การบินไทย แย้มขอกู้แบงก์ เติมสภาพคล่องไม่ถึง 2.5 หมื่นล้านบาท

การบินไทย แย้มขอกู้แบงก์ เติมสภาพคล่องไม่ถึง 2.5 หมื่นล้านบาท

การบินไทย” จ่อขายสำนักงานต่างประเทศมูลค่า 2 พันล้านบาท เหตุเน้นขายตั๋วโดยสารผ่านออนไลน์มากขึ้น คาดปี 65 ขาดทุนลดลงจากปีก่อน เหตุธุรกิจฟื้นตัวต่อเนื่องหลังเปิดประเทศ หนุนกระแสเงินสดเพิ่ม อาจทำให้กู้เงินไม่ถึง 2.5 หมื่นล้านบาท เชื่อออกจากแผนฟื้นฟูกิจการก่อนกำหนด

    นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่อาวุโส  รักษาการประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนขายทรัพย์สินมูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยเป็นสำนักงาน และทรัพย์สินในต่างประเทศ เนื่องจากแผนธุรกิจ หรือโครงสร้างธุรกิจที่เปลี่ยนไป เพราะการขายตั๋วโดยสารผ่านออนไลน์จะมีบทบาทมากขึ้น ทำให้การขายผ่านเอเจนท์จะมีความสำคัญลดลง ทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องเก็บทรัพย์สินในต่างประเทศไว้ 

     “การขายทรัพย์สิน แม้การบินไทยจะไม่ประสบปัญหาจากการดำเนินธุรกิจ หรือได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่การบริหารทรัพย์สินก็มีความสำคัญ ต้องดูว่าสินทรัพย์ที่เก็บไว้สามารถใช้งานต่อไปได้หรือไม่ อีกทั้งปัจจุบันบริษัทให้ความสำคัญการขายสินทรัพย์ผ่านออนไลน์มากขึ้น แต่ยังมีขายตรง และผ่านเอเจนท์แต่บทบาทจะลดลง

    ทั้งนี้ จากผลประกอบการของบริษัทไตรมาส 1 ปี 2565 ที่ดีขึ้น จากจำนวนผู้โดยสาร และเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น รวมถึงความพยายามในการปรับโครงสร้างองค์กร ลดต้นทุน และเพิ่มรายได้  อาจส่งผลให้บริษัทสามารถออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้เร็วกว่าแผนที่กำหนดได้ จากกระบวนการของการเข้าสู่แผนฟื้นฟู กำหนดให้บริษัทสามารถอยู่ภายใต้แผนได้ 5 ปี และขยายได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 1 ปี รวมเป็น 7 ปี 

     ส่วนจะสามารถออกจากแผนฟื้นฟูได้เมื่อใดนั้น ยังไม่สามารถตอบได้ เพราะต้องมีการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ต่อไป  ส่วนแผนจะนำหุ้นกลับมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) คาดว่าจะกลับมาเทรดได้ก่อนกำหนดที่จะถูกเพิกถอนในช่วงมี.ค.2568

   “ภายใต้แผนฟื้นฟู เราต้องมีการปรับแผนธุรกิจ ปรับโครงสร้างทุนใหม่ ซึ่งจะมีความชัดเจนในเร็วๆ นี้ ซึ่งขณะนี้ บริษัทจำเป็นต้องเข้าไปดูโครงสร้างธุรกิจ และการระดมทุนว่าจะเป็นลักษณะไหน แต่สิ่งที่บริษัทได้ทำไปแล้ววันนี้คือ การลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ เรามีการขายสินทรัพย์ มีการหารายได้เสริมเข้ามามากขึ้น”

  กู้แบงก์ไม่ถึง 2.5 หมื่นล้านบาท

     นายชาย กล่าวถึงความคืบหน้าการขอสินเชื่อใหม่จากธนาคารพาณิชย์ว่า หากดูจากผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2565 ที่ผ่านมา บริษัทมีกระแสเงินสดของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้น หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนและแนวโน้มยังมีทิศทางดีขึ้นต่อเนื่อง

    ดังนั้นวันนี้บริษัทจำเป็นต้องทบทวนว่า มีความจำเป็นในการขอสินเชื่อใหม่ภายใต้วงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท หรือไม่ แต่หาก ดูจากกระแสเงินสดของบริษัทในปัจจุบันทำให้อาจไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้สินเชื่อใหม่ถึง 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งแผนการของสินเชื่อใหม่ดังกล่าว ถือว่าลดลง หากเทียบกับ แผนฟื้นฟูเดิม ที่มีแผนกู้เงินจากสถาบันการเงินถึง 5 หมื่นล้านบาท

    สำหรับทิศทางการดำเนินงานของบริษัท บริษัทเชื่อว่า มีทิศทางดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะรายได้ที่คาดว่าจะดีกว่าปีก่อน และคาดว่าผลขาดทุนปีนี้จะลดลงเช่นกัน  ซึ่งถือว่า เป็นปกติของธุรกิจที่กำลังเร่ง Recovery จากธุรกิจที่ย่ำแย่ และเป็นผลจากการเปิดประเทศ ของหลายๆ ประเทศรวมถึงไทย 

    รวมถึงการเร่งลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มรายได้ของบริษัท จะถือว่า มีบทบาทสำคัญให้ธุรกิจกลับมาฟื้นตัวได้ จากการดำเนินการของบริษัทในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู ทำให้บริษัทมีการริเริ่มโครงการใหม่ๆ ต่อเนื่อง ทำให้ช่วงที่ผ่านมา บริษัทสามารถ ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้สะสม ที่ส่งมอบไปแล้วเกือบ 5.6 หมื่นล้านบาท

จัดโปรโมชั่นต่อเนื่อง

    โดยเฉพาะไตรมาสแรก ปี 2565 สามารถเพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 4.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ จะเป็นสิ่งที่บริษัทจะดำเนินการต่อไปเรื่อยๆ หลังจากนี้ รวมถึงการทำโปรโมชั่นต่างๆ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับบริษัท

    เช่น การทำโปรโมชั่นสายการบิน สำหรับเดินทางไปยุโรป รวมถึงการลดต้นทุน โดยนำสินทรัพย์ต่างๆ มาประมูลขาย เช่น เก้าอี้การบินไทย ที่ปัจจุบันมีผู้สนใจเข้าประมูลค่อนข้างมาก ซึ่งประมูลได้สูงสุดคู่ละถึง 2.4 แสนบาท

    อีกทั้ง บริษัทยังมีการปรับแผนเพิ่มรายได้ จากการขนส่งสินค้า (Cargo) ใต้ท้องเครื่องเพิ่ม ถือเป็นพระเอกในการสร้างรายได้ให้กับบริษัทขณะนี้ เพราะช่วงที่เจอผลกระทบจากโควิด-19 กระทบทำให้จำนวนผู้โดยสารปรับตัวลดลงแรง บริษัทก็ได้รายได้จาก Cargo เป็นรายหลักเข้ามาช่วยธุรกิจ จากเดิมที่รายได้ส่วนนี้ จะเป็นส่วนเสริมในการดำเนินธุรกิจเท่านั้น

    “เราปรับแผนหารายได้ ซึ่ง Cargo วันนี้ ถือเป็นพระเอกในการเพิ่มรายได้ให้บริษัท ทั้งการขนส่งผลไม้ใต้ท้องเครื่องไปจีน อินเดีย หรือออสเตรเลีย ซึ่งก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับบริษัท และขนส่งสินค้าโดยวางบนเบาะผู้โดยสาร แต่ก็ทำอย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้เบาะผู้โดยสายเสียหาย”

    ขณะเดียวกัน บริษัทได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับ กลุ่มบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) PTT เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ ในการร่วมมือกับทำธุรกิจร่วมกัน โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวกับโลจิสติกส์ คลังสินค้า ซึ่งคาดว่า จะใช้เวลาศึกษาในการทำแผนธุรกิจร่วมกันราว 1ปี ซึ่งโดยปกติแล้ว หากมีความเป็นไปได้ในการร่วมทุน คงต้องมีการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนหรือ JV ร่วมกันด้วยในอนาคต
 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์