น รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการขยายโอกาสการเข้าถึงบริการธนาคารให้กับประชาชนในสังคมวงกว้างมากยิ่งขึ้น

“กสิกรไทย” รุกดิจิทัล “แสนล้าน” ขยายโอกาสให้ใช้บริการแบงก์เต็มประสิทธิภาพ

ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เล่าให้ฟังว่า กสิกรไทย กำลังหลอมรวม “ดีเอ็นเอ” ความเป็น “ชาเลนเจอร์แบงก์” (Challenger Bank) ในปัจจุบันที่ประสบความสำเร็จแล้ว เพื่อเข้ามาพลิกโฉมการให้บริการของกสิกรไทยด้วยรูปแบบการปรับการทำงานให้เรียบง่าย รวดเร็ว เพิ่มความสามารถในการประเมินศักยภาพการชำระหนี้ของลูกค้ารายย่อยได้อย่างรอบด้านมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะสามารถช่วยคนที่อาจจะยังเข้าไม่ถึงบริการของธนาคาร ให้สามารถเข้าถึงบริการได้มากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของกสิกรไทย

ทุกวันนี้กสิกรไทยมีจุดแข็งที่ไม่เป็นรองใคร มีความมั่นคง-เชื่อถือได้ มีขีดความสามารถตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่มตามแบบฉบับของธนาคารในปัจจุบัน แต่สิ่งที่เราเร่งทำอยู่คือ การหลอมรวมเอาดีเอ็นเอของชาเลนเจอร์แบงก์ที่ประสบความสำเร็จ และเริ่มเข้ามาดิสรัปการเงินการธนาคารให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งความเป็นกสิกรไทย

โดยปัจจุบัน ชาเลนเจอร์แบงก์ ถือเป็นปรากฏการณ์ที่เขย่าวงการธนาคารระดับโลก ซึ่งท้าทายธนาคารแบบปัจจุบันมาก และด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาทำให้ประชาชนเข้าถึงผลิตภัณฑ์ของธนาคารได้มากขึ้น ในขณะเดียวกันชาเลนเจอร์แบงก์ยัง “ดึงดูดลูกค้า” ในปัจจุบัน ให้มาใช้บริการชาเลนเจอร์แบงก์เพิ่มมากขึ้น โดยชาเลนเจอร์แบงก์สามารถ “กำจัด” กระบวนการที่ยุ่งยากซับซ้อน มอบการให้บริการที่รวดเร็วกว่า ใช้งานง่ายกว่า และสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นการตอบโจทย์ลูกค้ายุคใหม่ได้

ดังนั้น กสิกรไทย กำลังมองตัวเองว่าเป็นธนาคารที่มีความเป็นชาเลนเจอร์แบงก์แห่งแรกของไทยด้วยการนำเอาดีเอ็นเอของชาเลนเจอร์แบงก์เข้ามาผสานในการให้บริการ และมีความมุ่งหวังที่จะเป็นธนาคารที่เกื้อหนุน ส่งพลังให้กับ “คนรุ่นใหม่” ที่เต็มไปด้วยความสามารถและพลังสร้างสรรค์ ให้เข้าถึงผลิตภัณฑ์การเงินและคำแนะนำของธนาคารได้มากยิ่งขึ้น

เราต้องการให้สินเชื่ออย่างกว้างขวางขึ้น โดยที่ผู้กู้ที่กล่าวถึงข้างต้นไม่จำเป็นต้องมีทรัพย์สินมาค้ำประกัน และให้กู้โดยอยู่บนพื้นฐานการประเมินความสามารถ และความตั้งใจที่จะชำระคืนเงินของผู้กู้ เราต้องการที่จะทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้นสำหรับทุกคน

ทั้งนี้ จากการที่กสิกรไทยเร่งเครื่องโครงการเชิงกลยุทธ์ด้วยเงินลงทุนก้อนใหญ่สิ่งที่จะได้ประโยชน์คือ การนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาใช้ได้เต็มกำลังขึ้นไปอีก โดยเฉพาะความสามารถและความตั้งใจในการชำระคืนเงินของ “ผู้กู้” อย่างครบรอบด้านมากยิ่งขึ้น

“กสิกรไทย” รุกดิจิทัล “แสนล้าน” ขยายโอกาสให้ใช้บริการแบงก์เต็มประสิทธิภาพ

“ขัตติยา” แจกแจงแผน “ลงทุน” ทั้ง “เทคโนโลยีใหม่-ความร่วมมือ-การซื้อกิจการ” ว่า ในระหว่างปี 2565-2567 ธนาคารกสิกรไทย จะใช้เงินลงทุนระบบต่างๆ และเทคโนโลยีใหม่ๆ ประมาณ 22,000 ล้านบาท จากเดิมที่ลงทุนไปแล้ว 12,700 ล้านบาท ตลอดสองปีที่ผ่านมา และในปี 2566 (หรือในอีก 12 เดือนข้างหน้า) คาดธนาคารกสิกรไทยจะปิดดีลซื้อกิจการและความร่วมมือเชิงพาณิชย์กับกิจการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีจำนวน 2-5 ดีลโดยใช้เงินลงทุน 30,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม มองว่า การลงทุนจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของธนาคารกสิกรไทยขึ้นอีกมหาศาล และจะทำให้สามารถเดินหน้าสานต่อภารกิจให้บรรลุผลสำเร็จในการขยายโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงิน รวมถึงการผสานเอาดีเอ็นเอของความเป็นชาเลนเจอร์แบงก์เข้าไปในองค์กรแห่งนี้ด้วย

รวมทั้ง ธนาคารกสิกรไทยได้เริ่มทดลองนำระบบและขั้นตอนกระบวนการแบบใหม่ๆ มาใช้แล้วมากมายหลายอย่าง เพื่อเตรียมพร้อมเดินหน้าโครงการเชิงกลยุทธ์เต็มกำลัง สะท้อนผ่านประชาชนทั่วไปสามารถเปิดบัญชีใหม่ผ่านทางออนไลน์ ได้อย่างครบถ้วนทุกขั้นตอน โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีสำหรับลูกค้าปัจจุบัน และใช้เวลา 24-72 ชั่วโมง สำหรับลูกค้าใหม่ที่ต้องยืนยันตัวตน โดยผู้ที่มีบัญชีกับธนาคารสามารถสมัครขอสินเชื่อบุคคลรอการพิจารณา และหากได้รับการอนุมัติ เงินกู้จะถูกโอนเข้าบัญชีภายในไม่ถึง 30 นาที

สำหรับ การพลิกโฉมที่เกิดขึ้นเป็น “ครั้งแรก!” สะท้อนภาพปัจจุบันธนาคารกสิกรไทยกำลังบุกเบิกเรื่องการปล่อยสินเชื่อเฉพาะทาง ที่เรียกว่า buy-now-pay-later ให้กับผู้ที่ทำงานอิสระ หรือไม่มีเอกสารยืนยันรายได้ โดยจะพิจารณาอนุมัติจากข้อมูลอื่นๆ แทน ซึ่งปัจจุบันอนุมัติสินเชื่อเฉลี่ย 1,600 รายต่อวัน มีวงเงินสินเชื่อโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1,500 บาท และสูงสุด 20,000 บาท ในบางราย

“กสิกรไทย” รุกดิจิทัล “แสนล้าน” ขยายโอกาสให้ใช้บริการแบงก์เต็มประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ กสิกรไทย ยังได้นำร่องทดลองวิธีการต่างๆ ที่จะทำให้การขอสินเชื่อเป็นธรรมมากขึ้นสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กๆ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการผสานเอาความเป็นชาเลนเจอร์แบงก์เข้ามาในองค์กร เนื่องจากมีผู้คนจำนวนมากในกลุ่มผู้ประกอบการดังกล่าว เป็นผู้ที่ไม่มีเอกสารหลักฐานการเงินทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อธนาคารได้ และถูกบังคับให้ต้องหันไปหาเงินกู้จากแหล่งอื่นๆ ที่มีดอกเบี้ยแพงแทน

ทั้งนี้ หนึ่งอุปสรรคสำคัญในการขอสินเชื่อสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย รวมไปถึงกลุ่มอาชีพอิสระไม่ว่าจะรายได้สูงหรือต่ำ นั่นคือ ไม่มีเวลาไปติดต่อใช้บริการที่สาขาธนาคาร หรืออาจจะรู้สึกไม่สบายใจที่จะเข้าไปติดต่อขอใช้บริการ ดังนั้น เพื่อให้คนกลุ่มดังกล่าวเข้ามาในระบบธนาคารง่ายขึ้น จึงได้ร่วมมือกับ “แอปพลิเคชัน LINE” ซึ่ง กสิกรไทย ถือเป็นธนาคารเดียวในไทยที่ให้บริการธนาคารผ่านโชเชียลมีเดีย แม้ในกรณีที่ผู้ขอสินเชื่อไม่มีบัญชีธนาคาร แต่ LINE BK ก็เปิดโอกาสให้สมัครขอสินเชื่อได้ โดยรู้ผลอนุมัติภายใน 24 ชั่วโมง และถ้าเป็นผู้ที่มีบัญชีเงินฝากกับธนาคารกสิกรไทยอยู่แล้ว จะสามารถสมัครขอสินเชื่อและรู้ผลการอนุมัติได้ภายในเวลาไม่ถึง 5 นาที

จากฐานข้อมูลในปัจจุบันพบว่า ในจำนวนผู้ขอสินเชื่อผ่านบริการ LINE BK ในแอปพลิเคชัน LINE ทั้งหมด มีถึงหนึ่งในสามเป็นผู้ที่เพิ่งเคยได้รับเงินกู้จากธนาคารเป็นครั้งแรกในชีวิต เกือบครึ่งหนึ่งของทั้งหมด เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ ประมาณครึ่งหนึ่งมีรายได้ไม่ถึง 15,000 บาทต่อเดือน และเกือบ 80% อาศัยอยู่ในต่างจังหวัด โดยคาดว่าปีนี้บริการผ่าน LINE BK จะช่วยคนถึง 200,000 คน ให้ได้รับสินเชื่อครั้งแรกจากธนาคาร และด้วยบริการ LINE BK คาดว่าจะมีลูกค้ารายย่อยรวมถึงธุรกิจขนาดเล็กได้รับสินเชื่อจำนวนกว่า 600,000 ราย รวมวงเงินประมาณ 20,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ธนาคารกสิกรไทย ยังอยู่ในระหว่างการเจรจากับกลุ่มค้าปลีก เพื่อนำเสนอช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อธุรกิจขนาดย่อมให้แก่ผู้ประกอบการร้านค้าปลีกขนาดเล็กของครอบครัวในต่างจังหวัด โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน นอกจากนั้น ธนาคารกสิกรไทยยังตั้งเป้าจะปล่อยสินเชื่อรายย่อยแก่ลูกค้าของร้านค้าดังกล่าวอีกด้วย

ท้ายสุด “ขัตติยา” บอกไว้ว่า สิ่งที่ กสิกรไทย ดำเนินการจะสามารถช่วยให้คนธรรมดา คนที่ประกอบอาชีพอิสระ รวมทั้งธุรกิจที่มีขนาดเล็กมากๆ สามารถที่จะก้าวเข้าสู่ระบบธนาคาร และยังสามารถช่วยหลายคนให้หลุดพ้นจากวงจรหนี้นอกระบบที่คิดดอกเบี้ยแพงถึงปีละมากกว่า 200% อีกด้วย