“มาม่า” เร่งเครื่องส่งออก รับดีมานด์อาหารโตแรง

“มาม่า” เร่งเครื่องส่งออก   รับดีมานด์อาหารโตแรง

ส่งออกอาหารเป็น "โอกาสทอง" ของธุรกิจไทย เมื่อโลกเผชิญวิกฤติการขาดแคลนของกินมากขึ้น จากปัจจัยสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซ้ำเติมด้วยต้นทุนพุ่ง ทำให้ข้าวยากหมากแพงถ้วนหน้า "มาม่า" เดินเกมรุกต่อเนื่อง ปั๊มยอดส่งออก ขานรับตลาด "จีน" และ "เอเชีย" โตแรง

“มาม่า” เป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเบอร์ 1 ในประเทศไทย แบรนด์มีอายุเก่าแก่ถึง 5 ทศวรรษ และกำลังก้าวสู่ทศวรรษใหม่ ซึ่งมีภารกิจในการผลักดันยอดขายแตะ 30,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี รวมถึงการขยายตลาดในเวทีโลกให้เติบโตขึ้น พลิกสร้างสัดส่วนยอดขาย 50% เท่ากับในประเทศ จากปัจจุบันตลาดต่างแดนทำเงินสัดส่วน 30%

 ภารกิจผลักดันตลาดส่งออกให้เติบโต มี “พจนา พะเนียงเวทย์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพรซิเดนท์ อินเตอร์ฟูดส์ จำกัด 1 ใน 7 ทายาท “พะเนียงเวทย์” รับหน้าที่เคลื่อนทัพธุรกิจ

ทั้งนี้ ในงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มใหญ่สุดในเอเชีย หรือ THAIFEX – Anuga Asia 2022 บรรยากาศที่คึกคัก และมีพันธมิตรธุรกิจร่วมพบปะจำนวนมาก ผลตอบดีเกินคาด ทำให้สัญญาณบวกเอื้อตลาดส่งออกเติบโต

“มีลูกค้าจากยุโรป ต้องการมาพบปะมากขึ้น ส่วนเอเชียมีทั้งมาเลเซีย สิงคโปร์ ฯให้ความสนใจมาม่าอย่างมาก นโยบายการเปิดประเทศทำให้กระแสความสนใจจากคู่ค้าต่างประเทศว้าว! และงานไทยเฟ็กซ์ บริษัทตั้งเป้ามีลูกค้าใหม่ 1-2 รายก็พอใจแล้ว” พจนา ฉายภาพ

แม้ช่วงวิกฤติโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก โดยเฉพาะซัพพลายเชนทั่วโลก เผชิญความยากลำบากในการหาตู้คอนเทนเนอร์ ค่าระวางเรือแพงขึ้นหลายเท่าตัว ต้นทุนวัตถุดิบพุ่ง เบรกความร้อนแรงการค้าขายสินค้าบ้าง แต่ปัจจัยที่ส่งผลให้ตลาดต่างแดนเติบโตยังมี โดยเฉพาะ “ความมั่นคงด้านอาหาร”

นาทีนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาวะสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน เป็นหนึ่งในตัวแปรที่กระทบซัพพลายอาหารทั้งโลก บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเช่นกัน เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศ เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบแป้งสาลี รวมถึงบะหมี่ฯ แต่การส่งออกไม่ได้ จึงมีผลต่อการต่อตลาดและการบริโภคบะหมี่ฯ

“ขณะนี้ออเดอร์จากต่างประเทศกลับมามากกว่า ลูกค้ามีความต้องการเพิ่มขึ้นสูงมาก”

สำหรับตลาดต่างประเทศที่มีการเติบโตร้อนแรงกลายเป็นภูมิภาค “เอเชีย” จากเดิม “สหรัฐ” เป็นหนึ่งในตลาดหลักของมาม่า เนื่องจากบริษัทมีแนวทางการจัดการ ทำการตลาดแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมาและเวียดนาม(CLMV) ยุโรป ออสเตรเลีย ฯ

การเติบโตอย่างรวดเร็วของ “มาม่า” ในตลาดเอเชีย ทำให้สร้างสัดส่วนยอดขายมากถึง 50% ส่วนสหรัฐสัดส่วน 18-19% ยุโรป 26% เป็นต้น

“ตลาดสหรัฐไม่ใช่ไม่โต แต่การเติบโตสู้ตลาดอื่นไม่ได้ ยิ่งตลาดเอเชียมีการเติบโตเร็วมาก ส่วนแต้มต่อสำคัญของอาหารไทยในเวทีโลก คือผู้บริโภคหลายประเทศชื่นชอบอย่างมาก”

“มาม่า” มีโปรดักท์เรือธงในการส่งออก ไม่ต่างจากไทย เช่น รสหมูสับ ต้มยำกุ้ง ฯ ซึ่งไม่ว่าประเทศไหนต้องมีสินค้าเหล่านี้เพื่อสร้างการรับรู้ เฉกเช่นแบรนด์ดังระดับโลก มักมีเมนูเด็ดเหมือนกันเสิร์ฟลูกค้าทั้งโลก แต่สิ่งที่ “มาม่า” เสริมทัพ คือการสร้างรสชาติที่ตอบ “Insight” และเทรนด์ของผู้บริโภคในแต่ละช่วง เช่น มาม่าผักชี เป็นรสยอดนิยมในญี่ปุ่น ฯ

สำหรับแนวทางการออกสินค้าใหม่ ช่วงที่ผ่านมามีเพียง 1-2 รายการ โดยเน้นจำหน่ายสินค้าที่มีให้แก่ลูกค้าใหม่ ส่วนลูกค้าเก่าเพิ่มการซื้อซ้ำและขยายการซื้อสู่สินค้าอื่นๆ  เช่น เครื่องปรุงรส อย่างไรก็ตาม เทรนด์แพลนท์เบสมาแรง “มาม่า” ได้วิจัยและพัฒนาสินค้าใหม่รับกระแสดังกล่าวด้วย

“มาม่า” บุกตลาดต่างประเทศมากว่า 30 ปี มีสินค้าเสิร์ฟผู้บริโภคใน 68 ประเทศทั่วโลก ขณะที่ฐานผลิตสินค้ามีอยู่ใน 4 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา เมียนมา บังกลาเทศและฮังการี ล่าสุดยังมองโอกาสในการขยายตลาดบะหมี่ฯ สู่ประเทศซาอุดิอาระเบียด้วย สำหรับปี 2565 บริษัทตั้งเป้าหมายยอดขายเติบโต 15% จากปีก่อน 

พันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน)หรือTFMAMA กล่าวเสริมว่า วิกฤติอาหารขาดแคลนทำให้ตลาดส่งออกเป็นหมุดหมายสำคัญของ “มาม่า” โดยตลาดบะหมี่ฯ ที่มีศักยภาพคือ “จีน” หากสามารถเจาะผู้บริโภคได้ 1-2 มณฑล จะทดแทนตลาดประเทศไทยได้เลย

นอกจากนี้ การบุกส่งออกยังไร้ข้อจำกัดด้านการ “ปรับราคาสินค้า” ด้วย เนื่องจากระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา ต้นทุนการผลิตบะหมี่ฯ ปรับตัวพุ่งสูงขึ้น และไม่มีแนวโน้มจะลดลงด้วย