"Apple" เตรียมปล่อยสินเชื่อ เปิดบริการ "ซื้อก่อน ผ่อนทีหลัง"

"Apple" เตรียมปล่อยสินเชื่อ เปิดบริการ "ซื้อก่อน ผ่อนทีหลัง"

“Apple Inc.” เตรียมออกบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ ในชื่อว่า “Apple Pay Later” ทำให้ผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าก่อนแล้วผ่อนชำระพร้อมดอกเบี้ยในภายหลังได้

Apple Inc.” บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลก กำลังจะเพิ่มทางเลือกในการชำระสินค้าให้แก่ผู้บริโภค ด้วยบริการ “Apple Pay Later” ที่เป็นการซื้อสินค้าก่อนแล้วค่อยผ่อนชำระภายหลัง (Buy Now, Pay Later) โดย “Apple Financing LLC” บริษัทในเครือที่มีใบอนุญาตในการดำเนินธุรกิจการกู้ยืมจากรัฐ จะเป็นผู้ตรวจสอบเครดิตและปล่อยกู้สำหรับลูกค้าที่ต้องการจะใช้บริการนี้

นี่จึงเป็นหมุดหมายครั้งสำคัญ สำหรับ Apple ที่เป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีรายใหญ่ แต่กำลังหันมาจับธุรกิจด้านสินเชื่อ ทั้งการปล่อยสินเชื่อ การบริหารความเสี่ยง และการประเมินสินเชื่อ

ในปัจจุบัน บริการธุรกรรมทางการเงินของ Apple จะมีผู้ให้บริการทางการเงิน และธนาคารพันธมิตรในการปล่อยสินเชื่อและการประเมินเครดิต ตัวอย่างเช่น บัตรเครดิต Apple Card ที่ได้ บริษัท Goldman Sachs Group Inc. ธนาคารเพื่อการลงทุนข้ามชาติ และบริษัทให้บริการทางการเงินสัญชาติอเมริกัน ช่วยปล่อยสินเชื่อและประเมินเครดิตของผู้ขอสินเชื่อ

สำหรับบริการ Apple Pay Later จะได้ Mastercard บริษัทผู้ให้บริการทางการเงินข้ามชาติ เป็นผู้ออกหลักทรัพย์ (issuer) เพื่อให้การทำธุรกรรมผ่าน Apple Pay Later เสร็จสมบูรณ์ เนื่องจาก Apple Financing นั้นยังไม่มีกฎบัตรอนุญาตการดำเนินงานของธนาคาร (bank charter) เป็นของตัวเอง

จากการรายงานของสำนักข่าว Bloomberg ระบุว่า Apple กำลังโยกย้ายส่วนต่างๆ ภายในองค์กร เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับบริการทางการเงิน โดยใช้รหัสลับว่า “Breakout” นอกเหนือจากการให้กู้ยืม การตรวจสอบเครดิต และการตัดสินใจปล่อยสินเชื่อแล้ว Apple กำลังพัฒนาระบบการชำระเงินของตนเองอีกด้วย ซึ่งอาจจะนำมาใช้แทน CoreCard Corp. ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน 

ระบบชำระเงินที่กำลังพัฒนาอยู่นี้จะสามารถวิเคราะห์การฉ้อโกง คำนวณดอกเบี้ย และมีฟังก์ชันสำหรับรวบรวมข้อมูลกลุ่มลูกค้าใหม่ ตลอดจนระบบสะสมรางวัลสำหรับบริการอื่นๆ ของ Apple

ในไตรมาสที่ผ่านมา Apple มีเงินสด และหลักทรัพย์ในความต้องการของตลาด (Marketable Securities) รวมกันกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์ และทำรายได้เกือบ 95,000 ล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณล่าสุด 

บริการนี้จะทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้าต่างๆ ของ Apple ได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นอีกกลยุทธ์ที่ Apple หวังกระตุ้นรายได้ และยอดขาย นอกเหนือจากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ อย่างไรก็ตาม Apple ก็ต้องตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ใช้บริการมากขึ้น โดยอาจดูจากประวัติการซื้อสินค้าและบริการของ Apple รวมถึงการชำระค่าสินค้า และบริการรายเดือนผ่าน iTunes หรือ App Stores อีกทั้งวงเงินของ Apple Pay Later จะขึ้นอยู่กับประวัติเครดิตที่ผ่านมาของผู้ขอใช้บริการ 

Apple Pay Later เปิดตัวครั้งแรกในงาน WWDC (Worldwide Developers Conference) งานเปิดตัวสินค้าและระบบปฏิบัติการใหม่ของ Apple เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดย Apple Pay Later เป็นหนึ่งในฟังก์ชันใหม่ที่มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ iOS 16 ของ iPhone ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถแบ่งชำระค่างวดได้ 4 งวด ในระยะเวลา 6 สัปดาห์ และจะเริ่มเปิดใช้ในสหรัฐก่อนที่จะขยายพื้นที่ให้บริการไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ต่อไป

นอกจากนี้ สำนักข่าว Bloomberg ยังรายงานอีกว่า Apple ยังมีแผนที่ให้ลูกค้าผ่อนชำระสินค้าได้นานยิ่งขึ้นในชื่อว่า “Apple Pay Monthly Installments” แม้ว่าบริการ Apple Pay Later นั้น บริษัท Apple จะไม่ได้ร่วมมือกับ Goldman Sachs หรือสถาบันทางการเงินอื่น แต่หากเป็นการให้ผ่อนชำระในระยะยาว Apple อาจจะต้องร่วมมือกับบริษัทอื่นๆ รวมถึง Goldman Sachs ที่สามารถเสนอแผนการผ่อนชำระ และอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกัน

ในเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา เดวิด โซโลมอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Goldman Sachs กล่าวว่า บริษัทของเขา “สบายใจมาก” กับการเป็นหุ้นส่วนของ Apple

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา Apple เข้าซื้อกิจการสตาร์ทอัพ Credit Kudos Ltd. บริษัทฟินเทคด้านการตรวจสอบข้อมูลเครดิตจากอังกฤษ ซึ่งคาดว่าจะนำมาใช้กับธุรกิจทางการเงินที่ Apple กำลังเริ่มผลักดันอยู่ แต่ Apple ยังไม่มีแผนที่จะยกเลิกความร่วมมือ Goldman Sachs สำหรับบัตรเครดิต Apple Card หรือพันธมิตรด้านการธนาคารอื่นๆ ในการทำธุรกรรม Apple Pay ซึ่งยังสามารถใช้บริการได้ตามปกติ

นอกจากบริการ “ซื้อก่อนผ่อนทีหลัง” แล้ว Apple ยังมีแผนการจะให้บริการเช่าอุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น iPhone, iPad และอื่นๆ แบบเสียค่าบริการรายเดือน ที่มีรูปแบบคล้ายกับการเสียค่าสมัครรายเดือนของ Apple Music หรือ Apple TV+ ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องเสียเงินเป็นหมื่นเพื่อซื้ออุปกรณ์เหล่านี้ อีกทั้งยังได้เปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่ทุกครั้งที่มีผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมา

การเข้าสู่ตลาดซื้อก่อนผ่อนทีหลังของ Apple ทำให้ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อ Affirm Holdings Inc. และ Klarna Bank AB ซึ่งให้บริการในลักษณะเดียวกัน

เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมา แม็กซ์ ลีฟชิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของบริษัท Affirm กล่าวว่า เขาไม่กังวลกับการรุกตลาดของ Apple และมองว่ายังมีศักยภาพอีกมากให้ทุกบริษัทได้เติบโต


ที่มา: Bloomberg, South China Morning Post

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์