“สินิตย์”โวผลงาน 1 ปี ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก

“สินิตย์”โวผลงาน 1 ปี  ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก

“สินิตย์” แถลงผลงาน 1 ปี ขับเคลื่อนงานที่รับผิดชอบ 5 ด้านตามนโยบาย “จุรินทร์” สำเร็จตามเป้าทุกด้าน ทั้งการสร้างความเข้มแข็งผู้ประกอบการ กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ขยายโอกาสทางการตลาดแก่ผู้ประกอบการ การช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพ และการอำนวยความสะดวกภาคธุรกิจและประชาชน

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการทำงานในช่วง 1 ปีว่า ได้ดำเนินการตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ตามนโยบายเร่งด่วน 14 ข้อของกระทรวงพาณิชย์ โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบ   3  กรม ได้แก่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญา และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และ 3 องค์การมหาชน ได้แก่ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย และสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา

การทำงานที่ผ่านมาสามารถขับเคลื่อนการทำงานให้เป็นไปตามนโยบายและประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย   สามารถแก้ไขปัญหาเร่งด่วนได้หลายเรื่องโดยมีผลการดำเนินงานใน 5 ด้านหลัก ได้แก่ 1.ด้านการสร้างความเข้มแข็งผู้ประกอบการ ได้เน้นการนำเทคโนโลยีมาช่วยยกระดับธุรกิจลดต้นทุน เช่น การส่งเสริมธุรกิจโลจิสติกส์สู่มาตรฐาน ISO 9001 ซึ่งช่วยได้แล้ว 1,338 ราย การผลักดันร้านอาหาร Thai SELECT ได้แล้วกว่า 1,000 ร้าน การส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า การคุ้มครองและช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ถูกละเมิดในต่างประเทศ การเร่งพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับการผลักดันให้เกษตรกร ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จาก FTA ในการทำตลาดต่างประเทศ

2.ด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ได้ผลักดันการจัดตั้งชุมชนอัจฉริยะออนไลน์ทั่วประเทศ จัดให้มีแพลตฟอร์มกลาง “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด”สร้างโอกาสให้ผู้ซื้อและผู้ขายสินค้าเกษตรมาพบกัน ในรูปแบบ B2B ยกระดับสินค้าชุมชนและเพิ่มมูลค่าด้วย สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ จีไอ (GI) ปัจจุบันขึ้นทะเบียนครบทุกจังหวัดแล้ว 158 สินค้า สร้างมูลค่าตลาดมากกว่า 4.2 หมื่นล้านบาทส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทยต่อยอดมูลค่าเชิงพาณิชย์ โดยจัดงานทั้งรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ สร้างมูลค่ามากกว่า 176 ล้านบาท

3.ด้านการขยายโอกาสทางการตลาดแก่ผู้ประกอบการโดยได้ผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ (FTA)ฉบับต่าง ๆ โดยเฉพาะความตกลง RCEP   สร้างความเชื่อมั่นคู่ค้า ด้วยการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและจัดพิธีทำลายของกลางกว่า 6 แสนชิ้น มูลค่าความเสียหายกว่า 500 ล้านบาท ส่งผลให้สหรัฐฯ ประกาศไทย  ไม่มีตลาดละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทั้งออฟไลน์และออนไลน์ และคงให้ไทยอยู่ในบัญชี Watch List – WL

4.ด้านการช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพ โดยการจัดกิจกรรมช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยและลดค่าครองชีพประชาชน เช่น กิจกรรม “ซื้อง่าย ถูกใจ ใกล้ชุมชน” จำหน่ายสินค้าราคาประหยัดผ่านร้านค้ากองทุนหมู่บ้านกว่า 3,500 แห่งทั่วประเทศ ร่วมมือกับโมเดิร์นเทรด อาทิ เอ็มบีเค ท้อปส์มาร์เก็ต และตลาดจริงใจฟาร์มเมอร์มาร์เก็ต ในเครือเซ็นทรัล เปิดพื้นที่จำหน่ายสินค้า GI ผลักดันผู้ประกอบการสู่ตลาดออนไลน์ อาทิ ช้อปปี้ ลาซาด้า ท้อปส์ออนไลน์ เป็นต้น

 5.ด้านการอำนวยความสะดวกภาคธุรกิจและประชาชน โดยเปิดโอกาสให้ใช้ข้อมูลจาก ดีบีดี ดาต้า แวร์เฮ้าส์ พลัส (DBD Data Warehouse+) ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งเป็นคลังข้อมูลธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ  โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อเป็นข้อมูลประกอบก่อนการตัดสินใจลงทุนลดระยะเวลาการให้บริการด้านทรัพย์สินทางปัญญา รูปแบบ สมาร์ท ดีไอพี (Smart DIP) เช่น ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทออนไลน์ จาก 45 วัน เหลือ 2 วัน ออกหนังสือสำคัญจดทะเบียนสิทธิบัตรรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ จาก 60 วัน เหลือ 15 วัน ต่ออายุเครื่องหมายการค้า จาก 60 วัน เหลือ 30 นาที เป็นต้น

นายสินิตย์ กล่าวว่า   สำหรับงานที่จะดำเนินการเพิ่มเติมจากนี้ไป จะให้ความสำคัญกับการสานงานเดิม โดยเพิ่มความเข้มข้น ทั้งเชิงรุก เชิงลึก โดยการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการ ดินหน้าผลักดันการเจรจา FTA คงค้างให้ได้ข้อยุติ พร้อมทั้งปิดเจรจา FTA ฉบับใหม่เ ดินหน้านโยบาย Soft Power ใช้ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเครื่องมือสร้างข้อได้เปรียบให้กับสินค้าและบริการของไทย ส่วนการอำนวยความสะดวกภาคธุรกิจและประชาชน จะเดินหน้าลดเวลาการออกหนังสือรับรองนิติบุคคลภาษาอังกฤษ จาก 3 วันทำการ เหลือเพียง 1 วันทำการ พัฒนาแอปพลิเคชัน DBD e-Service ในการสืบค้นข้อมูลนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจในไทย ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น