รฟม.ตั้งเงื่อนไขโอนสายสีเขียว รัฐต้องอุ้มจ่ายหนี้ “บีทีเอส” ติดตั้งระบบ

รฟม.ตั้งเงื่อนไขโอนสายสีเขียว รัฐต้องอุ้มจ่ายหนี้ “บีทีเอส” ติดตั้งระบบ

รฟม.ยันหากรัฐมีนโยบาย พร้อมรับบริหารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ระบุชัดรัฐต้องอุ้มภาระมูลหนี้งานติดตั้งระบบ “บีทีเอส” กว่า 2 หมื่นล้านบาท

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ระบุถึงแนวทางการรับโอนบริหารรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยระบุว่า ปัจจุบันมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มอบหมายให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) บริหารโครงการดังกล่าว ซึ่ง รฟม.อยู่ระหว่างสรุปรายละเอียดภาระทางการเงิน โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต ของ รฟม.ให้กับ กทม. รวมไปถึงจัดทำบันทึกข้อตกลง (เพิ่มเติม ฉบับที่1) ว่าด้วยการจำหน่ายทรัพย์สินและโอนภาระทางการเงินในโครงการดังกล่าว

แต่อย่างไรก็ดี ในกรณีที่หากรัฐบาลมีนโยบายให้ รฟม.นำโครงการดังกล่าวกลับมาบริหารจัดการและเดินรถเอง รฟม.ก็ยืนยันว่าถ้าเป็นนโยบายของรัฐบาล รฟม.มีความพร้อมที่จะเข้าไปดำเนินการ แต่ยอมรับว่าการเข้าไปนำโครงการนี้กลับมาบริหารนั้น รัฐบาลต้องรับผิดชอบส่วนของมูลหนี้ที่เกิดจากการลงทุนของเอกชน ที่ปัจจุบันได้ติดตั้งระบบรถไฟฟ้า รวมไปถึงมีการเดินรถและบำรุงรักษาโครงการนี้อยู่

“การจะโอนโครงการกลับมาให้ รฟม.บริหาร เป็นเรื่องที่ตอบยาก เพราะวันนี้ขั้นตอนการโอนทรัพย์สินและภาระทางการเงินก็ไปไกลแล้ว เราแยกภาระหนี้ส่วนนี้เพื่อรอจำหน่ายให้กับ กทม.แล้ว แต่หากจะโอนกลับมาที่ รฟม.เราก็ต้องรับภาระที่เอกชนลงทุนไปด้วย เราจะไปจ้างต่อ หรือจะไปยกเลิกก็ต้องดูรายละเอียดด้วย แต่ที่แน่ๆ คือ ภาระหนี้ที่เอกชนลงทุน รัฐบาลต้องมีแนวทางเข้าไปชดเชยให้”

ขณะเดียวกัน หากจะโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวกลับมาให้ รฟม.บริหาร ก็จำเป็นต้องไปแก้มติ ครม.ที่ปัจจุบันมอบหมายให้ กทม.ดำเนินการอยู่ ซึ่งเรื่องนี้มีรายละเอียดที่ต้องดำเนินการตามขั้นตอนอีกมาก ดังนั้นวันนี้สิ่งที่ รฟม.ดำเนินการอยู่ คือการเตรียมรายละเอียดของการโอนทรัพย์สินและภาระทางการเงิน ซึ่งข้อมูลล่าสุด ณ 31 พ.ค.2565 รวมอยู่ที่ 53,321 ล้านบาท แบ่งเป็น

  • ช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ ราว 19,150 ล้านบาท
  • ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต ราว 34,171 ล้านบาท

ขณะที่มูลหนี้ดังกล่าว รฟม.คำนวณแบ่งเป็น 3 กรณี เนื่องจากไม่สามารถระบุได้ว่า กทม.จะมีความพร้อมรับโอนภาระทางการเงินเมื่อไหร่ โดบแบ่งเป็น

ณ 31 มี.ค.2565 จำนวน 53,313 ล้านบาท

ณ 31 พ.ค.2565 จำนวน 53,321 ล้านบาท

ณ 30 ก.ย.2565 จำนวน 54,284 ล้านบาท

นายภคพงศ์ กล่าวด้วยว่า การจัดทำบันทึกข้อตกลง (เพิ่มเติม ฉบับที่1) ว่าด้วยการจำหน่ายทรัพย์สินและโอนภาระทางการเงิน โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต ของ รฟม.ให้กับ กทม. เป็นฉบับเพิ่มเติมมาจากข้อตกลงที่ได้ลงนามร่วมกันไปเมื่อปี 2561 ในครั้งที่มีการโอนทรัพย์สินและภาระหนี้ส่วนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ เนื่องจากรายละเอียดเรื่องภาระหนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม อีกทั้งยังมีภาระหนี้เพิ่มเติมจากส่วนของช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ – คูคต ที่ กทม.นำไปบริหารจัดการด้วย

อย่างไรก็ดี จากการหารือร่วมกัน กทม.แจ้งว่าเนื่องด้วยการเข้ามารับตำแหน่งใหม่ของทีมผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทำให้มีวาระที่ต้องพิจารณาเข้าสู่สภากรุงเทพมหานครค่อนข้างมาก จึงคาดการณ์ว่าจะสามารถผลักดันข้อมูลภาระหนี้เข้าสู่การพิจารณาในอีก 2 เดือนข้างหน้า ก่อนจะเสนอไปยังกระทรวงมหาดไทย และ ครม. เพื่อขออนุมัติลงนามบันทึกข้อตกลงรับโอนทรัพย์สินและภาระหนี้ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่ง รฟม.คาดว่าจะลงนามได้ภายในเดือน ก.ย.นี้

 “หนี้ส่วนนี้เป็นหนี้ที่เกิดจากงบประมาณการลงทุนส่วนของงานโยธาที่ รฟม.รับผิดชอบ รวมไปถึงงบเวนคืนที่ดิน และค่าจ้างที่ปรึกษา ซึ่งเมื่อ กทม.ลงนามบันทึกข้อตกลงรับโอนทรัพย์สินและภาระหนี้ ก็จะต้องไปดำเนินการจ่ายหนี้ทั้งหมดให้กับสำนักงบประมาณ โดยหนี้จะเป็นตัวเลขเท่าไหร่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่า กทม.มีความพร้อมรับมอบภาระหนี้เมื่อไหร่ หากว่าช้ากว่านี้ออกไปอีก ก็จะเพิ่มภาระดอกเบี้ยที่ กทม.ต้องรับผิดชอบ”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาระหนี้สินในโครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งสองสาย ที่เกิดขึ้นระหว่าง กทม.และเอกชนผู้รับบริหาร คือ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS ณ พ.ค.2565 อยู่ที่ 4 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น 1.ค่าจ้างเดินรถและบำรุงรักษา (O&M) ส่วนต่อขยายที่ 1 จำนวน 3,710 ล้านบาท ส่วนต่อขยายที่ 2 จำนวน 13,343 ล้านบาท 2.ค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) 20,088 ล้านบาท โดยบีทีเอสทวงถามหนี้หลายครั้งและปัจจุบันได้ฟ้องให้ กทม.จ่ายหนี้ค่าจ้างเดินรถ