ลูกจ้างระวัง! พฤติกรรมแบบไหน เสี่ยงถูก "เลิกจ้าง" แถมไม่ได้ค่าชดเชย

ลูกจ้างระวัง! พฤติกรรมแบบไหน เสี่ยงถูก "เลิกจ้าง" แถมไม่ได้ค่าชดเชย

"ลูกจ้าง" ต้องระวัง! พฤติกรรมแบบไหน นายจ้างมีสิทธิ "เลิกจ้าง" ยกเลิกสัญญาจ้างงานได้โดยไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าชดเชยและเงินทดแทน

เป็นเรื่องปกติของการทำงานย่อมมีปัญหาเกิดขึ้นได้เสมอ ทั้งจากปัญหาส่วนตัว ปัญหาเรื่องงาน ปัญหากับผู้บังคับบัญชา การทำงานร่วมกับผู้อื่น ตลอดจนปัญหาจากการอยู่รวมกันกับคนหมู่มาก ซึ่งทั้งหมดนี้อาจนำพาให้เกิดปัญหาที่ร้ายแรงและส่งผลกระทบต่อบริษัทได้

ดังนั้น พฤติกรรมการแสดงออกของลูกจ้างในการทำงานหลายๆ อย่าง อาจทำให้เจ้าตัวถูกประเมินให้ออกจากงาน และนายจ้างสามารถไม่จ่าย "ค่าชดเชย" และ "เงินทดแทน" ได้อีกด้วย ซึ่งพฤติกรรมแบบไหนบ้างที่ลูกจ้างต้องระวังอย่าให้เกิดขึ้น เพื่อรักษาสิทธิ์ลูกจ้างพึงได้รับดังนี้

  • ค่าชดเชยที่ลูกจ้างควรจะได้รับ

ค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับเมื่อนายจ้างเลิกจ้าง สามารถแบ่งได้เป็น 4 กรณี ดังนี้

1.กรณีที่นายจ้างเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่มีความผิด

- ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน

- ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน

- ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน

- ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240วัน

- ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน

2.กรณีนายจ้างจะเลิกจ้างเนื่องจากเหตุปรับปรุงหน่วยงาน กระบวนการผลิต การจำหน่าย หรือการบริการอันเนื่องมาจากการนำเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักร หรือเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องลดจำนวนลูกจ้าง โดยนายจ้างต้องปฏิบัติดดังนี้

- แจ้งวันที่จะเลิกจ้าง เหตุผลของการเลิกจ้าง และรายชื่อลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง ให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วัน ก่อนวันที่จะเลิกจ้าง

- ถ้าไม่แจ้งลูกจ้างก่อนวันที่จะเลิกจ้าง หรือแจ้งล่วงหน้าน้อยกว่าระยะเวลา 60 วัน นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้กับลูกจ้างเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 60 วัน หรือเท่ากับค่าจ้างของการทำงาน 60 วัน สุดท้ายสำหรับลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

ค่าชดเชยแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านี้ ให้ถือว่านายจ้างได้จ่ายค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายด้วย

3.กรณีลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษเพิ่มขึ้นจากค่าชดเชยปกติ

- ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 6 ปีขึ้นไป นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษเพิ่มขึ้นจากค่าชดเชยปกติ ที่ลูกจ้างนั้นมีสิทธิ์ได้รับอยู่แล้ว ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 15 วันต่อการทำงานครบ 1 ปี หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 15 วันสุดท้ายต่อการทำงานครบ 1 ปีสำหรับลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

- ค่าชดเชยพิเศษนี้รวมแล้วต้องไม่เกินค่าจ้างอัตราสุดท้าย 360 วัน หรือไม่เกินค่าจ้างของการทำงาน 360 วันสุดท้าย สำหรับลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงาน โดยคำนวณเป็นหน่วย แต่รวมแล้วต้องไม่เกินค่าจ้างอัตราสุดท้าย 360 วัน

- เพื่อประโยชน์ในการคำนวณค่าชดเชยพิเศษ เศษของระยะเวลาทำงานที่มากกว่า 180 วัน ให้นับเป็นการทำงานครบ 1 ปี

4.กรณีที่นายจ้างย้ายสถานประกอบการไปตั้ง ณ สถานที่อื่นอันมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตตามปกติของลูกจ้างหรือครอบครัว

- นายจ้างต้องแจ้งล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อบกว่า 30 วันก่อนย้าย ถ้าลูกจ้างไม่ประสงค์จะไปทำงานด้วย ลูกจ้างมีสิทธิ์บอกเลิกสัญญาจ้างได้โดยได้รับค่าชดเชยพิเศษไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของอัตราค่าชดเชยปกติที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิ์ได้รับ

- ถ้านายจ้างไม่แจ้งให้ลูกจ้างทราบการย้ายสถานประกอบกิจการล่วงหน้า นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน

  • กรณีใดบ้างที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายชดเชยให้แก่ลูกจ้าง

และถึงแม้ว่าลูกจ้างจะมีสิทธิ์ได้รับค่าเชยเชยเมื่อไม่ได้ทำงานต่อกับบริษัทแล้ว แต่ถ้าหากมีสาเหตุเป็นไปตามข้อกำหนดเหล่านี้ นายจ้างมีสิทธิ์ไม่จ่ายค่าชดเชยและเงินทดแทนได้ ดังนี้

- ลูกจ้างลาออกเองโดยสมัครใจ

- ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง เช่น ลูกจ้างกระทำการโกงเงิน ยักยอกเงิน หรือแสวงหาผลประโยชน์จากบริษัทเพื่อไปเป็นของตัวเอง

- จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ถือว่าเข้าข่ายกระทำความผิดโดยนายจ้างสามารถเลิกจ้างได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่ถือเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม

- ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง

- ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน ซึ่งหนังสือเตือนนั้นให้มีผลบังคับได้ไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด

- ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกัน ไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตาม โดยไม่มีเหตุอันควร

- ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ในกรณีนี้ถ้าเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษต้องเป็นกรณีที่เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

- กรณีการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน และนายจ้างเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น ได้แก่งาน ดังนี้

1) การจ้างงานในโครงการ เฉพาะที่ไม่ใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้าง ซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอน

2) งานที่มีลักษณะเป็นครั้งคราว ที่มีกำหนดงานสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงาน

3) งานที่เป็นไปตามฤดูกาล และได้จ้างในช่วงเวลาฤดูกาลนั้น ซึ่งงานจะต้องเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 2 ปี โดยนายจ้างได้ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง

ด้วยเหตุนี้หากลูกจ้างเกิดปัญหาไม่ว่าเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมา พฤติกรรมที่แสดงออกอาจส่งผลกระทบต่อบริษัทที่ตนเองปฏิบัติงานอยู่ จนถึงขั้นถูกเลิกจ้าง ดังนั้น จึงควรศึกษาข้อกำหนดต่างๆ ให้ดีเสียก่อน เพื่อรักษาสิทธิ์ของตนเองที่พึงจะได้รับ อย่างน้อยอาจทำให้ใจเย็นลง มีสติในการแก้ไขปัญหาให้ผ่านพ้นไปได้อย่างถูกวิธี และไม่ส่งผลกระทบกับบริษัทด้วย

-----------------------------------
Source : Inflow Accounting
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่