ตลาด "สมาร์ทโฟน" ส่อซบเซา "Apple" ไม่เพิ่มการผลิต "iPhone" ปีนี้

ตลาด "สมาร์ทโฟน" ส่อซบเซา "Apple" ไม่เพิ่มการผลิต "iPhone" ปีนี้

“Apple Inc.” ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีสหรัฐ ตั้งเป้าผลิต “iPhone” 220 ล้านเครื่องในปีนี้ ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว ขณะที่สมาร์ทโฟน “แอนดรอยด์” ของจีน ประสบปัญหายอดขายไม่กระเตื้องในไตรมาสแรกของปีนี้

สำนักข่าว Bloomberg รายงานอ้างแหล่งข่าวใกล้ชิดที่ไม่เปิดเผยชื่อของ “Apple Inc.” ว่า ปีนี้บริษัทกำลังพูดคุยกับซัพพลายเออร์ให้ผลิต “iPhone” ประมาณ 220 ล้านเครื่องภายในปีนี้ เป็นจำนวนใกล้เคียงกับการผลิตในปีที่แล้ว แต่การประมาณการของตลาดอยู่ที่ประมาณ 240 ล้านเครื่อง ซึ่งมากกว่าที่ Apple คาดไว้ เนื่องจากหลายฝ่ายเชื่อว่าจะมีการปรับปรุงครั้งใหญ่ใน “iPhone 14” ที่จะเปิดตัวในเดือน ก.ย. ปีนี้

ขณะที่ยอดขายสมาร์ทโฟนในช่วงต้นปีนี้ไม่สูงมากนัก เป็นผลพวงมาจากภาวะเงินเฟ้อที่สูงสุดในทศวรรษ รวมถึงภาวะสงครามในยูเครน และปัญหาซัพพลายเชนที่เริ่มก่อตัวตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้กำลังการผลิตของสมาร์ทโฟนทุกแบรนด์นั้นลดลง

Strategy Analytics บริษัทสำรวจตลาด คาดการณ์ว่า ในปีนี้ภาพรวมทั้งการขนส่งสมาร์ทโฟนจะลดตัวลง 2% ส่วนบริษัทสำรวจตลาดอีกแห่งอย่าง TrendForce คาดว่า ในปีนี้การผลิตสมาร์ทโฟนจะลดลง 2 เท่าจากปีก่อน

ด้านบรรดานักวิเคราะห์ของ IDC บริษัทการตลาดชั้นนำ และ Bloomberg Intelligence คาดว่า ในปีนี้จะมี iPhone วางจำหน่ายราว 240 ล้านเครื่อง

อย่างไรก็ตาม Apple ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการคาดการณ์ต่าง ๆ เนื่องจากอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้จากสภาพเศรษฐกิจและข้อจำกัดด้านซัพพลายในระยะเวลาไม่กี่เดือนข้างหน้า

ทั้งนี้ Apple ไม่ได้เปิดเผยตัวเลขเป้าการผลิต และเลิกเปิดเผยยอดขาย iPhone เป็นจำนวนเครื่อง ตั้งแต่ปี 2562 แต่ยังรายงานยอดขาย iPhone เป็นจำนวนเงินอยู่

ก่อนหน้านี้ Apple เคยออกมาเตือนปัญหาด้านซัพพลายแล้วว่า จะส่งผลกระทบต่อยอดขายประมาณ 4-8 ล้านดอลลาร์ในไตรมาสนี้ เนื่องจากการล็อกดาวน์จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในจีน ทำให้การผลิตอุปกรณ์ในจีนชะงัก อีกทั้งการบริโภคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของผู้บริโภคกำลังชะลอตัว อันเป็นผลมาจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทั้งค่าพลังงานเชื้อเพลิง และสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน

ภาพรวมของตลาดสมาร์ทโฟนในปีนี้เป็นไปในทิศทางที่ไม่สู้ดีนัก การขนส่งสินค้าลดลง 11% ในไตรมาสแรกของปี ซึ่งลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

ขณะที่ Xiaomi Corp ค่ายมือถือจีน ซึ่งครองยอดขายสมาร์ทโฟนเป็นอันดับ 3 ของโลก ต่อจาก Apple ของสหรัฐ และ Samsung ของเกาหลีใต้ ประกาศรายได้ในไตรมาสที่ผ่านมา ด้วยรายได้ที่ลดลงเป็นครั้งแรก

Apple กำลังพยายามเรียกคืนความต้องการซื้อสินค้าและอุปกรณ์ต่าง ๆ จากผู้บริโภค ด้วย “Apple Ecosystem” ที่เชื่อมต่ออุปกรณ์ทุกอย่างของ Apple เข้าด้วยกัน สามารถส่งข้อมูลหากันได้อย่างรวดเร็ว สะดวกและง่ายเพียงปลายนิ้ว รวมถึงความเสถียรของระบบปฏิบัติการ ซึ่งเป็นจุดแข็งที่ค่ายอื่นยังไม่สามารถทำตามได้ อีกทั้งราคาสินค้าที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับแบรนด์อื่น ทำให้ลูกค้าของ Apple มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจมากกว่าด้วย

อีกทั้งคู่แข่งที่น่ากลัวอย่าง Huawei ยักษ์ใหญ่จีนอีกราย ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้ส่งออกสมาร์ทโฟนอันดับ 1 ก็ไม่ใช่คู่แข่งที่น่ากลัวอีกต่อไป เนื่องจากรายได้ของ Huawei นั้นลดลงถึง 6 ไตรมาสติดต่อกันแล้ว

ยิ่งไปกว่านั้น Apple เตรียมกระตุ้นความต้องการของผู้บริโภคด้วย iPhone 14 ที่จะเปิดตัวในช่วงเดือน ก.ย. ปีนี้ที่คาดการณ์กันว่าจะมาพร้อมการปรับโฉมขนาดใหญ่ ด้วยขนาดหน้าจอใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม สีใหม่ พร้อมฟังก์ชันใหม่ ๆ มากกว่า “iPhone 13” รุ่นของปีที่แล้ว ที่ปรับเปลี่ยนเพียงเล็กน้อยจาก iPhone 12 

นอกจากนี้ Apple ยังพึ่งเปิดตัว “iPhone SE” รุ่นที่ 3 สมาร์ทโฟนที่ถูกที่สุดในบรรดา iPhone ทั้งหมด ที่พร้อมรองรับระบบ 5G เพื่อเป็นตัวเลือกให้กับผู้บริโภคที่มีงบประมาณจำกัดอีกด้วย

แม้ว่าการล็อกดาวน์ของจีนส่งผลกระทบอย่างมากต่อ Apple ในไตรมาสนี้ แต่บริษัทยังคาดว่าจะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ แหล่งข่าวกล่าวกับ Bloomberg โดย Foxconn Technology Group ผู้ผลิต iPhone รายใหญ่ให้กับ Apple ที่มีโรงงานอยู่ในนครเจิ้งโจว ทางตอนกลางของจีน ยังคงสามารถดำเนินการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง

โดยปรกติแล้ว ความต้องการซื้อสมาร์ทโฟนในช่วงไตรมาสที่ 2 มักจะลดลงอยู่แล้ว หมายความว่าผลกระทบของการล็อกดาวน์จะไม่ส่งผลรุนแรงนัก และบรรดาซัพพลายเออร์จะพยายามแก้ไขปัญหากำลังการผลิตที่ไม่เพียงพอในช่วงปลายปี ด้วยการจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลวันหยุดที่มีความต้องการสูงสุด ไปจนกว่าจีนจะกลับมาเปิดประเทศและเปิดการขนส่งอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง

ลินดา ซุย ผู้อำนวยการอาวุโสของ Strategy Analytics กล่าวว่า “ปัญหาทางภูมิศาสตร์การเมือง การขาดแคลนส่วนประกอบ อัตราเงินเฟ้อ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และการล็อกดาวน์ จะยังคงส่งผลกระทบต่อตลาดสมาร์ทโฟนในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ก่อนที่สถานการณ์จะคลี่คลายในครึ่งปีหลัง

 

ที่มา: Bloomberg