วุฒิสภาตรวจการบ้าน“อีอีซี” แนะเชื่อมระเบียงเศรษฐกิจอื่น

วุฒิสภาตรวจการบ้าน“อีอีซี”  แนะเชื่อมระเบียงเศรษฐกิจอื่น

การกำหนดเป้าหมายของเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งระเบียงเศรษฐกิจ และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ถูกกำหนดเป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และอยู่ในแผนแม่บทที่ 9 ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ

ทั้งนี้มีการกำหนดเป้าหมายสำคัญ 2 ส่วน ได้แก่ เป้าหมายการสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจระดับพื้นที่ ซึ่งต้องมีการเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่ 5% ภายใน 5 ปี

สมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ รองประธานคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง วุฒิสภา และประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตามการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ วุฒิสภา กล่าวว่า จากการติดตามความคืบหน้าของแผนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคคะวันอออก (อีอีซี) ในช่วงปีงบประมาณ 2561-2565 พบว่ายังมีปัญหาในเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ และติดตามข้อมูลความคืบหน้าของโครงการอีกเป็นจำนวนมาก

ปัจจุบันนอกจากพื้นที่อีอีซีรัฐบาลมีแนวคิดในการขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เป็นพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีก 4 พื้นที่ตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) ได้แก่

1.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor : NEC-Creative LANNA) ได้แก่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน และจังหวัดลำปาง

2.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Economic Corridor : NeEC-Bioeconomy) 

3.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง-ตะวันตก (Central - Western Economic Corridor : CWEC) จังหวัดขอนแก่น จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดหนองคาย

4.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) ได้แก่ จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยในอนาคตรัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการทำแผนเชื่อมโยงระหว่างอีอีซีกับแผนการเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจกับ 4 ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษด้วย 

ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่าในพื้นที่ที่มีแผนการพัฒนาเชิงพื้นที่ที่มีระเบียงเศรษฐกิจนั้นขยายตัวได้แค่ 1.42% ขณะที่ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกคณะกรรมาธิการพบว่ามีการขยายตัวของเศรษฐกิจได้มากกว่า 5% เนื่องมาจากากรลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมาก

คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจฯ ได้รับข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เกี่ยวกับความคืบหน้าการลงทุนในอีอีซีว่าตั้งแต่ปี 2561- เดือน มี.ค.2565 เกิดการลงทุนรวมมูลค่า 1.77 ล้านล้านบาท และมีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมรวม 1.38 ล้านล้านบาท โดยคำขอส่งเสริมการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เมื่อคิดเป็นคะแนนการประเมินในที่เป็นคะแนนความสำเร็จของ EEC ได้ประเมิน 73.4% เป็นระดับคะแนนที่น่าพอใจและมีแนวโน้มที่จะประสบผลสำเร็จได้ในอนาคต

“เมื่อดูจากตัวเลขข้อมูลอีอีซี ที่บีโอไอรายงานผ่านตัวชี้วัด แต่เรื่องนี้คณะกรรมาธิการฯ มีข้อสังเกตว่าเป็นตัวเลขของการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนไม่ใช่ตัวเลขการลงทุนจริงใน EEC จึงฝากยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ สกพอ.ให้รายงานตัวเลขการลงทุนจริงในพื้นที่ให้กรรมาธิการและสังคมรับทราบด้วย”

นอกจากนี้ แม้ว่าตัวเลขการลงทุนใน EEC จะประสบความสำเร็จ แต่หากพิจารณาภาพรวมการพัฒนาเขตเศรษฐกิจทั่วประเทศถือว่ามีความท้าทายมาก หากพิจารณาจากเป้าหมายในแผนการปฏิรูปประเทศที่ต้องการขับเคลื่อนจีดีพีของประเทศขยายตัวได้ 1-2% ต่อปี โดยความท้าทาย 3 เรื่อง ได้แก่ 

1.การพัฒนาแรงงานที่มีทักษะสูงที่จะสนับสนุนกิจการการผลิตในสาขาที่ต้องการความเชี่ยวชาญพิเศษ ต้องให้ความสำคัญกับบุคลากรที่มีความต่อเนื่อง

2.ความสำเร็จในการดึงอุตสาหกรรมเป้าหมาย (News Curve) ให้เข้ามาลงทุนไทยต่อเนื่อง ประเด็นนี้เป็นความท้าทายมากที่จะทำให้เกิดการลงทุนจริงและม่ใช่เพียงตัวเลขการส่งเสริมการลงทุน

ทั้งนี้จากการลงพื้นที่ตรวจสอบความคืบหน้าเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนพบว่าแม้จะคัดเลือกผู้ลงทุนในพื้นที่ แต่หลายแห่งเลื่อนการลงทุนออกไปก่อนในพื้นที่หลายแห่ง เพราะการระบาดของโควิด-19 และที่ผ่านมามีปัญหาที่กระทบเศรษฐกิจชายแดน จึงเสนอให้มีกลไกระดับพื้นที่เพื่อให้กำกับดูแล แก้ไขปัญหา สนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติ

"โจทย์สำคัญของการส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ คือ ทำอย่างไรให้เกิดการผลิตสินค้าในเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยไม่ใช่แค่เพียงเป็นการนำเข้าสินค้ามาในพื้นที่แล้วเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์รอการส่งออก

3.การขับเคลื่อนการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคใต้ต้องเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้ครอบคลุม ซึ่งต้องลงทุนอีกหลายส่วนทั้งถนน ท่าเรือ สนามบิน โดยระยะเวลาที่จะลงทุนขึ้นกับการยอมรับของคนในพื้นที่ และการจัดทำผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA)

ดังนั้นในการขับเคลื่อน SEC กพศ.ต้องตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลให้เชื่อมโยงระหว่าง EEC กับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษอื่น รวมทั้งได้ตั้งข้อสังเกต 3 ข้อ ได้แก่ 

1.ข้อมูลในระบบฐานข้อมูลและการเก็บข้อมูลที่ต้องปรับปรุง เนื่องจากบางส่วนข้อมูลที่ส่งมาให้คณะกรรมาธิการยังใช้ตัวเลขเก่า เช่น ใช้ข้อมูลปี 2562 ขณะที่มีการวิเคราะห์นั้นต้องใช้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบันมากที่สุด จึงขอความร่วมมือจากหน่วยงานส่งข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน

2.ข้อมูลที่ยังขาด คือ การติดตามบริษัทที่ลงทุนจริงหลังขอรับส่งเสริมการลงทุน เพื่อดูการการลงทุนจริงในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ

3.การขยายตัวของเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนยังไม่สามารถวัดผลได้ โดย สศช.ชี้แจงว่าจะวัดได้เฉพาะข้อมูลเศรษฐกิจรายจังหวัด ไม่สามารถวัดได้ในพื้นที่หรือรายอำเภอ โดยต้องประสานงานกันทั้งในส่วนกลางและส่วนของจังหวัด เพื่อให้เป็นไปในทางทิศทางเดียว