BGC เร่งธุรกิจ “นอนกล๊าส” หนุนรายได้เติบโตก้าวกระโดด

BGC เร่งธุรกิจ “นอนกล๊าส” หนุนรายได้เติบโตก้าวกระโดด

“บีจีซี” รุกบรรจุภัณฑ์นอนกล๊าส หวังขึ้นแท่นผู้นำแพจเกจจิ้งครบวงจร เล็งขยายธุรกิจทั้งลงทุนเอง-ซื้อกิจการ ผลักดันสัดส่วนรายได้ปี 68 แตะ 30% เผยปีนี้เพิ่มเป้ารายได้เป็น 1.4 หมื่นล้าน หลังตลาดส่งออกเติบโตโต “เท่าตัว”

ด้วยเป้าหมายการเป็น “ผู้นำ” ในอาเซียน ด้านการผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์แก้ว รวมทั้งผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวข้องจากต้นน้ำ-ปลายน้ำแบบครบวงจร บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) หรือ BGC ผู้ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์แก้วรายใหญ่ในไทยและภูมิภาคอาเซียน จึงแสวงหาโอกาสขยายการลงทุนทั้งในรูปแบบธุรกิจปกติของตนเอง (Organic Growth) และเติบโตในรูปแบบการร่วมทุนหรือการเข้าลงทุนในกิจการ (Inorganic Growth) ในธุรกิจบรรจุภัณฑ์แก้ว หรือ ธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่ไม่ใช่แก้ว

"ศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) หรือ BGC ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า หากบริษัทต้องการเติบโตต่อเนื่องและมีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ บริษัทจำเป็นต้องมีกำลังผลิตเพิ่ม, มีโปรดักต์ใหม่, มีกลุ่มลูกค้าตลาดใหม่ทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะในธุรกิจบรรจุภัณฑ์ไม่ใช่แก้ว (Non-Glass) เช่น บรรจุภัณฑ์กระดาษ บรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อน ฟิล์มพลาสติก ฝาพลาสติก ขวด PET และหลอดพรีฟอร์ม เนื่องจากเป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตที่สูงเป็นตัวเลขสองหลัก ส่วนธุรกิจบรรจุภัณฑ์แก้วตลาดมีการเติบโตระดับ 4-5% 

สอดคล้องกับแผนธุรกิจ 3 ปีข้างหน้า (2566-2568) บริษัทมุ่งเน้นขยายการลงทุนในธุรกิจที่เป็น Non-Glass เพิ่มมากขึ้น ใน 2 รูปแบบคือ “ลงทุนเอง-ซื้อกิจการ” โดยเป้าหมายปี 2566 จะเห็นกำลังการผลิตใหม่เพิ่มขึ้นทั้งจากการลงทุนเองและซื้อกิจการ สะท้อนผ่านบริษัทมีการลงทุนขยายกำลังการผลิตใน “บรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อน” (Flexible Packaging) คาดแล้วเสร็จในไตรมาส 1 ปี 2566 ซึ่งควบคู่ไปกับการเจรจาซื้อกิจการ (M&A) หรือ การจอยเวนเจอร์ (JV) ในธุรกิจดังกล่าว มูลค่าประมาณ 500-600 ล้านบาท คาดว่าจะได้ข้อสรุปในช่วงไตรมาส 4 ปี 2565 และเริ่มรับรู้รายได้ในปีหน้า ดังนั้น หากแผนการลงทุนทั้งสองส่วนสำเร็จคาดว่าในปีหน้าบริษัทจะมีสัดส่วนรายได้จากบรรจุภัณฑ์ชนิดใหม่ราว 5%

BGC เร่งธุรกิจ “นอนกล๊าส” หนุนรายได้เติบโตก้าวกระโดด ทั้งนี้ บริษัทมีแผนธุรกิจระยะ 3 ปี (2568) จะมีสัดส่วนรายได้ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ไม่ใช่แก้วแตะ 30% และในแผนระยะยาว 5-10 ปีข้างหน้า อยากเห็นสัดส่วนรายได้ทั้งธุรกิจบรรจุภัณฑ์แก้วและไม่ใช่แก้วในระดับใกล้เคียงกัน หลังปรับโมเดลธุรกิจสู่การเป็น Total Packaging Solutions หรือผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์ที่ครบวงจร  ตั้งแต่บรรจุภัณฑ์  พร้อมฉลาก ฝา และกล่องกระดาษ   

โดยบริษัทมีการมุ่งเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ที่มีความต้องการสินค้ากลุ่มบรรจุภัณฑ์อื่นๆ และเพิ่มยอดขายต่อรายจากฐานลูกค้าเดิมที่สั่งซื้อบรรจุภัณฑ์แก้ว นอกจากนี้จะจัดหากลุ่มบรรจุภัณฑ์อื่นๆ และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องเพื่อเพิ่มความหลากหลายและตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น จากปัจจุบันที่บริษัทมีสัดส่วนรายได้ธุรกิจบรรจุภัณฑ์แก้ว 90% และธุรกิจบรรจุภัณฑ์ไม่ใช่แก้ว 10%

“เรามีเป้าหมายว่าธุรกิจแก้วจะเป็นตัวสร้างกระแสเงินสด ส่วนธุรกิจไม่ใช่แก้วจะเป็นตัวดาวรุ่งที่จะสร้างการเติบโตก้าวกระโดด แต่แน่นอนว่าจะต้องลงทุนก่อน ซึ่งเราเปรียบธุรกิจแก้วเหมือนคนวัยทำงานที่สร้างรายได้ต่อเนื่องแล้วทุกๆ เดือน ขณะที่ธุรกิจ Non-Glass เป็นเด็กที่เรากำลังฟูมฟักให้เติบโตขึ้นมาเพื่อช่วยทำงานได้ในอนาคต แน่นอนว่าจะต้องผ่านการลงทุนและการลองผิดลองถูกก่อน”

"ศิลปะรัตน์" บอกต่อว่า ในปี 2565 บริษัทปรับเป้ารายได้เติบโต 10% หรือ 14,000 ล้านบาท เดิมเป้าหมาย 12,000 ล้านบาท เติบโต 6-7% เนื่องจากการเติบโตทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ แต่ที่เติบโตมากมาจากตลาดส่งออก โดยเฉพาะในตลาด CLMV และ ตลาดสหรัฐ ซึ่งในตลาด CLMV ที่มีการฟื้นตัวเด่นจะเป็น “ตลาดเวียดนาม” เนื่องจากช่วงโควิด-19 ประเทศเวียดนามมีการปิดเมือง (ล็อกดาวน์) ค่อนข้างเข้มข้น ดังนั้น เมื่อรัฐมีการคลายล็อกดาวน์ส่งผลให้ตลาดมีการเติบโตในแง่ของการบริโภคค่อนข้างสูง

ขณะที่ “ตลาดสหรัฐ” เป็นประเทศที่มีอัตราการบริโภคเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้ว่าสหรัฐจะมีตัวเลขเงินเฟ้อระดับสูง แต่กลับพบว่าประชาชนของสหรัฐยังมีการจับจ่ายใช้สอยต่อเนื่อง ซึ่งภาพรวมของเศรษฐกิจสหรัฐยังถือว่าแข็งแกร่งหากเทียบกับประเทศอื่นๆ และในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีนในเรื่องภาษี ส่งผลให้จีนต้องเผชิญกับต้นทุนสูงขึ้น ทำให้ราคาสินค้าจีนปรับตัวขึ้น จากเหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นโอกาสของบริษัทในการเข้าไปทำตลาดในสหรัฐได้ 

โดยปี 2565 คาดตลาดส่งออกเติบโตเป็น “เท่าตัว” หรือ 40-50% แต่ว่าตลาดส่งออกยังเป็นสัดส่วนเพียง 10% หรือประมาณ 1,000 ล้านบาท จากพอร์ตรวมของบริษัท ซึ่งสัดส่วนรายได้ยังอยู่ในประเทศ 90% ซึ่งปีนี้คาดว่าตลาดในประเทศเติบโต 5-10%

โดยปีนี้บริษัทไม่มีกำลังผลิตเหลือเหมือนช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้ว เนื่องจากปัจจุบันบริษัทมีการบริหารใช้สต็อกเก่าที่เหลือจากช่วงโควิด-19 ประมาณ 30% ดังนั้น เมื่อสินค้าไม่เพียงพอกับการขายหลังจากความต้องการมากขึ้น ฉะนั้น ในช่วงปีนี้บริษัทจึงสามารถเลือกลูกค้าได้ดีพอสมควร ซึ่งจะเป็นกลุ่มลูกค้าที่ต้องการสินค้าที่มีคุณภาพระดับสูง และสามารถขายของที่มีมูลค่าสูง-กำไรดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม มีมุมดีก็ต้องมี “ความท้าทาย” ของธุรกิจ โดยปีนี้บริษัทเจอความท้าทายครั้งใหญ่ในเรื่องของ “ต้นทุนสูง” หลังจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาพลังงานน้ำมันโลกปรับตัวขึ้นจากระดับ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขึ้นมาแตะระดับ 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งทำให้ต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่เป็นพลังงานหลักของบริษัทปรับตัวขึ้นมากกว่า 20% รวมทั้งการปรับขึ้นค่า FTอีก ฉะนั้น เฉลี่ยบริษัทมีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นกว่า 30-40% ซึ่งหลีกเลี่ยงผลกระทบในส่วนของกำไรไม่ได้ บริษัทจะพยายามรักษากำไรให้ใกล้เคียงปีที่แล้วหรือลดลงเล็กน้อย

จากการปรับ 6 แผน เพื่อรับมือต้นทุนที่สูงขึ้น ด้วย 1. ตัดค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ยังไม่จำเป็น 2.การนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับปรุงการทำงาน 3. ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้ดีขึ้น 4. ปรับเปลี่ยนสูตรเหมาะสมกับสถานการณ์ 5.การมีอินโนเวชันต่างๆ มาปรับใช้ เช่น การนำขวดแก้ว Lightweight (บรรจุภัณฑ์แก้วชนิดน้ำหนักเบา) ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ใช้ปริมาณน้ำแก้วลดลงถึง 30% และสุดท้าย การขอปรับราคาขายกับลูกค้า โดยบริษัทปรับขึ้นราคาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาแล้วเฉลี่ยประมาณ 5%

“จากการปรับ 6 แผนเพื่อบริหารความเสี่ยงต้นทุนที่สูงขึ้นมาก จากราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสูงขึ้นมาก เราคาดว่าจะช่วยให้ภาพรวมของกำไรไม่น่าเกลียด โดยเราพยายามรักษากำไรให้ใกล้เคียงหรือไม่ต่ำกว่ากับปีก่อนมาก” 

ขณะที่ ในส่วนของธุรกิจบรรจุภัณฑ์แก้ว บริษัทอยู่ระหว่างการทบทวนการลงทุนโรงงานหลอมแก้วใหม่ จากก่อนหน้านี้บริษัทมีแผนจะสร้างโรงงานแห่งใหม่ จังหวัดราชบุรี แต่ปัจจุบันต้นทุนแพงขึ้นทำให้บริษัทชะลอดูสถานการณ์ก่อน แต่เบื้องต้นบริษัทจะไปขยายกำลังผลิตจากโรงงานหลอมเดิม หากมีการปิดซ่อมบำรุงใหญ่ก็จะขยายกำลังผลิตเพิ่มไปด้วย 

ท้ายสุด “ศิลปรัตน์” ​บอกไว้ว่า บริษัทมีเป้าหมายเติบโตต่อเนื่อง โดยวางธุรกิจแก้วจะเป็นตัวสร้างกระแสเงินสด ส่วนธุรกิจไม่ใช่แก้วจะเป็นสตาร์ตัวดาวรุ่งที่จะสร้างการเติบโตก้าวกระโดด แต่แน่นอนก่อนจะไปถึงจุดนั้นได้บริษัทจะต้องลงทุนและลองผิดก่อน