“สุพัฒนพงษ์” เดินหน้าคุยโรงกลั่นอีกรอบ ยันยังไม่เคาะเก็บเงิน 8 พันล้านบาท

“สุพัฒนพงษ์” เดินหน้าคุยโรงกลั่นอีกรอบ ยันยังไม่เคาะเก็บเงิน 8 พันล้านบาท

“สุพัฒนพงษ์” ระบุ ยังไม่ได้สรุปตัวเลขรีดกำไรจากโรงกลั่นน้ำมัน ชี้ ตัวเลข 8 พันล้าน เป็นเพียงประมาณการที่ทำขึ้น เร่งทีมเจรจาหวังสรุปทันเข้าครม.พิจารณาสัปดาห์หน้า ยันพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากการประชุมหน่วยงานเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันแพง และลดผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธาน ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2565 กรณีการเจรจากับโรงกลั่นน้ำมัน และโรงแยกก๊าซทั้งหมดที่มีกำไรเพิ่มขึ้นในช่วงที่ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นมาช่วยเหลือค่าน้ำมันประชาชน โดยส่งเงินเข้าสู่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และลดราคาน้ำมันเบนซินตามที่มีกระแสข่าวออกมาเกี่ยวกับยอดเงินที่โรงกลั่นจะช่วยเหลือรวมประมาณ 7,500 – 8,000 ล้านบาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือน ก.ค. – ก.ย.2565

ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขประมาณการที่กระทรวงพลังงานจัดทำขึ้น ยังไม่ใช่ตัวเลขที่แท้จริง ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้หารือกับกลุ่มโรงกลั่นทีละราย แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน โดยยังอยู่ระหว่างการหารือในข้อมูลที่ต้องเจรจาเพื่อความเป็นธรรมโดยเฉพาะตัวเลขต้นทุนหรือกำไรที่แท้จริง ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานจะพยายามสรุปข้อกฏหมายที่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 21 มิ.ย. 2565 เนื่องจากมีข้อกฎหมายที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

“เราต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยช่วงที่ผ่านมาโรงกลั่นก็เข้าใจพร้อมที่จะให้ความร่วมมือที่ดี แต่พอมีกระแสข่าวว่าเขามีกำไรเป็น 10 เท่า ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องจริง ก็เลยมีปัญหาและต้องทบทวนมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาผลประกอบการมีขั้นลงตามธรรมชาติ แต่กำไรในช่วงนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะสูงตามกระแสข่าว ซึ่งหากขอบริจาคก็จะติดในเรื่องของภาษีสรรพสามิต ซึ่งยังมีกฎหมายที่เราสามารถเรียกเก็บได้ แต่ก็อยากให้ทุกอย่างเป็นธรรมที่สุดกับทั้งประชาชน กลุ่มผู้ประกอบการและรัฐบาล” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

ทั้งนี้ นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2565 ว่า การเก็บเงินจากธุรกิจโรงกลั่น และโรงแยกก๊าซจากกำไรการกลั่นน้ำมัน และการแยกก๊าซ แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1.กำไรจากการกลั่นน้ำมันดีเซลเดือนละประมาณ 5 – 6 พันล้านบาท โดยเงินส่วนนี้จะส่งเข้าสู่กองทุนน้ำมัน

2.กำไรจากการกลั่นน้ำมันเบนซินจะเก็บจากโรงกลั่นเดือนละ 1 พันล้านบาท โดยในส่วนนี้จะมีการเก็บเงินเพื่อไปชดเชยให้กับผู้ใช้ราคาเบนซิน โดยลดราคาน้ำมันเบนซินให้กับผู้ใช้เบนซิน 1 บาทต่อลิตร

และ 3.เก็บจากกำไรของโรงแยกก๊าซ เดือนละประมาณ 1,500 ล้านบาท โดยกำไรส่วนนี้จะเก็บเข้าสู่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อเป็นการเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนเช่นกัน  

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์