"ค่าเงิน" ทั่วเอเชียกอดคอร่วง เซ่นพิษเงินเฟ้อสหรัฐพุ่ง

"ค่าเงิน" ทั่วเอเชียกอดคอร่วง เซ่นพิษเงินเฟ้อสหรัฐพุ่ง

ช่วงเช้าวันนี้ (13 มิ.ย.) "ค่าเงิน" ทั่วเอเชียร่วงลงต่ำสุดในรอบหลายปี อาทิ "เงินเยน" ของญี่ปุ่น และ "รูปี" ของอินเดีย จากกระแสคาดการณ์ว่า “เฟด” จะเร่งเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยสกัดภัยคุกคามเงินเฟ้อในสหรัฐ หลังตัวเลขเงินเฟ้อพุ่งสูงสุดในรอบ 40 ปี อีกครั้ง

สัปดาห์ที่ผ่านมา สหรัฐประกาศตัวเลขดัชนีผู้บริโภคประจำเดือนพ.ค. ที่พุ่งแตะระดับ 8.6% ทุบสถิติสูงสุดในรอบ 40 ปีอีกครั้ง หลังจากหลายเดือนที่ผ่านมาก็ทำสถิติในลักษณะเดียวกัน โดยตัวเลขดังกล่าวยังเป็นผลสืบเนื่องมาจากราคาอาหารและพลังงานที่สูงขึ้น รวมถึงต้นทุนค่าครองชีพอื่นๆ เช่น ค่าเช่าบ้าน เป็นต้น 

การเพิ่มขึ้นของดัชนีผู้บริโภคหรือเงินเฟ้อในสหรัฐ ทำให้หลายฝ่ายต่างคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต้องเร่งเดินหน้าถอนสภาพคล่องออกจากระบบผ่านการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อสกัดความรุนแรงของภัยจากเงินเฟ้อ 

ผลคาดการณ์ดังกล่าว นำไปสู่ความเคลื่อนไหวของตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก รวมถึงในสหรัฐเอง โดยวันศุกร์ที่ผ่านมา (10 มิ.ย.) ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงกว่า 700 จุด หลังจากทราบตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐที่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ก่อนหน้า 

อย่างไรก็ตาม ตลาดที่ได้รับการจับตามองเป็นพิเศษคงหนีไม่พ้นกลุ่มประเทศเอเชีย จากการต้องเผชิญกับทิศทางการไหลออกของเงินทุนครั้งใหญ่ สะท้อนผ่านดัชนีของตลาดหุ้นในภูมิภาคที่ลดลงกว่า 2%  และการอ่อนค่าลงของเงินในหลายประเทศทั่วเอเชีย

"ญี่ปุ่น" ประเทศเศรษฐกิจชั้นนำระดับโลกและเอเชีย คือหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลอย่างหนักจากทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นของสหรัฐ เห็นได้จากดัชนีตลาดนิกเคอิ (Nikkei) ที่ร่วงลงกว่า 2.78% ในช่วงเช้านี้ (13 มิ.ย.) และยิ่งไปกว่านั้น เงินเยนที่อ่อนค่าลงมาอย่างหนักนับตั้งแต่เดือนมี.ค. ในเช้าวันนี้ก็ได้ทำสถิติครั้งใหม่ด้วยกว่าอ่อนค่าลงทะลุ 135 เยนต่อดอลลาร์ ต่ำที่สุดในรอบ 24 ปี หรือนับตั้งแต่วิกฤติค่าเงินเอเชียในปี 2541 

 

สถานการณ์ข้างต้น เกิดขึ้นจากทิศทางการดำเนินโยบายที่ต่างกันระหว่างสหรัฐและญี่ปุ่น เนื่องจากเป้าหมายหลักของญี่ปุ่นยังเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ยังคงเติมสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ ตรงกันข้ามกับสหรัฐที่กำลังมุ่งหน้าลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อลง จึงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย พร้อมกับแผนการถอน QE ออกจากระบบหลังจากนั้น

ความเคลื่อนไหวที่สวนทางกันดังกล่าว ส่งผลให้ผลตอบแทนระหว่างการลงทุนในสหรัฐและญี่ปุ่นต่างกันมากขึ้น เร่งให้เกิดการไหลออกของเงินทุนกลับสู่สหรัฐ

ทิศทางของเงินทุนข้างต้นยังเกิดขึ้นกับหลายประเทศทั่วเอเชีย อีกหนึ่งประเทศที่ค่าเงินร่วงลงอย่างหนักคือ "อินเดีย" ค่าเงินรูปีร่วงลงแตะ 78.28 รูปีต่อดอลลาร์ในช่วงเช้าที่ผ่านมา นับเป็นตัวเลขทุบสถิติต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ นอกจากนั้น ยังมีการคาดการณ์ว่าในสัปดาห์นี้ค่าเงินรูปีอาจร่วงต่ำลงอีกมาแตะที่ราว 78.5 รูปีต่อดอลลาร์

แม้ว่าทั้งญี่ปุ่นและอินเดียจะยังคงเร่งฟื้นฟูประเทศด้วยมาตรการต่างๆ แต่ในประเทศอย่าง "เกาหลีใต้" ที่ได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อสกัดเงินเฟ้อไปบ้างแล้วในปีที่ผ่านมา แต่เนื่องด้วยยังคงมีเป้าหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจไปด้วย จึงได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน โดยค่าเงินวอนร่วงลงไปราว 9% แล้วในปีนี้

ตัดภาพมาที่ประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง "ฟิลิปปินส์" ที่ค่าเงินแตะจุดต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปี ที่ระดับ 53 เปโซต่อดอลลาร์ในวันศุกร์ที่ผ่านมา (10 มิ.ย.) และอาจร่วงลงต่อเนื่องไปแตะที่ 54 เปโซต่อดอลลาร์ 

ถึงกระนั้น กระทรวงการคลังของฟิลิปปินส์เชื่อมั่นว่า ค่าเงินเปโซยังคงเป็นค่าเงินที่ยังมีเสถียรภาพจากพื้นฐานเศรษฐกิจที่ดี แม้คาดว่าจะถูกกดดันจากปัจจัยเศรษฐกิจระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินนโนบายของเฟด หรือภาวะเงินเฟ้อ จนอาจนำมาสู่การอ่อนค่าลงอีกของเงินเปโซก็ตาม แต่เนื่องด้วยตัวแปรอย่างสัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่อจีดีพีของฟิลิปปินส์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระดับที่ 27% ต่ำกว่าหลายประเทศในภูมิภาคอย่าง ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม จึงคาดว่าเงินเปโซจะกลายเป็นหนึ่งในค่าเงินที่แข็งแกร่งมากที่สุดในเอเชีย 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า "ไทย" จะมีตัวเลขสัดส่วนหนี้ต่างประเทศที่สูงกว่าฟิลิปปินส์ แต่เนื่องด้วยสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งจากระดับเงินสำรองระหว่างประเทศที่สูงเป็นอันดับที่ 14 ของโลก และอันดับที่ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงเป็นเหตุให้บางประเทศในภูมิภาค อาทิ มาเลเซีย มีการสำรองเงินบาทไว้ระดับหนึ่ง 

สถานะทางการเงินของไทย ดังกล่าว มีส่วนช่วยให้ค่าเงินบาทร่วงลงไม่มากเท่าสกุลเงินหลักอื่นๆ แต่ก็ยังได้รับผลกระทบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดทั้ง 2 รอบที่ผ่านมา เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงต้องดำเนินนโยบายเพื่อช่วยพยุงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทำให้ต้องคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม อีกทั้งภาครัฐยังคงใช้งบประมาณขาดดุลต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ทิศทางของเงินทุนในไทยจึงคล้ายกับประเทศอื่นๆ ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลงไปราว 5% จากสิ้นปีที่ผ่านมา 

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้อาจจะต้องจับตาสถานการณ์ตลาดเงินและตลาดทุนของเอเชียและทั่วโลกต่อไป เนื่องจากในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) วันที่ 14-15 มิ.ย. นี้ หลายฝ่ายคาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.5% ซึ่งคาดว่าจะทำให้ประเทศในเอเชียต้องประสบกับภาวะเงินอ่อนค่ารุนแรงมากขึ้นไปกว่าเดิม

------------------------------------------------

อ้างอิง

Imran Hilmy

Kevin Buckland

mint

Nikkei Asia 

Ronnel W. Domingo

Wilson Sy

Yonhap News Agency