เปิดสาระสำคัญแผนใหม่ ‘การบินไทย’ มั่นใจฟื้นฟูกิจการสำเร็จในปี 68

เปิดสาระสำคัญแผนใหม่ ‘การบินไทย’ มั่นใจฟื้นฟูกิจการสำเร็จในปี 68

'การบินไทย' เปิดสาระสำคัญแผนฟื้นฟูฉบับใหม่ จัดหาสินเชื่อ 12,500 ล้านบาท การปรับโครงสร้างทุน การลดทุน และการเพิ่มทุน มั่นใจดันองค์กรฟื้นฟูกิจการสำเร็จในปี 2568

คณะผู้บริหารแผน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้เข้ายื่นแผนฟื้นฟูฉบับใหม่ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เมื่อวันที่ 1 ก.ค ที่ผ่านมา เพื่อขอรับการพิจารณาตามขั้นตอนศาลล้มละลาย และการพิจารณาจากเจ้าหนี้ เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์ของธุรกิจกลับมามีสัญญาณบวกต่อเนื่อง ประกอบกับการลดต้นทุน และแผนเพิ่มรายได้เห็นผลอย่างชัดเจน ทำให้บริษัทฯ มีระดับกระแสเงินสดในการดำเนินกิจการที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยปัจจุบันมีกระแสเงินสดอยู่ที่ 14,000 ล้านบาท ส่งผลให้ระดับความต้องการสินเชื่อใหม่ลดลงจากเดิม และขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ

โดยสาระสำคัญการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ มี 4 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย

1.การก่อหนี้ และการระดมเงินทุน รวมถึงแหล่งของเงินทุนและเงื่อนไขแห่งหนี้สินและเงินทุน

จัดหาสินเชื่อใหม่จำนวน 12,500 ล้านบาท แบบสินเชื่อระยะยาว (Term Loan) และ/หรือตราสารหนี้ที่มีอายุการไถ่ถอนไม่น้อยกว่า 6 ปี โดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เป้าหมายเพื่อเงินทุนหมุนเวียน ค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจปกติ ค่าใช้จ่ายในการลงทุนสำหรับบริษัทฯ และบริษัทย่อย การปรับปรุงหรือซ่อมแซมทรัพย์สินของการบินไทย การปรับปรุงและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภายในองค์กร ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการพาณิชย์ การปรับฝูงบินให้เหมาะสมกับสถานการณ์ตลาด และการประกอบธุรกิจการบินที่อาจเปลี่ยนแปลงไป นอกจากนั้น บริษัทฯ ยังได้เตรียมการจัดหาสินเชื่อหมุนเวียน (Revolving Facility) ในวงเงินไม่เกิน 12,500 ล้านบาทอีกด้วย

2.การปรับโครงสร้างทุน การลดทุน และการเพิ่มทุน

เพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวนไม่เกิน 31,500 ล้านหุ้น โดยมีเป้าหมายในการทำให้ส่วนทุนเป็นบวกเพื่อสร้างความมั่นคงทางสถานะการเงินของบริษัทฯ เพื่อให้หลักทรัพย์ของบริษัทฯ สามารถกลับไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้อีกครั้ง

3.เจ้าหนี้ที่แผนกำหนดให้ได้รับการชำระหนี้

แก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียดจำนวนหนี้ที่ต้องชำระ กำหนดการชำระ และการดำเนินการเกี่ยวกับอากาศยานที่เช่าสำหรับเจ้าหนี้กลุ่ม Export Credit Agency (ECA) ให้เป็นไปตามสัญญาระงับข้อพิพาท (Settlement Agreement)

4.ประเด็นอื่นๆ

  • แก้ไขรายละเอียดการได้รับชำระหนี้ของเจ้าหนี้บางกลุ่ม
  • แก้ไขรายละเอียดในส่วนผลสำเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการ
  • ยกเลิก "คณะกรรมการทำกับดูแลสินเชื่อใหม่"
  • เพิ่มกลุ่มรายละเอียด และแผนการชำระหนี้สำหรับเจ้าหนี้การค้าที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำเนินกิจการของบริษัทฯ ในต่างประเทศ
  • เพิ่มอำนาจผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการในการเปลี่ยนแปลงและจัดกลุ่มเจ้าหนี้ให้อย่างยิ่งยวดต่อการตำเนินธุรกิจของบริษัทฯ

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวยืนยันถึงการแก้ไขแผนฟื้นฟูฉบับนี้ว่า การยื่นคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูนั้น ตามขั้นตอนศาลล้มละลายจะมีการนัดประชุมเจ้าหนี้ทั้งหมดราว 13,000 คน เพื่อโหวตแผนฟื้นฟูฉบับใหม่ เบื้องต้นคาดว่าจะมีการนัดดังกล่าวประมาณเดือน ส.ค. - ก.ย.นี้ และคาดว่าขั้นตอนพิจารณาแผนจะแล้วเสร็จภายในต้น ต.ค.2565

โดยบริษัทฯ คาดการณ์ว่าจะสามารถปรับโครงสร้างทุน ได้เงินทุนใหม่เข้ามาดำเนินการตามแผนฟื้นฟูภายในปี 2567 และจะผลักดันให้องค์กรออกจากแผนฟื้นฟูได้ภายในปี 2568 ภาพรวมจะใช้เวลาฟื้นฟูกิจการราว 3.5 ปี ซึ่งเร็วกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ 5 ปี