‘การบินไทย’ ยื่นแก้แผนฟื้นฟู ก.ค.นี้ มั่นใจเจ้าหนี้ได้เงินคืนเร็วขึ้น

‘การบินไทย’ ยื่นแก้แผนฟื้นฟู ก.ค.นี้ มั่นใจเจ้าหนี้ได้เงินคืนเร็วขึ้น

“การบินไทย” เตรียมยื่นศาลล้มละลาย ขอแก้แผนฟื้นฟู ต้นเดือน ก.ค.นี้ ลดกรอบทุนใหม่เหลือ 2.5 หมื่นล้าน หลังธุรกิจการบินเริ่มฟื้น ดันแคชโฟว์สะสมแตะ 1 หมื่นล้าน สัญญาณผู้โดยสารบวก บุ๊กกิ้งแน่น 80% จ่อเพิ่มฝูงบิน 5 ลำ เสริมทัพไฮซีซั่นนี้ มั่นใจฟื้นฟูกิจการแล้วเสร็จภายในปี 2568

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้เริ่มดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการมาครบ 1 ปี หลังจากศาลล้มละลายกลางเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2564 ซึ่งในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมา ปรับปรับแผนธุรกิจและเพิ่มรายได้ และทำให้มีความต้องการใช้ทุนใหม่ลดลงจาก 50,000 ล้านบาท เหลือ 25,000 ล้านบาท ซึ่งจำเป็นต้องยื่นขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ พบว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมการบินเริ่มฟื้นตัวชัดเจน โดยที่ผ่านมาการบินไทยลดต้นทุนและควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดี ซึ่งรายได้ล่าสุดเดือน มิ.ย.2565 อยู่ที่ 5,138 ล้านบาท แบ่งเป็นสัดส่วนรายได้ขนส่งผู้โดยสาร 62% และรายได้จากการขนส่งสินค้า 38% 

ส่วนรายได้ที่เกิดขึ้นนั้น ภาพรวมเห็นชัดว่ามีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และสูงกว่าประมาณการรายได้ที่ตั้งไว้เมื่อปลายปี 2564 อีกทั้งขณะนี้มีแนวโน้มเติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญจากปริมาณผู้โดยสารและการขนส่งสินค้า โดยการบินไทยคาดการณ์ว่าเดือน ก.ค.2565 จะมีรายได้เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 7,074 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมียอดจองล่วงหน้า (บุ๊กกิ้ง) คิดเป็นมูลค่าราว 5,088 ล้านบาท ส่วนนี้เป็นยอดบุ๊กกิ้งผู้โดยสาร 61% และขนส่งสินค้า 39%

ทั้งนี้ จากการฟื้นตัวของธุรกิจส่งผลให้การบินไทยมีกระแสเงินสด (แคชโฟว์) สะสมในปัจจุบันกว่า 10,000 ล้านบาท ทำให้ผู้บริหารแผนประเมินว่าเงินทุนใหม่ที่เป็นต้องหาเพื่อบริหารกิจการช่วงฟื้นฟูกิจการไม่จำเป็นต้องสูงถึง 50,000 ล้านบาท โดยจะลดกรอบวงเงินจัดหาทุนใหม่เหลือ 25,000 ล้านบาท ซึ่งทำให้การบินไทยต้องเสนอแผนใหม่ต่อศาลล้มละลายกลาง และขอจัดประชุมเจ้าหนี้เพื่ออนุมัติแผนฟื้นฟูฉบับแก้ไข

“การปรับกรอบวงเงินทุนใหม่ต้องแก้ไขรายละเอียดในแผนฟื้นฟูกิจการ ตอนนี้ผู้บริหารแผนมีเป้าหมายยื่นศาลล้มละลายเพื่อขอแก้ไขแผนฟื้นฟู ซึ่งจะยื่นแผนใหม่ภายในต้นเดือน ก.ค.นี้ เพื่อลดกรอบจัดหาเงินทุนใหม่ และปรับรายละเอียดแผนฟื้นฟูให้ดีกว่าเดิม เรื่องการดูแลเจ้าหนี้ให้ครบทุกกลุ่ม”

ยื่นแก้ไขแผนฟื้นฟู ก.ค.นี้

นายชาญศิลป์ กล่าวว่า แผนฟื้นฟูฉบับแก้ไขยังคงแผนการชำระหนี้ตามเดิม เช่นเดียวกับแผนจัดตั้งบริษัทลูกแยกมาจากหน่วยธุรกิจที่มีศักยภาพ ประกอบด้วย ครัวการบิน ศูนย์ซ่อมอากาศยาน ธุรกิจขนส่งสินค้า ตลอดจนแผนขายสินทรัพย์รองที่ไม่จำเป็นสำหรับการดำเนินธุรกิจ เช่น อสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ อากาศยานที่ปลดระวาง เป็นต้น

ขณะที่ความจำเป็นในการจัดหาเงินทุนใหม่ 25,000 ล้านบาท ยืนยันว่าเป็นเพียงการขออนุมัติกรอบวงเงินเท่านั้น โดยผู้บริหารแผนประเมินว่าการบินไทยอาจไม่จำเป็นต้องหาทุนใหม่สูงถึง 25,000 ล้านบาท เพราะยังมีแคชโฟว์สะสม และมีแนวโน้มที่รายได้จะเพิ่มมาต่อเนื่อง เบื้องต้นประเมินว่าอาจจำเป็นใช้เงินทุนใหม่ 10,000 ล้านบาทเท่านั้น และคาดว่าเริ่มเงินส่วนนี้ใช้ในปี 2566 

สำหรับความจำเป็นของการใช้เงินทุนใหม่ในช่วงดังกล่าว เพราะการบินไทยมีแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่ออำนวยความสะดวกผู้โดยสาร และเป็นเครื่องมือการตลาดหารายได้ เช่น การพัฒนาช่องทางขายผ่านดิจิทัล การปรับปรุงบริการ อุปกรณ์อำนวยความสะดวกและการซ่อมบำรุงอากาศยาน โดยไม่นำทุนใหม่ไปจ่ายชดเชยพนักงานโครงการร่วมใจจาก เพราะค่าใช้จ่ายดังกล่าวทยอยจ่ายชดเชยแล้ว

เพิ่มเครื่องบิน5ลำหารายได้

ส่วนแผนเพิ่มรายได้ของการบินไทย ประเมินว่าภายหลังรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศวันที่ 1 ก.ค.2565 เป็นปัจจัยบวกหนุนการเดินทาง ขณะนี้จึงเตรียมนำอากาศยานที่เคยปลดระวาง 5 ลำ แบ่งเป็น โบอิ้ง 777-200ER จำนวน 2 ลำ และแอร์บัส เอ330 จำนวน 3 ลำ มาซ่อมเพื่อเสริมขีดความสามารถด้านการบินระยะสั้น 4 ปี โดยเริ่มนำมาให้บริการในเดือน ต.ค.นี้ รองรับช่วงฤดูการท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) 

“ตอนนี้ผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็นตลาดยุโรป 80% เห็นสัญญาณชัดเจนว่าการเดินทางฟื้นตัวขึ้น โดยปัจจุบันมีอากาศยานให้บริการ 41 ลำ คิดว่าช่วงไฮซีซั่นดีมานด์จะมาก จึงนำอากาศยานมาซ่อมเพื่อบริการระยะสั้น ส่วนแผนหาฝูงบินเพิ่มต้องรอดูดีมานด์หลังจากนี้ แต่หากจำเป็นต้องเพิ่มฝูงบินจะเลือกวิธีเช่า และต้องจำกัดประเภทเครื่องบินไม่ให้หลากหลายมากเพื่อคุมต้นทุนค่าซ่อมบำรุง”

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและสายบัญชี การบินไทย กล่าวว่า การบินไทยจะใช้งบหลัก 100 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงอากาศยาน 5 ลำ และนำมาให้บริการในช่วงไฮซีซั่นนี้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทำการบิน เนื่องจากปัจจุบันการบินไทยมีกำลังการผลิตราว 40% หากเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ในปี 2562 ซึ่งในช่วงดังกล่าวการบินไทยมีฝูงบินรวม 100 ลำ ให้บริการ 70 เส้นทางบินทั่วโลก แต่ปัจจุบันมีฝูงบิน 41 ลำ และมีเป้าหมายจะให้บริการในปลายปีนี้รวม 55 เส้นทางทั่วโลก

หนุนรายได้ปีนี้แตะหมื่นล้าน

ดังนั้น การบินไทยจำเป็นต้องเพิ่มขีดความสามารถให้บริการผู้โดยสาร ซึ่งหลังจากนี้จะเน้นเพิ่มความถี่เส้นทางบินที่ทำกำไร เพื่อรักษาอัตราผลตอบแทนต่อที่นั่งให้อยู่ระดับทำกำไรได้ โดยปัจจุบันยิวด์แต่ละเที่ยวบินดีมาก ซึ่งหากเป็นไปตามแผนคาดว่าการเพิ่มขีดความสามารถจากอากาศยาน 5 ลำ จะทำให้รายได้ปีนี้มีโอกาสแตะ 10,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ แม้การบินไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น และผลประกอบการจะเห็นว่ามีกำไรจากการดำเนินงานตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ปีก่อนแล้ว แต่ภาพรวมพบว่าการบินไทยมีผลประกอบการขาดทุน เกิดจากการหักลบหนี้สินที่การบินไทยมีสะสม 140,000 ล้านบาท โดยหากเทียบการขายสินทรัพย์รองในช่วงที่ผ่านมา เพิ่มรายได้ราว 9,000 ล้านบาท ยังไม่สามารถลดหนี้สินคงค้างให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญได้

“ตอนนี้คงแผนลดค่าใช้จ่าย ตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นอย่างต้นทุนบริหารจัดการอากาศยานหลายรูปแบบ รวมถึงสินทรัพย์ต่างประเทศที่ไม่ได้ใช้งานจะนำมาขายให้หมด เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ ส่วนพนักงานยืนยันว่าจะไม่รับเพิ่มในช่วงนี้ ตามแผนโครงสร้างพนักงานที่เหมาะสมอยู่ที่ 14,000-15,000 คน”

ทยอยเบิกเงินกู้หมื่นล้าน

นายชาย กล่าวว่า เงินทุนใหม่ 25,000 ล้านบาท ที่การบินไทยจะยื่นแก้ไขแผนฟื้นฟูนั้น ไม่ได้เป็นการเบิกเงินสดในครั้งเดียว แต่จะทยอยเบิกใช้ในส่วนที่จำเป็นราว 10,000 ล้านบาท ที่เหลือเป็นกรอบวงเงินเผื่อฉุกเฉินในอนาคต เป็นการบริหารความเสี่ยง เงินสำรองในการดำเนินธุรกิจ โดยที่ผ่านมาการบินไทยหารือการปรับแผนฟื้นฟูร่วมกับผู้ถือหุ้นแล้ว ซึ่งถึงกระทรวงการคลังมีสัญญาณสนับสนุนแผน

ส่วนแนวทางหาเงินทุนใหม่จะแบ่งออกเป็น 1.เพิ่มทุน ที่จะมาจาก 3 ส่วน ได้แก้ เจ้าหนี้เดิม ผู้ถือหุ้นเดิม และผู้ลงทุนใหม่ และ 2.แหล่งเงินใหม่ โดยรูปแบบของการจัดหาเงินทุนใหม่จะเป็นอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับเจ้าหนี้เดิม และผู้ถือหุ้นเดิม ที่จะมีความต้องการในการเพิ่มทุนมากน้อยแค่ไหน โดยหากมีเพียงพอในวงเงินที่การบินไทยต้องการแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องหาทุนจากกลุ่มใหม่ 

ทั้งนี้ จากแนวโน้มการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบิน ประกอบกับบุ๊กกิ้งสูงในระดับ 80% การบินไทยมั่นใจว่าจะฟื้นฟูกิจการตามแผนภายใน 3.5 ปี นับจาก มิ.ย.2564 ซึ่งการฟื้นฟูกิจการต้องดำเนินการเสร็จในช่วงแรก 5 ปี และขยายได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 1 ปี หรือรวม 7 ปี