เปิดแผน 4 มาตรการดูแลพลังงาน ปตท.ช่วยอุ้มราคา “แอลพีจี-เอ็นจีวี”

เปิดแผน 4 มาตรการดูแลพลังงาน ปตท.ช่วยอุ้มราคา “แอลพีจี-เอ็นจีวี”

กบง.คลอดมาตรการช่วยราคาพลังงาน ขยาย B5 ขอผู้ค้าน้ำมันคงค่าการตลาด ต่อเพิ่มเงินซื้อแอลพีจีผ่านบัตรสวัสดิการ ปตท.ลดก๊าซหุงต้ม-คงราคาเอ็นจีวี เคาะขึ้นแอลพีจีก.ก.ละ 1 บาท “สนธิรัตน์” ชี้ค่าการกลั่นลดได้ “กรณ์” หวั่นอีก 5 เดือน กองทุนน้ำมันแบกหนี้เกิน 2 แสนล้าน

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาวน์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน มีการพิจารณามาตรการช่วยประชาชนสู้วิกฤติพลังงาน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่ง กบง.เห็นชอบมาตรการด้านพลังงาน ดังนี้

1.เห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่ปรับตัวสูงขึ้นในระยะสั้น ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2565 ถึงวันที่ 30 ก.ย.2565 โดยกำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซล (B100) ให้เป็นไปตามสัดส่วนการผสมของกลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B7 ไม่ต่ำกว่า 5% และไม่สูงกว่า 7% โดยปริมาตรน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดาไม่ต่ำกว่า 5% และไม่สูงกว่า 10% โดยปริมาตรและน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20 ไม่ต่ำกว่า 5% และไม่สูงกว่า 20% ซึ่งขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันคงค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มดีเซลหมุนเร็วไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร

2.เห็นชอบขยายเวลาโครงการยกระดับความช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มแก่ผู้มีรายได้น้อย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3 เดือน (ก.ค.-ก.ย.2565) โดยมอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงานทำคำขอรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อใช้สำหรับดำเนินโครงการยกระดับความช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มแก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อีก 55 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน เป็น 100 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน สำหรับผู้ใช้สิทธิ 4 ล้านราย รวม 220 ล้านบาท

3.มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน ประสาน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ขยายเวลาช่วยเหลือส่วนลดราคาก๊าซ LPG แก่ร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ ปตท.ดำเนินการอยู่ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.-30 ก.ย.2565

4.เห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาก๊าซ NGV ที่สูงขึ้น โดยให้กระทรวงพลังงานขอความอนุเคราะห์จาก บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) คงราคาขายปลีกก๊าซ NGV ที่ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม และคงราคาขายปลีกก๊าซ NGV โครงการเอ็นจีวี เพื่อลมหายใจเดียวกัน ให้กับผู้ประกอบอาชีพขับขี่รถแท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ 13.62 บาทต่อกิโลกรัม ต่อไปอีกเป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย. 2565 ถึงวันที่ 15 ก.ย. 2565

“ยืนยันว่าจะยังตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ลิตรละ 35 บาท จนถึงสิ้นเดือนมิ.ย. 2565 ส่วนการหารือราคาหน้าโรงกลั่นและการหาเงินเสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมัน ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งกระทรวงฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยสัปดาห์หน้าจะนำเสนอมาตรการช่วยเหลือด้านพลังงานเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา” นายกุลิศ กล่าว

ขึ้นก๊าซหุงต้ม ก.ก.ละ1บาท

นอกจากนี้อนุมัติปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ภาคครัวเรือนกิโลกรัมละ 1 บาท จากราคาเดิมเดือน มิ.ย.2565 ที่กิโลกรัมละ 363 บาท เป็น 378 บาท ต่อถัง 15 กิโลกรัม โดยเริ่มวันที่ 1 ก.ค.2565 ส่วนเดือน ส.ค.2565 เป็น 393 บาท และเดือน ก.ย.2565 เป็น 408 บาท

ทั้งนี้การขึ้นราคาค่าก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือนจะช่วยลดภาระสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่อุดหนุนเดือนละ 1,500-1,600 ล้านบาท ส่งผลให้ปัจจุบันบัญชีแอลพีจีติดลบ 36,515 ล้านบาท ทั้งนี้ ถือเป็นการใช้โมเดลเดียวกับการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มช่วงเดือนเม.ย.-มิ.ย.2565 ทั้งนี้ การปรับขึ้นราคา LPG ดังกล่าวจะช่วยลดเงินอุดหนุนกองทุนน้ำมันเดือนละ 200 ล้านบาท

ทั้งนี้ ปัจจุบันต้นทุนจริงของราคาก๊าซแอลพีจีอยู่ที่ 460 บาทต่อถัง 15 กก. ขณะที่ปัจจุบันอยู่ที่ 363 บาทต่อถัง 15 กก. เพราะขึ้นมาแล้ว 3 ครั้ง ใน 3 เดือน คือ เดิมตรึงราคา 318 บาทต่อถัง 15 กก. เดือนเมษายน 2565 ขึ้นเป็น 333 บาทต่อถัง 15 กก. เดือน พ.ค.2565 ที่ราคา 348 บาทต่อถัง 15 กก. และเดือนมิ.ย.2565 ราคา 363 บาทต่อถัง 15 กก.

“สนธิรัตน์”ชี้ลดค่าการกลั่นได้

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และเลขาธิการพรรคสร้างอนาคตไทย โพสต์เฟซบุ๊กวันที่ 15 มิ.ย.2565 ว่า กรณีราคาน้ำมันแพงที่สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน ซึ่งส่วนหนึ่งของราคาน้ำมันแพงหลายฝ่ายมุ่งประเด็นไปที่ราคาหน้าโรงกลั่นว่า ช่วงที่บริหารกระทรวงพลังงาน ได้ทำให้เกิดการปรับเกณฑ์โครงสร้างหน้าโรงกลั่นลดลงได้จากเดิม 50 สตางค์ ดังนั้น ถ้าพูดถึงสภาวะราคาน้ำมันแพงช่วงนี้ต้องบริหารต้นทุนให้ต่ำที่สุด ซึ่งทำได้และเคยได้ทำมาแล้ว

ทั้งนี้ ได้ใช้เวลา 7-8 เดือน ในการเริ่มปรับราคาหน้าโรงกลั่น ซึ่งยอมรับว่าสูตรของการคิดค่าการกลั่นมีสมการซับซ้อนมาก ซึ่งทำงานร่วมกับคนไม่ได้เห็นด้วย โดยส่วนตัวมองว่าอยู่ที่รัฐบาลกับผู้ประกอบการโรงกลั่นจะต้องเปิดตัวเลขคุยกัน ซึ่งแน่นอนว่าฝั่งผู้ประกอบการก็ต้องรักษาผลกำไรของตน แต่รัฐบาลก็จะต้องรักษาต้นทุนที่จะส่งต่อพี่น้องประชาชนให้เป็นต้นทุนที่เป็นธรรม

“อะไรที่เป็นข้อสงสัยจึงจะต้องมาดู และเก็บสถิติตัวเลขที่เป็นจริง ดังนั้น เรื่องนี้จึงต้องอาศัยความกล้าหาญที่ต้องคุยกันกับผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมัน และจริงๆ ผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันส่วนใหญ่อยู่ในเครือของรัฐวิสาหกิจภายใต้รัฐบาลเป็นหลัก จึงต้องยิ่งต้องหารือเพื่อสร้างสมดุล โดยมองว่าระยะสั้น คือใช้มาตรการอะไรก็ได้ที่ทำให้ต้นทุนลดลงเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายที่เอาไปอุ้มประชาชน”

หวั่นกองทุนติดลบ2แสนล้าน

นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และหัวหน้าพรรคกล้า กล่าวว่า ปัจจุบันราคาน้ำมันเป็นปัญหากระทบค่าครองชีพประชาชนมาก รวมทั้งกระทบสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปัจจุบันติดลบ 9 หมื่นล้านบาท 

ทั้งนี้แนวโน้มราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นและทรงตัวระดับสูงทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบเพิ่มขึ้นเดือนละ 2 หมื่นล้านบาท และเป็นไปได้ที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอาจมีหนี้เกิน 2 แสนล้านบาท ภายใน 5 เดือน ซึ่งปริมาณหนี้ที่เพิ่มขึ้นมากส่งผลต่อผู้ใช้น้ำมันในระยะยาวเพราะแม้ว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวลดลงในอนาคตแต่ผู้ใช้น้ำมันยังคงต้องจ่ายเงินเพื่อใช้หนี้ให้กับกองทุนน้ำมันฯต่อเนื่องไปอีกหลายปี

ทั้งนี้สถานการณ์ในปัจจุบันรัฐบาลต้องมีความตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหาเพราะราคาน้ำมันแพงถือว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน การแก้ปัญหามีหลายส่วนในส่วนแรกเป็นเรื่องของหนี้กองทุนน้ำมันฯที่มีอยู่แล้วยังไม่สามารถกู้เงินเสริมสภาพคล่องได้ในขนาดนี้เนื่องจากสถาบันการเงินไม่ยินยอมให้กู้เงิน เท่าที่ทราบกองทุนน้ำมันฯพยายามหาแหล่งกู้เงินมานานหลายเดือนแล้วและขอให้กระทรวงการคลังช่วยให้ความมั่นใจกับสถาบันการเงินเพื่อให้ปล่อยกู้ แต่ในเรื่องนี้กระทรวงการคลังคงช่วยได้ไม่มากเพราะหน้าที่ของกระทรวงการคลังนั้นทำในส่วนของภาษี ซึ่งก็ช่วยในการลดภาษีสรรพสามิตไปแล้ว

ดังนั้นการแก้ไขเรื่องเงินกู้ของกองทุนน้ำมันฯรัฐบาลควรใช้เงินกู้ ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังฯกู้เงินทั้ง 2 ฉบับที่มีวงเงินเหลืออยู่ประมาณ 6 หมื่นล้านบาทมาใช้เสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมันฯซึ่งจะช่วยดูแลราคาน้ำมันในภาพรวมของประเทศได้

แนะใช้เงินกู้อุ้มพลังงาน

ผู้สื่อข่าวถามว่าเงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ นั้นมีการเขียนกฎหมายว่าให้ใช้เพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 เท่านั้นจะนำมาใช้ในเรื่องของพลังงานหรือน้ำมันได้หรือไม่นายกรณ์กล่าวว่าที่ผ่านมาการใช้เงินกู้หลายโครงการนั้นเป็นการใช้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และเติมสภาพคล่องให้กับประชาชนอยู่แล้ว 

ขณะที่ราคาพลังงานเป็นเรื่องใหญ่ที่ประชาชนเดือดร้อนมากที่สุดการช่วยเหลือประชาชนผ่านการเสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมันฯเพื่อให้เป็นกลไกในการช่วยเหลือ อุดหนุนราคาค่าน้ำมันให้กับประชาชนนั้นจึงสามารถที่จะทำได้

นอกจากนั้นการแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันแพง รัฐบาลจำเป็นต้องสื่อสารเรื่องการประหยัดพลังงานอย่างจริงจัง เพราะขณะนี้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้น้ำมันในภาคการขนส่งสูงที่สุดในอาเซียน และเรามีราคาน้ำมันดีเซลที่ถูกที่สุดในอาเซียนซึ่งการใช้น้ำมันถูกของเรานั้นไม่มีการจำกัดปริมาณการใช้ ทั้งนี้ตั้งแต่ต้นปีปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นมาแล้ว 15% ส่วนน้ำมันเบนซินก็มีการใช้เพิ่มขึ้นเช่นกัน ในการจ่ายเงินอุดหนุนน้ำมันที่เกิดขึ้นทุกลิตรเป็นหนี้ที่เพิ่มขึ้นของกองทุนน้ำมันฯและกระทบต่อผู้ใช้น้ำมันในระยะยาว ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่รัฐบาลจะทบทวนการอุดหนุนที่อาจมีการระบุกลุ่มอาชีพที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น กลุ่มอาชีพขับเดลิเวอรี่ รถจักรยานยนต์รับจ้าง

ยืนยันต้องลดค่าการกลั่น

สำหรับประเด็นการเก็บเงินจากกำไรจากหน้าโรงกลั่นเพื่อนำเงินมาเสริมสภาพคล่องของของกองทุนน้ำมันอีกทางหนึ่งนั้น นายกรณ์กล่าวว่า เรื่องนี้จำเป็นที่จะต้องทำ และภาครัฐสามารถที่จะแทรกแซงในส่วนนี้ได้ เพราะที่จริงแล้วภาครัฐก็เข้าไปแทรกแซงได้เพราะในขณะนี้ต้องยอมรับว่าภาครัฐเข้าไปแทรกแซงในหลายๆสินค้าอยู่แล้ว เช่น การห้ามขึ้นราคาสินค้าควบคุมเช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และไข่ไก่ การเข้าไปเก็บกำไรส่วนเกินจากโรงกลั่นเพื่อมาดูแลราคาพลังงานในภาพรวมโดยการเสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมันถือว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ อยู่ที่ว่ารัฐบาลจะทำหรือไม่เท่านั้น

นอกจากนี้ สิ่งที่มีความกังวลว่าหากกำหนดเพดานกำไรค่าการกลั่นมากเกินไปโรงกลั่นในประเทศไทยจะไม่ยอมขายน้ำมันในประเทศแล้วนำไปขายในต่างประเทศเพื่อให้ได้กำไรมากกว่า อดีตรมว.คลัง กล่าวว่า รัฐบาลก็จำเป็นที่ต้องกำหนดโควตาการส่งออก เช่น การกำหนดให้น้ำมันในประเทศประมาณ 70% ต้องขายในประเทศ โดยปัจจุบันประเทศไทยมีการกลั่นน้ำมันที่ประมาณ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวันก็อาจต้องกำหนดว่าให้ขายในประเทศ 7 แสนบาร์เรล ส่วนที่เหลือให้ส่งออกได้ซึ่งก็จะทำให้ยังมีปริมาณน้ำมันที่พอเพียงใช้ในประเทศ