วันเดอร์แมนฯ ฟันธงภูมิทัศน์ชอปปิง ‘ออนไลน์’ กุมอำนาจซื้อผู้บริโภค

วันเดอร์แมนฯ ฟันธงภูมิทัศน์ชอปปิง ‘ออนไลน์’ กุมอำนาจซื้อผู้บริโภค

พฤติกรรมการชอปปิง ชี้เป็น-ตาย ให้กับธุรกิจ ยิ่งในโลกที่หน้าร้านออฟไลน์ยังทำเงินเป็นหลัก แต่ช่องทาง “ออนไลน์” ช่วยติดขีปนาวุธสร้างยอดขายโตทะลุทะลวง และที่สุดผู้ประกอบการต้องผสานช่องทางขายเป็น “ออมนิชาแนล” เชื่อมโลกการซื้อสินค้าให้ผู้บริโภค

ทว่า หลังโควิดแนวโน้มการชอปปิงของผู้บริโภคจะเป็นอย่างไร วันเดอร์แมน ธอมสัน เผยงานวิจัย “Future Shopper” ครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นภาคต่อของซีรีส์ Future Pulse Survey โดยครั้งนี้ได้สำรวจขาช้อปทั่วโลก 31,000 คน ใน 18 ประเทศ ส่วนไทย กลุ่มตัวอย่าง 1,084 คน ครอบคลุมทุกเจนเนอเรชั่น พบเทรนด์น่าสนใจมากมาย

มัวรีน ตัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พร้อมด้วย ฌอน ลี ออง ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ วันเดอร์แมน ธอมสัน ประเทศไทย  เปิดเผยพฤติกรรมผู้บริโภคขาช้อปเปลี่ยนไป คนไทย 95% มองการชอปปิงออนไลน์มีบทบาทในชีวิตเพิ่มขึ้น โดยการใช้จ่ายผ่านออนไลน์เติบโตก้าวกระโดดจาก 35% ในปี 2564 เพิ่มเป็น 65% ในปี 2565 ยิ่งกว่านั้นผู้บริโภคใช้จ่ายผ่านออนไลน์จนมีสัดส่วน 61% “แซงหน้า” ช่องทางออฟไลน์ด้วย ซึ่งมีสัดส่วน 39% เทียบก่อนเกิดโควิด ออฟไลน์ยังโกยเงินมากสุด 75% และออนไลน์มีเพียง 25% เท่านั้น

จากเทรนด์ดังกล่าว ในอนาคตผู้บริโภค 86% จึงย้ำว่าการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์จะสำคัญต่อเนื่องด้วย

นอกจากนี้ พฤติกรรมคนไทยชอบความยืดหยุ่นได้ทำงานที่บ้าน และ 82% คาดหวังจะทำงานที่บ้านมากขึ้น จึงเอื้อต่อการช้อปออนไลน์ แม้การคลิกซื้อสินค้าปลายนิ้วทรงพลังขึ้น แต่ผู้บริโภค 79% ยังช้อปทั้งหน้าร้านจริงและออนไลน์ ดังนั้นแบรนด์จึงไม่ควรมองข้ามการสร้างประสบการณ์ช้อปแบบไร้รอยต่อผ่านช่องทาง “ออมนิชาเนล”

“เป็นปีแรกที่สัดส่วนการชอปปิงผ่านออนไลน์มากกว่าออฟไลน์ และแนวโน้มในอนาคตภูมิทัศน์การชอปปิงจะไม่กลับมายังออฟไลน์เป็นช่องทางหลักอีกแล้ว เพราะบางส่วนผู้บริโภคคนไทยกลัวการไปช้อปในห้างค้าปลีกจากสถานการณ์โรคระบาด ซึ่งถือเป็นอันดับ 3 รองจากอินเดียและจีน ส่วนสินค้าที่ยังคงไปซื้อในห้างจะเป็นกลุ่มอาหารสดต่างๆหรือสินค้าโกรเซอรี”

ทั้งนี้ แพลตฟอร์มที่ครองใจนักช้อปยังเป็นมาร์เก็ตเพลสต่างๆ เช่น Shopee Lazada แต่ช่องทางใหม่ที่กำลังได้รับความสนใจเพิ่ม ได้แก่ Youtube วิดีโอเกม เมตาเวิร์ส และเว็บไซต์สินค้ามือสอง ฯ ส่วนตัวแปรที่ดึงดูดขาช้อป ไม่ใช่แค่สินค้า “ราคาต่ำ” แต่ความสะดวก ง่ายในการค้นหา บริการจัดส่งรวดเร็ว และ 58% ต้องการให้ส่งสินค้าเร็วขึ้น 50% อยากให้ค่าจัดส่งถูกลง เหล่านี้ความต้องการเชิงลึก(Insight)

ส่วนช่องทาง “โซเชียล คอมเมิร์ซ” ที่คนไทยขึ้นแท่นซื้อสินค้ามากสัดส่วนสูงสุดในโลก 88% แพลตฟอร์มเฟซบุ๊กยังคงติดลมบททิ้งห่างคู่แข่ง แต่แพลตฟอร์มน้องใหม่ “TikTok” โตแรงมาก เช่นเดียวกับ Line เติบโตอย่างน่าสนใจ ซึ่งแบรนด์ไม่ควรมองข้าม สำหรับปัจจัยที่ผู้บริโภคจะซื้อสินค้าผ่านโซเชียลคอมเมิร์ซ 44% ยกให้ความง่าย ตามด้วย 40% มองโปรโมชั่น และ 35% เล็งข้อเสนอพิเศษ เป็นต้น

ส่วน “ผู้ทรงอิทธิพล” ต่อการซื้อสินค้า “ครอบครัว” ยังมาเป็นที่ 1 แต่หดตัวลง ขณะที่ 3 กลุ่มช่วยกระตุ้นการตัดสินใจซื้อมากขึ้น ได้แก่ สตรีมเมอร์หรือนักจัดการายการสด(Live Streaming) คนดัง( Celebrity) มาแรง ก่อนหน้านี้ บรรดาผู้นำทางความคิด(KOL) รวมถึง Influencer จูงใจสาวกให้ซื้อสินค้าได้ ปัจจุบันแผ่วลงเล็กน้อย

“วิจัยล่าสุดสะท้อนให้เห็นทัศนคติและพฤติกรรมดิจิทัลของผู้บริโภคชาวไทย เปลี่ยนแปลงไป เส้นทางการชอปปิงของลูกค้าสั้นลง คนไทยใจร้อน ต้องการชอปปิงเร็ว ขณะเดียวกันการสร้างประสบการณ์ชอปปิง หรือ Experience is King มีความสำคัญมากขึ้น แบรนด์ต้องตอบความคาดหวังของลูกค้าให้ได้”