“หุ้นกลุ่มโรงกลั่นร่วง” ! เซ่นพิษรัฐรีด "กำไร" 3 เดือน

“หุ้นกลุ่มโรงกลั่นร่วง” ! เซ่นพิษรัฐรีด "กำไร" 3 เดือน

“หุ้นกลุ่มโรงกลั่น” ราคาร่วงยกแผง เซ่นรัฐขอความร่วมมือส่ง “กำไร” ส่วนต่าง 3 เดือน (ก.ค.- ก.ย.) โบรกเกอร์ ชี้แม้ช่วยประชาชนระยะสั้น แต่ผลเสียระยะยาวมาก “ความเชื่อมั่นต่างชาติ - บิดเบือนกลไก” มองกระทบกำไรกลุ่มประมาณ 4 พันล้านบาท

หลังจากการประชุมทีมเศรษฐกิจฉุกเฉินของรัฐบาล ได้มีมติ ขอความร่วมมือโรงกลั่นนำส่งกำไรส่วนต่าง 6,000-7,000 ล้านบาทต่อเดือน ในช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย. พร้อมให้ต่อมาตรการช่วยเหลือด้านพลังงานไปอีก 3 เดือน และขอความร่วมมือให้โรงกลั่นน้ำมันนำส่งค่าการกลั่นส่วนเกินจากอัตราปกติ เข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อนำมาอุดหนุนราคาน้ำมันภายในประเทศ

ความเคลื่อนไหว “หุ้นกลุ่มโรงกลั่น” เช้าวันนี้ (17 มิ.ย.) ร่วงแรงยกแผง หลังภาครัฐขอให้ช่วยในรูปเงินบริจาค 3 เดือน เพื่อช่วยบรรเทาน้ำมันแพง นำทีมโดย บมจ.ไทยออยล์ หรือ TOP ปิดตลาดอยู่ที่ 49.75 บาท ลดลง 7.04% บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ PTTGC อยู่ที่ 43.25 บาท ลดลง 4.42% บมจ. เอสโซ่ (ประเทศไทย) หรือ ESSO อยู่ที่ 11.20 บาท ลดลง 5.08% บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น หรือ BCP อยู่ที่ 29.50 บาท ลดลง 8.53% บมจ.ไออาร์พีซี หรือ IRPC อยู่ที่ 3.14 บาท ลดลง 4.85% และ บมจ.สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง หรือ SPRC อยู่ที่ 11.50 บาท ลดลง 8.00%  

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย กล่าวว่า ภาครัฐขอความร่วมมือกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันให้ช่วยเหลือในรูปเงินบริจาค 3 เดือน เพื่อช่วยบรรเทาน้ำมันแพง เนื่องจากทางรัฐบาลเองไม่สามารถเข้าไปบังคับในกรณีดังกล่าวได้เนื่องจากมีกฎหมายคุ้มครองอยู่ โดยผลกระทบเบื้องต้นส่งผลให้บรรยากาศลงทุน (sentiment) เชิงลบต่อหุ้นกลุ่มโรงกลั่น

โดยฝ่ายวิจัยฯ คาดว่าหากกลุ่มโรงกลั่นให้ความร่วมมือในการช่วยเหลือจะกระทบภาพรวมกำไรทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5%  

บล.เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน) มีมุมมองเป็นลบต่อกลุ่มพลังงานต่อข่าวนี้มองว่าการขอความร่วมมือในลักษณะนี้แม้จะสามารถช่วยลดผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงในระยะสั้น แต่อาจจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนในธุรกิจพลังงานในระยะยาว โดยเฉพาะจากนักลงทุนต่างชาติ

ทั้งนี้หากตัวเลขเงินอุดหนุนเป็นไปตามในข่าว เชื่อว่ากลุ่มโรงกลั่นจะเห็นผลกระทบต่อกำไร (หลังหักภาษี) 65 ในช่วง 1.8-4.0 พันล้านบาท ขึ้นอยู่กับส่วนแบ่งการตลาดของแต่ละบริษัท สำหรับหุ้นที่อยู่ในความดูแลของ KTBST จะเห็น downside ต่อประมาณการกำไร 65 ในช่วง 12%-18% โดยเรียงลำดับจากมากไปน้อย คือ PTTGC, SPRC, TOP (ถ้าหากตัดกำไรจากการขายหุ้น GPSC ออกไป TOP จะได้รับผลกระทบมากที่สุดถึง 20%)

อย่างไรก็ดี เชื่อว่ายังต้องมีการเจรจาถึงตัวเลขเงินอุดหนุนรวมถึงรูปแบบในการช่วยเหลือ (ถ้ามี) ระหว่างโรงกลั่นต่างๆ กับกระทรวงพลังงานและรัฐบาลอีก ยังคงน้ำหนักการลงทุน “เท่ากับตลาด” สำหรับกลุ่มพลังงาน และยังคงมุมมองเชิงบวกต่อหุ้นกลุ่มพลังงานต้นน้ำที่ยังได้ประโยชน์จากราคาพลังงานที่ยืนสูง แต่มีมุมมองเป็นบวกน้อยลงต่อกลุ่มโรงกลั่นจากความเสี่ยงในการทำธุรกิจที่สูงขึ้น

ทั้งนี้แนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในกลุ่มโรงกลั่นออกไปก่อนจนกว่าจะมีความแน่นอนในรูปแบบของเงินอุดหนุนที่อาจจะเกิดขึ้น และแนะนำให้ลงทุนในหุ้นกลุ่มพลังงานต้นน้ำ คือ PTTEP (ซื้อ/เป้า 190.00 บาท) และ BANPU (ซื้อ/เป้า 16.00 บาท) ซึ่งเราเชื่อว่าจะรายงานกำไรปกติ Q2/65 ที่แข็งแกร่งจากราคาพลังงาน (น้ำมัน, ถ่านหิน, และ ก๊าซธรรมชาติ) ที่สูงจากผลกระทบจากการคว่ำบาตรรัสเซีย และปริมาณสำรองทั่วโลกที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย

บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส จำกัด (ASPS) มองว่า เหตุการณ์ดังกล่าวคาดจะส่งผลกระทบต่อกำไรกลุ่มฯ ในปี 65 อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามยังเป็นเพียงข้อเสนอจากทางภาครัฐ เพราะจากการสอบถามไปยังกลุ่มโรงกลั่น (TOP, PTTGC, IRPC, SPRC, ESSO, BCP) และโรงแยกก๊าซฯ (PTT) พบว่ายังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน และข้อสรุปจากผู้ประกอบการ

จากความไม่ชัดเจนดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าในทางปฏิบัติยังมีความไม่แน่นอนสูงว่าจะปฏิบัติได้จริงหรือไม่ และผู้ประกอบการจะยอมรับข้อเสนอของภาครัฐหรือไม่ เพราะถือเป็นการแทรกแซงจากภาครัฐโดยตรง ซึ่งบิดเบือนจากในอดีตที่ธุรกิจโรงกลั่นเป็นไปตามกลไกตลาดเสรี ไม่มีการควบคุมค่าการกลั่น ซึ่งก็มีทั้งช่วงที่โรงกลั่นได้กำไร และขาดทุน

ทั้งนี้ในมุมมองของฝ่ายวิจัย ค่าการกลั่นที่ปรับตัวสูงขึ้นในปัจจุบันมาจากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ทำให้ supply โดยรวมของตลาดโลกปรับตัวลดลง ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ที่อยู่ในภาวะผิดปกติ และอาจจะเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น ดังนั้นหากภาครัฐเข้ามาแทรกแซงบังคับให้ปรับลดค่าการกลั่นเพื่อให้ราคาขายปลีกหน้าโรงกลั่นปรับลดลง ก็อาจทำให้ผู้ประกอบการหันไปส่งออกมากขึ้นเพราะได้ราคาสูงกว่าการขายในประเทศ รวมถึงทำให้ความน่าสนใจในการลงทุนในหุ้นกลุ่มโรงกลั่นลดลงอย่างมาก เพราะอาจจะเกิดเหตุการณ์แทรกแซงได้อยู่เสมอ ถ้ากลไกการค้าเสรีถูกบิดเบือน

ฝ่ายวิจัย ASPS ได้มีการประเมินเบื้องต้น หากภาครัฐจะเข้ามาแทรกแซงกลุ่มโรงกลั่น จะกระทบต่อผู้ประกอบการโดยโรงกลั่นแต่ละโรงจะผลิตผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปแต่ละชนิดในสัดส่วนที่แตกต่างกัน และในแต่ละผลิตภัณฑ์ก็จะมี spread (ราคาผลิตภันฑ์-ต้นทุนน้ำมันดิบ) ที่แตกต่างกัน

 ซึ่งจะเห็นได้ว่าในช่วงปี 55-62 spread ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปหลักๆ ได้แก่ ก๊าซออยล์, ก๊าซโซลีน และเจ็ท อยู่ที่ราว 10-15 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หรือราว 2.1-3.2 บาทต่อลิตร ซึ่งถือเป็นกำไรขั้นต้นจากการขายผลิตภัณฑ์หลักทั้ง 3 ชนิดดังกล่าว แต่เนื่องจากโรงกลั่นยังผลิต ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปที่มีกำไรขั้นต้นติดลบ ได้แก่ น้ำมันเตา เป็นส่วนประกอบด้วย

ดังนั้นเมื่อมาเฉลี่ยกันแล้วค่าการกลั่นหรือกำไรขั้นต้น ก็จะไม่สูงเท่ากับ spread ของน้ำมันหลักเท่านั้น นอกจากนี้หากพิจารณาในช่วงปี 63-64 ซึ่งโลกของเราประสบกับปัญหาโควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปลดลงอย่างมีนัยส่งผลให้ spread ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปหลักๆ ได้แก่ ก๊าซออยล์, ก๊าซโซลีน และเจ็ท มีการปรับตัวลดลงตามเฉลี่ยเหลือราว 3-8 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หรือราว 0.6-1.7 บาทต่อลิตร รวมถึงผลิตภัณฑ์น้ำมันเตาก็ติดลบมากขึ้น ส่งผลให้โรงกลั่นหลายโรงต้องเผชิญกับผลขาดทุน

ดังนั้นหากกำหนดให้โรงกลั่นทุกๆ แห่งสนับสนุนช่วยเหลือภาครัฐทุกๆ 1 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 1 เดือน จะทำให้กำไรของโรงกลั่นแต่ละแห่งหายไปเท่ากับ 1.3 พันล้านบาท, 691.6 ล้านบาท, 1.0 พันล้านบาท, 572.4 ล้านบาท, 830.0 ล้านบาท และ 8434.7 ล้านบาท

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์