"อาคม"ชี้เงินเฟ้อปีนี้ยังทรงตัวในระดับสูง

"อาคม"ชี้เงินเฟ้อปีนี้ยังทรงตัวในระดับสูง

"อาคม"ชี้เงินเฟ้อปีนี้ยังทรงตัวในระดับสูง​ จะเป็นปัจจัยกดดันให้ธปท.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย​ ขณะที่​ เตรียมหารือเอกชนปรับขึ้นค่าจ้างในช่วงปลายปี​เพื่อให้สอดคล้อง​กับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น​ พร้อมต่อมาตรการลดภาษีดีเซลหากรายได้เพียงพอ​

นายอาคม​ เติมพิทยาไพสิฐ​ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า​ ปัจจัยที่เข้ามากระทบเศรษฐกิจไทยในปีนี้​ โดยนอกจากเรื่องของสถานการณ์โควิดแล้ว​ ยังมีเรื่องของอัตราเงินเฟ้อที่มีสาเหตุหลักจากสงครามยูเครน​ ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อในปีนี้ไม่น่าจะอยู่ในระดับต่ำเหมือนหลายปีก่อน​ 

ทั้งนี้​  เขากล่าวระหว่างปาฐกถาในงาน​FIT EXPO​ 2022 ที่จังหวัดเชียงใหม่ในหัวข้อนโยบายการเงินการคลัง​ 2565​พร้อมทั้งแผนช่วยเหลือSMEsและประชาขนในการฝ่าวิกฤต

 

เขากล่าวว่า​  ​ปัจจัยเงินเฟ้อดังกล่าวจะกดดันในเรื่องของการพิจารณาดอกเบี้ยนโยบายเพื่อดูแล​ เพราะต่างประเทศเอง​ โดยเฉพาะเฟดก็ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดการไหลออกของเงินและการบริโภคที่ร้อนแรง​ ทั้งนี้​ จะเห็นได้ว่า​ เศรษฐกิจของสหรัฐในช่วงตั้งแต่ไตรมาสามปีก่อนถึงไตรมาสแรกปีนี้ขยายตัวได้สูงถึง​ 6-7%  แต่หลังจากเจอโอมิครอน​บวกกับสงครามยูเครน อัตราการขยายตัวก็ปรับลดลง

อย่างไรก็ดี​ เมื่ออัตราเงินเฟ้อของไทยปรับเพิ่ม​ การดำเนินนโยบายการเงินและการคลังก็ต้องดูแลให้เหมาะสม​ เพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชนมากนัก​ ซึ่งแน่นอนก็จะมีการดูแลเรื่องราคาพลังงาน​ แต่ถามว่า​ เราจะตรึงราค​าได้นานแค่ไหน​ ขณะนี้​ เราก็จะดูแลให้ตรงกลุ่มเป้าหมายจากเดิมที่ดูแลแบบปูพรหม​ เช่น​ เรื่องNGV ก็จะดูแลในภาคขนส่ง​ ซึ่งก็คือ​ แท็กซี่​ ส่วนก๊าซหุงต้มก็ต้องปล่อยให้ราคาขยับขึ้นบ้าง​ ด้านดีเซล​รัฐบาลก็ช่วยอยู่​ แต่ราคาก็ยังสูง​ 

เขากล่าวว่า การบริหารในภาวะเงินเฟ้อ ในภาวะปกติแม้เงินเฟ้อจะสูงขึ้นแต่ ภาคเอกชนก็อาจจะยังไม่ได้ปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นตาม แต่ในช่วงนี้ระดับเงินเฟ้อขึ้นสูง ซึ่งอาจอยู่ในภาวะที่ Shock ในช่วงนี้ แต่หากภาคเอกชนบริหารต้นทุนแบบกระจาย ก็อาจไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นราค้าสินค้า ตามระดับเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นสูงถึง 6 -7% อย่างในช่วงนี้ก็ได้

อย่างไรก็ตามเขากล่าวว่า แม้ว่าขณะนี้ระดับเงินเฟ้อในประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่สูง แต่ระดับเงินเฟ้อของไทย ยังอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีระดับเงินเฟ้อที่ต่ำ  ทั้งนี้กรอบเงินเฟ้อที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน และกระทรวงการคลัง ได้ตกลงร่วมกันอยู่ที่ 1 -3% ซึ่งถือว่ามีความยืดฝดหยุ่นที่เพียงพอสำหรับการพิจารณาอัตราดอกเบี้ย

ส่วนมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล​ ซึ่งจะสิ้นสุดมาตรการในวันที่​ 20​ ก.ค.นี้​ เราต้องพิจารณาเรื่องของผลกระทบที่จะมีต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล​ ซึ่งต้องประเมินอีกครั้ง​ แม้ขณะนี้​ ในรอบ​ 5  เดือนแรกรัฐบาลจะจัดเก็บรายได้เกินเป้าหมายก็ตาม​ นอกจากนี้​ ยังต้องติดตามเรื่องราคาน้ำมันประกอบด้วย

"เราก็ประเมินแล้วว่า​ ราคาน้ำมันก็น่าจะอยู่ในระดับสูงต่อ  แต่ถ้าเรามีรายได้ส่วนเกิน​ เราก็จะเอาไปช่วยในการลดภาษี​ ส่วนเรื่องค่าการกลั่นนั้น​ ทางสภาอุตสาหกรรมได้ทำหนังสือมาถึงกระทรวงการคลังแล้วก็อยู่ระหว่างการเจรจา

ในส่วนเรื่องของค่าจ้างนั้น​ ในช่วงปลายปีจะมีการหารือกับเอกชนเพื่อปรับเพิ่มให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อ

เขายังกล่าวด้วยว่า​ ขณะนี้​ภาคการท่องเที่ยวเริ่มมีความคึกคัก​ โดยรัฐบาลก็ได้ออกมาตรการมาสนับสนุน​ ทั้งการลดหย่อนภาษีจากการจัดสัมมนาหรือเราเที่ยวด้วยกัน​ แต่มาตรการดังกล่าวในที่สุดแล้วก็ต้องทยอยลดลง​ เพราะการบริโภคจะเริ่มกลับมา​ ส่วนความช่วยเหลือผู้ประกอบการนั้น​ ในเรื่องของสภาพคล่องเราก็มีนโยบายให้แบงก์รัฐช่วยสนับสนุนเต็มที่

เขากล่าวอีกว่า ในช่วงสองปีที่ผ่านมาการดำเนินมาตรการการเงินและมาตรการการคลัง มีความสอดประสานกัน ซึ่งไม่ใช่ประเทศไทยประเทศเดียวที่ทำเช่นนี้ แต่ทั้งโลกก็ดำเนินโดยใช้มาตรการการเงินและการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจาก​ รายได้ของประชาชนหายไป จากผลกระทบโควิด
ทั้งนี้วงเงินกู้ตาม พรก.กู้เงินฉบับพิเศษ รวม 2 ฉบับ เป็นวงเงิน 1.5 ล้านล้านบาทนั้น 60 -70% นำไปใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ และส่วนที่เหลือใช้ไปกับด้านการสาธารณสุข การแพทย,มาตรการกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน และมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งการใช้จ่ายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจอาจยังไม่มาก เนื่องจากเราเจอกับการแพร่ระบาดของโควิดหลายรอบ ทำให้ต้องนำเงินมาช่วยเยียวยาประชาชน

เขากล่าวว่า ทั้งธนาคารโลก และ IMF  บอกให้รัฐบาลของทุกประเทศในโลกจะต้องออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยไม่ต้องห่วงในเรื่องหนี้สาธารณะ ซึ่งระดับหนี้สาธารณะของแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่กับขีดความสามารถในการชำระหนี้ของแต่ละประเทศ  ซึ่งบางประเทศระดับหนี้สาธารณะขึ้นไปกว่า 100 % ของจีดีพี