เงินบาทวันนี้เปิด ‘อ่อนค่าสุดครั้งใหม่’ รอบ5ปี3เดือน ทะลุ35บาทต่อดอลลาร์

เงินบาทวันนี้เปิด ‘อ่อนค่าสุดครั้งใหม่’ รอบ5ปี3เดือน ทะลุ35บาทต่อดอลลาร์

“กรุงไทย” ชี้เแนวโน้มเงินบาทผันผวนหนักในวันนี้ จนถึงช่วงรับรู้การประชุมเฟด บาทอ่อนค่าตามดอลลาร์แข็งค่า หลังตลาดและนักวิเคราะห์คาดเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยถึง 0.75% ในการประชุมครั้งนี้และการประชุมเดือนก.ค. มองกรอบเงินบาทวันนี้ที่ระดับ 34.95-35.20บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาด ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้(15 มิ.ย.) ที่ระดับ35.05 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงรอบ5ปี3เดือนครั้งใหม่และอ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  34.98 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.95-35.20 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท มองว่า เงินบาทมีแนวโน้มผันผวนหนักในวันนี้ จนถึงช่วงรับรู้การประชุมเฟด โดยการอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมานั้น มาจากปัจจัยการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ตามแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบัน ผู้เล่นในตลาดและนักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ว่า เฟดจะเร่งขึ้นดอกเบี้ยถึง 0.75% ในการประชุมครั้งนี้และการประชุมในเดือนกรกฎาคม ทำให้มีโอกาสที่ผู้เล่นในตลาดอาจ “Sell on Fact” เงินดอลลาร์ กดดันให้เงินดอลลาร์ย่อตัวลงได้บ้าง หากเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงอย่างต่อเนื่อง หรือ เฟดแสดงความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจมากขึ้น

อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาททะลุระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ อาจทำให้ฝั่งผู้ประกอบการบางส่วน โดยเฉพาะในฝั่งผู้นำเข้าวิตกกังวลและเร่งเข้ามาซื้อเงินดอลลาร์ ซึ่งภาพดังกล่าวอาจยิ่งหนุนให้เงินบาทผันผวนในฝั่งอ่อนค่าไปสู่ระดับ 35.10-35.15 บาทต่อดอลลาร์ได้  

ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทอาจอยู่ถูกชะลอลงได้บ้าง จากแรงขายของฝั่งผู้ส่งออกบางส่วน รวมถึงการเข้ามาดูแลความผันผวนของค่าเงินจากทางธนาคารแห่งประเทศไทย หลังจากที่เงินบาทได้อ่อนค่าอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมานอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ไทยในช่วงที่ผ่านมา อาจทำให้นักลงทุนต่างชาติบางส่วนมองว่าระดับยีลด์เริ่มมีความน่าสนใจมากขึ้นและอาจทยอยกลับเข้ามาซื้อบอนด์ไทยได้บ้าง ซึ่งฟันด์โฟลว์ดังกล่าวก็สามารถชะลอการอ่อนค่าได้เช่นกัน 

อนึ่ง เราคงมองว่า เงินบาทอาจไม่ได้อ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านใหม่แถวระดับ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ไปไกล หรือ ไปทดสอบระดับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ง่ายๆ หากตลาดการเงินไม่ได้เผชิญภาวะปิดรับความเสี่ยงสินทรัพย์ในฝั่ง EM Asia ที่รุนแรง ซึ่งเราคาดว่าจะเกิดขึ้นในกรณีที่ ตลาดกลับมากังวลแนวโน้มการใช้มาตรการLockdown ในวงกว้างของจีน 

ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราคงแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ ใช้ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

ผู้เล่นในตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) กดดันโดยแนวโน้มเฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง โดยข้อมูลล่าสุดจาก CME FedWatch Tool ได้ระบุว่า โอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยถึง 0.75% ในการประชุมเดือนมิถุนายนและเดือนกรกฎาคม ได้ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 99.4% และ 94.2% ซึ่งมุมมองดังกล่าวยังได้สอดคล้องกับการปรับประมาณการของบรรดานักวิเคราะห์ที่มองว่า เฟดอาจสามารถเร่งขึ้นดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวได้จริง อย่างไรก็ดี ในมุมของนักวิเคราะห์ของ Deutsche Bank ระบุว่า การเร่งขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าวของเฟด สุดท้ายจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงหนักและเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2023 

ความกังวลแนวโน้มเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยยังคงกดดันสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น ทำให้ในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนีS&P500 ย่อตัวลงต่อเนื่อง -0.38% เช่นเดียวกันกับในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป ก็ปรับตัวลดลงกว่า -1.26% จากความกังวลการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของทั้งเฟดและธนาคารกลางยุโรป (ECB) รวมถึงแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวจากปัญหาเงินเฟ้อสูงและการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลาง แม้ว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดอย่างดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี (ZEW Economic Sentiment) เดือนมิถุนายน จะปรับตัวดีขึ้น สู่ระดับ -28 จุด ก็ตาม

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่า เฟดจะสามารถเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงได้ ยังคงหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พุ่งขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 3.45% และมีความเสี่ยงที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจปรับตัวขึ้นต่อได้ จนกว่าตลาดจะเห็นความชัดเจนของแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หรือ จนกว่าตลาดจะเห็นว่า เฟดได้ผ่านจุดที่จะเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงไปแล้ว (Peak Hawkishness) ซึ่งเราปรับมุมมองใหม่ว่า ความขัดเจนดังกล่าวน่าจะเกิดขึ้นในช่วงการประชุมเฟดเดือนกรกฎาคม จากเดิมที่เคยมองว่า Dot Plot เดือนมิถุนายน อาจสร้างความชัดเจนและเชื่อมั่นให้กับตลาดได้ 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ยังคงปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 105.5 จุด ตามมุมมองของตลาดที่เชื่อว่าเฟดจะเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงได้นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) สู่ระดับ 135.3 เยนต่อดอลลาร์ ตามส่วนต่างระหว่างบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กับญี่ปุ่น ที่กว้างมากขึ้น (ธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BOJ ยังคงตรึงบอนด์ยีลด์10 ปี ญี่ปุ่นไว้ที่ระดับ 0.00+/-0.25%) ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ พร้อมกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวลงสู่ระดับ 1,811 ดอลลาร์ต่อออนซ์  

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น ผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด (ทราบผลในเวลา 01.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย) โดยบรรดานักวิเคราะห์รวมถึงผู้เล่นส่วนใหญ่ในตลาดต่างมองว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินเฟด หรือ FOMC เดือนมิถุนายน เฟดจะเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% สู่ระดับ 1.50%-1.75% พร้อมกันนี้ ความเสี่ยงที่เงินเฟ้อยังมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นจะทำให้ เฟดสามารถส่งสัญญาณพร้อมเร่งขึ้นดอกเบี้ย0.75% ในการประชุมครั้งถัดไป ซึ่งตลาดจะรอจับตาประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจใหม่ของเฟด รวมถึงคาดการณ์ดอกเบี้ยเฟด หรือ Dot Plot ใหม่ เพื่อประเมินแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด นอกจากนี้ ตลาดจะจับตาถ้อยแถลงของประธานเฟดในช่วง Press Conference เพื่อจับตาการส่งสัญญาณถึงแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด และที่สำคัญ ตลาดอาจรอฟังการประเมินความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจชะลอตัวหนัก จนเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอย(Recession) จากประธานเฟด หลังจากประเด็นดังกล่าวเริ่มเป็นที่กล่าวถึงในตลาดการเงินมากขึ้น