ก.ล.ต.ผนึกUNDP เปิดตัวSDG Investor Map สู่เป้าหมายพัฒนาที่ยั่งยืนในไทย

ก.ล.ต.ผนึกUNDP เปิดตัวSDG Investor Map สู่เป้าหมายพัฒนาที่ยั่งยืนในไทย

โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทยร่วมกับ ก.ล.ต. เปิดตัวแผนที่การลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Investor Map) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มข้อมูลที่เปิดโอกาสให้ผู้ลงทุน และภาคธุรกิจที่ให้ความสำคัญต่อการลงทุนเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดตัวแผนที่การลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Investor Map) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มข้อมูลที่เปิดโอกาสให้ผู้ลงทุน และภาคธุรกิจที่ให้ความสำคัญต่อการลงทุนเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้พบกับโครงการธุรกิจที่ได้รับการจัดอันดับแล้วว่าตอบโจทย์นโยบายของภาครัฐ และมีโอกาสการเติบโตทางการตลาด

ภายใต้การดำเนินการตามแนวคิดของ UNDP SDG Impact และการสนับสนุนจาก CIIP (องค์กรภายใต้บริษัท Temasek Trust) ในฐานะพันธมิตร โดยได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นในการประชุมระดับสูงที่จัดโดยผู้กำหนดนโยบายและกลุ่มนักลงทุน 

 

ประเทศไทยตั้งเป้าหมายที่จะสร้างอนาคตที่ดีขึ้น ภายหลังการเผชิญกับสถานการณ์โรคระบาดระดับโลก ปัญหาการขาดแคลนอาหาร และวัตถุดิบจากผลกระทบของสงครามยูเครน และวิกฤติสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ จากข้อมูลของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ และสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP) ในปี 2562 ได้คาดการณ์เงินลงทุนเพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไว้ว่า

ตั้งแต่ ปี 2563 ถึง ปี 2573 ว่า ประเทศไทยต้องการเงินลงทุนเพิ่มเติมประมาณ 1.27 ล้านล้านบาท (40.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ต่อปี หรือคิดเป็นมูลค่า 50 บาทต่อคนต่อวัน ด้วยเหตุนี้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ของประเทศไทยประจำปี พ.ศ.2566 - 2570 จึงได้ให้ความสำคัญต่อการสร้างเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สังคมแห่งโอกาส และความเท่าเทียมกัน วิถีชีวิตที่ยั่งยืน และการเสริมสร้างปัจจัยที่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลง

 ภายใต้บริบทนี้ รายงาน Thailand SDG Investor Map จึงได้นำเสนอ 15 โอกาสการลงทุนภายใต้ 8 กลุ่มอุตสาหกรรม ที่มีการดำเนินงานส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และมีการปฏิบัติตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวประกอบด้วย อาหารและเครื่องดื่ม ทรัพยากรหมุนเวียนและพลังงานทางเลือก บริการด้านสุขภาพ การขนส่ง การเงิน โครงสร้างพื้นฐาน บริการ และการศึกษา โดยพบว่ามากกว่าร้อยละ 80 ของโอกาสการลงทุนเหล่านี้ช่วยแก้ปัญหาเรื่องประสิทธิภาพการผลิต และมากกว่าครึ่งหนึ่งมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัล ซึ่งโอกาสการลงทุนเกือบทั้งหมดในรายงานจะมุ่งเน้นไปที่การสร้างประโยชน์ให้กับกลุ่มเปราะบางเป็นสำคัญ

ก.ล.ต.ผนึกUNDP เปิดตัวSDG Investor Map สู่เป้าหมายพัฒนาที่ยั่งยืนในไทย

แผนที่การลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย มีการจัดเก็บข้อมูล และแสดงไว้บน SDG Investor Platform พร้อมกับข้อมูลจาก 19 ประเทศ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวได้ผ่านการศึกษาวิจัยและการรับฟังความคิดเห็น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และผู้ประกอบธุรกิจ เกี่ยวกับข้อมูลในภาคอุตสาหกรรม และโอกาสทางธุรกิจที่มีความหลากหลาย พร้อมทั้งนำเสนอตัวอย่างของธุรกิจที่มีความเป็นไปได้ในการดำเนินการและสมควรให้การสนับสนุน
 
นักลงทุน และภาคธุรกิจที่กำลังมองหาการลงทุนอย่างยั่งยืนจะได้รับประโยชน์จากแผนที่การลงทุนฉบับนี้เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการสำรวจ และค้นหาโอกาสการลงทุน นับเป็นการสนับสนุนและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของรัฐบาลที่ต้องจัดลำดับความสำคัญเพื่อสนับสนุนให้เงินลงทุนลงไปยังจุดที่มีความต้องการเพื่อพัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนโดยแท้จริง ซึ่งจะเป็นการช่วยเร่งการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทย 

ในโอกาสงานเปิดตัว SDG Investor Map นี้ ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้กับภาคธุรกิจในตลาดทุนไทยทราบเกี่ยวกับ SDG Impact Standards ซึ่งเป็นมาตรฐานของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ที่มีความเป็นอิสระและได้มาตรฐานสากล โดยจะเป็นมาตรฐานที่ระบุแนวทางการดำเนินงานเพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจและนักลงทุนมีการตัดสินใจที่เหมาะสม สามารถสร้างผลตอบแทน และสร้างผลกระทบเชิงบวกด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า “การลงทุนเป็นปัจจัยสำคัญเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน อย่างไรก็ดี ระดับการลงทุนจากภาครัฐในปัจจุบันนั้นยังไม่เพียงพอเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว เราต้องแสวงหาแหล่งเงินทุนแห่งใหม่โดยเฉพาะจากภาคเอกชน ดังนั้น “แผนที่การลงทุนสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (SDG Investor Maps) จะช่วยอำนวยความสะดวกการหาแหล่งเงินทุนนี้ โดยนำเสนอข้อมูลประกอบการตัดสินใจแก่นักลงทุนด้วยข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสภาวะตลาด และชี้ให้เห็นโอกาสด้านการลงทุนเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งคาดการณ์ผลกระทบจากการลงทุนดังกล่าวด้วย”

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า “ก.ล.ต. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ในการจัดทำโครงการ Thailand SDG Investor Map ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการสืบเนื่องจากการมีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือที่ได้ลงนามเมื่อต้นปี ปัจจุบันกระแสการดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล รับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม หรือ ESG ได้รับความสนใจอย่างมากจากทุกภาคส่วน โดยหากธุรกิจดำเนินงานโดยมีนโยบายในการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมอย่างชัดเจน จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้แก่ธุรกิจ และเสริมสร้างให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน ซึ่ง SDG Investor Map จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยเพิ่มอุปสงค์ด้านการลงทุนที่เน้นความต้องการผลตอบแทนควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมที่ยั่งยืน ขณะเดียวกันจะช่วยส่งเสริมให้เกิดอุปทานของธุรกิจให้ประกอบธุรกิจอย่างมี ESG เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างระบบนิเวศน์ตลาดทุนที่ยั่งยืนตามแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. ปี 2565 - 2567 สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และเพื่อให้ตลาดทุนไทยเป็นอีกกลไกหนึ่งที่ช่วยสร้างพลวัตในการขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติต่อไป”
 
นายเรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวว่า “โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในการพัฒนาแผนที่นักลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย (SDG Investor Map) โดยแผนที่นักลงทุนเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนจะเสริมการทำงานของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติและรัฐบาลไทยในการสร้างกรอบทางการเงินแห่งชาติ (Integrated National Financing Framework: INFF) ที่ครอบคลุมมากขึ้น เพื่อส่งเสริมแนวทางองค์รวม ภาครัฐ และเอกชนในการจัดหาเงินทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ เราหวังว่าแผนที่จะนำทางนักลงทุน และกระตุ้นการลงทุนที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ในขณะเดียวกันจะช่วยเร่งความก้าวหน้าของประเทศไทยในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมุ่งเน้นเฉพาะกลุ่มที่เปราะบางที่สุด”
 
นาง Dawn Chan CEO, CIIP กล่าวว่า “Center for Impact Investing and Practices (CIIP) ถูกก่อตั้งขึ้นโดย Temasek Trust เนื่องจากเราเห็นว่า การลงทุนที่จะสร้างให้เกิดผลกระทบทางบวกต่อส่วนรวม (Impact Investing) จะช่วยกระตุ้นการแก้ปัญหาเพื่อจัดการกับความท้าทายที่โลกของเรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ทางเรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นพันธมิตรหลักของโครงการ SDG Impact ของ UNDP ในเอเชีย เพื่อช่วยผลักดันความเข้าใจ และเครื่องมือต่างๆ เพื่อสนับสนุน นักลงทุน และธุรกิจในเอเชียที่ต้องการมีส่วนช่วยขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การเปิดตัว Thailand SDG Investor Map ถือว่าเหมาะกับเวลาเป็นอย่างมาก เพราะข้อมูลสำคัญที่แผนที่นำเสนอจะช่วยประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนในการลงทุนเพื่อขับเคลื่อนการลงทุนอย่างยั่งยืนในประเทศไทย ได้เป็นอย่างดี อันจะนำไปสู่การช่วยให้ประเทศฟื้นตัวจาก COVID-19 ได้อย่างรวดเร็ว”

นางสาวฟาเบียน มิโช ผู้อำนวยการโครงการ SDG Impact กล่าวสรุปว่า “ประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่ดีของประเทศที่คว้าโอกาสในการสร้างอนาคตที่ดีขึ้นโดยวางความยั่งยืนไว้ที่ศูนย์กลางของการพัฒนา ซึ่งการใช้ข้อมูลทางการตลาดจากแผนที่ Thailand SDG Investor Map เพื่อกำหนดเป้าหมายการลงทุนอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับหลักเกณฑ์ SDG Impact Standards ที่ UNDP ได้จัดทำขึ้นเพื่อให้ทราบว่า ธุรกิจและการลงทุนสามารถดำเนินการได้อย่างยั่งยืนได้อย่างไร จะช่วยผลักดันให้บรรลุผลสำเร็จของวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืนปี 2030 ที่ยิ่งมีความเร่งด่วนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ” นอกจากนี้เธอยังกล่าวเสริมอีกว่า “เรารู้สึกตื่นเต้นที่จะได้ร่วมงานกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย และบริษัท Temasek Trust ซึ่งเป็นหุ้นส่วนระยะยาวของเราในการทำให้ Thailand SDG Investor Map บรรลุผล”

หลังจากการเปิดตัวแผนที่โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย และเครือข่ายพันธมิตร พร้อมด้วยบริษัท Temasek จะจัดกิจกรรมสำหรับนักลงทุน ผู้ลงทุน และผู้กำหนดนโยบาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนความเห็น และความร่วมมือเพื่อให้แน่ใจว่าทุกฝ่ายจะใช้ประโยชน์จากข้อมูลแผนที่ และอิงตามเกณฑ์ของ SDG Impact เพื่อให้สามารถรับมือกับอนาคตที่มีการเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา

 

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์
_________________________