ปี 69 ได้ใช้ 'ไฮสปีดไทย-จีน' ทุ่ม 3 แสนล้านลุยเฟสสองปีหน้า

ปี 69 ได้ใช้ 'ไฮสปีดไทย-จีน' ทุ่ม 3 แสนล้านลุยเฟสสองปีหน้า

ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย – จีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ปัจจุบันเดินหน้างานก่อสร้างส่วนของระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ไปแล้วรวม 11 สัญญา จากทั้งหมด 14 สัญญา

ซึ่งกรมการขนส่งทางราง และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ยืนยันถึงความจำเป็นในการเร่งรัดโครงข่ายระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย เพื่อไปเชื่อมต่อกับระบบรางของรถไฟลาว - จีน ที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน

พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยถึงเรื่องนี้ว่า ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.มีรถไฟให้บริการเชื่อมต่อการขนส่งระหว่างไทย - สปป.ลาว - จีน ในเส้นทางสถานีหนองคาย - ท่านาแล้ง เพื่อสนับสนุนให้เกิดการขนส่งระหว่างประเทศ โดยตามแผนระหว่างปี 2564-2565 มีการเพิ่มขบวนรถไฟขนส่งสินค้าจากเดิมวันละ 4 ขบวน (ไป-กลับ) เป็น 10 ขบวนไป-กลับ พ่วงขบวนละ 25 แคร่

ขณะที่ช่วงปี 2566-2568 จะปรับเพิ่มขบวนรถขนส่งสินค้าเป็นวันละ 16 ขบวน (ไป-กลับ) พ่วงขบวนละ 25 แคร่ และตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไปจะเพิ่มขบวนรถเป็น 24 ขบวน (ไป-กลับ) พ่วงขบวนละ 25 แคร่ ซึ่งไม่รวมขบวนรถโดยสารระหว่างประเทศที่เดิมปกติมีให้บริการวันละ 4 ขบวน (ไป-กลับ) เพื่อให้สอดรับต่อความต้องการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ดี การพัฒนาระบบรางระหว่างประเทศแบบไร้รอยต่อนับเป็นนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงคมนาคม และรัฐบาล เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจจากภาคขนส่งและการเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งโครงการไฮสปีดเทรนภายใต้กรอบความร่วมมือไทย - จีนนั้น เป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่จะผลักดันเป้าหมายดังกล่าว ดังนั้นจึงกลายเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ต้องพัฒนาส่วนต่อขยายให้แล้วเสร็จตามแผน เพื่อเชื่อมต่อกับระบบรางของลาวและจีนโดยเร็ว

ปี 69 ได้ใช้ 'ไฮสปีดไทย-จีน' ทุ่ม 3 แสนล้านลุยเฟสสองปีหน้า

โดยขณะนี้ได้รับรายงานจาก ร.ฟ.ท.ว่าโครงการไฮสปีดเทรนไทย - จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ดำเนินการออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ อยู่ในขั้นตอนการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ (สผ.) ซึ่งขณะนี้ทางคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ได้ให้จัดทำข้อมูลเพิ่มเติม และ ร.ฟ.ท.ได้ส่งข้อมูลกลับไปอีกครั้งแล้ว

ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถเสนอโครงการให้คณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท. พิจารณาอนุมัติได้ประมาณเดือน ต.ค.2565 ก่อนเสนอให้กระทรวงคมนาคม และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ในปลายปี 2565 โดยแนวเส้นทางของโครงการนี้ จะครอบคลุม 4 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดขอนแก่น จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดหนองคาย เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางที่มีความรวดเร็ว ปลอดภัย และเป็นโครงการสนับสนุนเชื่อมต่อการค้าการลงทุนระหว่างไทย สปป.ลาว และจีน

ด้านกำพล บุญชม รองวิศวกรใหญ่ด้านโครงการพิเศษ ร.ฟ.ท.ให้ข้อมูลถึงไทม์ไลน์ในโครงการนี้ว่า หากโครงการได้รับการอนุมัติจาก ครม.ตามที่คาดการณ์ไว้ในปีนี้ ก็สามารถเริ่มต้นขั้นตอนประกวดราคาได้ทันที ซึ่งขั้นตอนนี้จะใช้เวลาราว 7 เดือน และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างประมาณเดือน ส.ค.-ก.ย.2566 ใช้เวลาก่อสร้างและติดตั้งงานระบบอาณัติสัญญาณ รวมประมาณ 4 ปี ดังนั้นโครงการไฮสปีดไทย – จีนจะสามารถเปิดให้บริการทั้งเส้นทาง ช่วงกรุงเทพฯ - หนองคายได้ประมาณปี 2571

สำหรับแนวเส้นทางระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย ประเมินวงเงินลงทุนเบื้องต้นอยู่ที่ 3 แสนล้านบาท มีระยะทาง 356 กิโลเมตร แบ่งเป็น ทางรถไฟระดับพื้นดิน 185 กิโลเมตร และทางรถไฟยกระดับ 171 กิโลเมตร มีสถานีให้บริการรวม 5 สถานี ได้แก่ สถานีบัวใหญ่ สถานีบ้านไผ่ สถานีขอนแก่น สถานีอุดรธานี และสถานีหนองคาย อีกทั้งโครงการนี้จะมีสถานีขนถ่ายสินค้า 1 แห่ง บริเวณสถานีรถไฟนาทา จังหวัดหนองคาย และมีศูนย์ซ่อมบำรุงที่เชียงรากน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และสถานีนาทา จังหวัดหนองคาย

ส่วนการออกแบบรางมีขนาด 1.435 เมตร โดยรถไฟสามารถใช้ความเร็วได้สูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ดังนั้นผู้โดยสารจะสามารถใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังหนองคาย ระยะทางรวม 609 กิโลเมตร เพียง 3 ชั่วโมง 15 นาที ถือเป็นโครงการสำคัญที่จะเพิ่มศักยภาพการเดินทางด้วยระบบราง สนับสนุนการขนส่งและการท่องเที่ยว ช่วยลดระยะเวลาจากการเดินทางทางบกอย่างมาก

ในส่วนของความคืบหน้าไฮสปีดไทย - จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ทั้ง 14 สัญญา มีความคืบหน้าประมาณ 12% ก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 10 สัญญา และรอลงนาม 3 สัญญา โดยในสิ้นปี 2565 คาดว่างานก่อสร้างจะมีความคืบหน้าถึง 20% และจะก่อสร้างแล้วเสร็จ รวมทั้งทดสอบเดินรถเสมือนจริงได้ในปี 2569 เป็นเวลา 6 เดือน ก่อนจะเปิดให้บริการประชาชนต้นปี 2570

ขณะที่อีก 3 สัญญารอลงนามนั้น อยู่ในขั้นตอนของการดำเนินงาน ประกอบด้วย สัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.2 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาจากศาลปกครองสูงสุด ในกรณีที่เอกชนยื่นฟ้องผลการพิจารณาคุณสมบัติการประมูล

ส่วนสัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.2 กิโลเมตร อยู่ในขั้นตอนการเจรจาแก้ไขร่างสัญญาระหว่างทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และกลุ่มซีพี เพื่อดำเนินการลงทุนพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนในโครงการไฮสปีดไทย - จีน และไฮสปีดเชื่อมสามสนามบิน

และสัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กิโลเมตร ขณะนี้ ร.ฟ.ท.ได้ประสานไปยังกรมบัญชีกลางเพื่อให้ความเห็นของเจรจาข้อเสนอจากเอกชนที่ประมูลและยื่นข้อเสนอเป็นรายที่ 2 เนื่องจากเอกชนรายที่ 1 ไม่ยืนราคาตามที่เสนอไว้

เมื่อเร็วๆนี้ ในการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและเร่งรัดการดำเนินการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการ ครั้งที่ 2/2564 เพื่อติดตามและเร่งรัดการขับเคลื่อนการโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย โดยโครงการได้แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา และระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย ให้เป็นไปตามเป้าหมายและแผนงาน 

รวมถึงเสนอแนะเพื่อการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินโครงการ เพื่อปรับปรุง การดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นก่อนรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการบริหารการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน ต่อไป โดยวัตถุประสงค์ในการประชุมครั้งนี้เพื่อเป็นการเร่งรัดการเชื่อมต่อระบบคมนาคมขนส่งระหว่างสามประเทศ ได้แก่ ราชอาณาจักรไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐประชาชนจีน

สำหรับโครงการรถไฟจีน – ลาว เตรียมเปิดดำเนินการในวันชาติของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในวันที่ 2 ธ.ค. 2564 ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในการเชื่อมโยงทางรถไฟตั้งแต่กรุงเทพมหานคร ถึงนครหลวงเวียงจันทน์ และมีปลายทางที่นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน