วิเคราะห์เกม Win-win "บุญรอดฯ" ผนึก "โออาร์" ร่วมทุนรุกเครื่องดื่มแสนล้าน

วิเคราะห์เกม Win-win "บุญรอดฯ" ผนึก "โออาร์" ร่วมทุนรุกเครื่องดื่มแสนล้าน

ตลาดเครื่องดื่มเป็นตลาดใหญ่ที่มีมูลค่าร่วม "แสนล้านบาท" กำลังเดือด! เมื่อยักษ์ใหญ่ "บุญรอดฯ" เดินเกมธุรกิจครั้งสำคัญ ผนึก "โออาร์" ผู้บริหารร้านกาแฟ "คาเฟ่ อเมซอน" ตั้งบริษัทร่วมทุน เพื่อผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มสำเร็จรูป เกมนี้ทั้งคู่ win แค่ไหน

เรียกว่าเขย่าวงการเครื่องดื่มก็ว่าได้ สำหรับ "บิ๊กดีล" เมื่อผู้นำธุรกิจเครื่องดื่มอย่าง "บุญรอดเทรดดิ้ง" ประกาศร่วมทุน บริษัท มอดูลัส เวนเจอร์ จำกัด โดย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือOR จัดตั้งบริษัทผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มสำเร็จรูปพร้อมดื่ม โดยได้นำประสบการณ์และความเข้าใจในธุรกิจอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม รวมถึงช่องทางการจัดจำหน่ายครบวงจร มาพัฒนาต่อยอดการเติบโต

ด้วยการเดินเกมใหญ่ผนึกความเชี่ยวชาญ OR ในธุรกิจค้าปลีกเครื่องดื่ม ภายใต้แบรนด์ ‘คาเฟ่ อเมซอน’ ร่วมปั้นรูปแบบธุรกิจใหม่เพื่อสร้างการเติบโตร่วมกัน พร้อมตอบโจทย์ความต้องการทุกที่ทุกเวลา รับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่

 

การร่วมทุนกับ "โออาร์" แม่ทัพและทายาทเครื่องดื่มแสนล้าน "ภูริต ภิรมย์ภักดี" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัทบุญรอดฯดำเนินธุรกิจยาวนานกว่า 89ปี จึงมีความรู้ ความเข้าใจในพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภค

นอกจากนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้พัฒนาผลิตภัณฑ์หลากหลายครอบคลุมทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และนอนแอลกอฮอล์ไม่ว่าจะเป็น เบียร์ น้ำดื่ม โซดา น้ำแร่ ฯลฯเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและเทรนด์ตลาดที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอทำให้แบรนด์และผลิตภัณฑ์ในเครือบริษัทฯ สามารถครองใจกลุ่มเป้าหมายและก้าวเป็นผู้นำในตลาดอย่างแข็งแกร่ง

 

ทว่า ด้วยวิสัยทัศน์ของบริษัทที่ไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ ในกลุ่มเครื่องดื่มเข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด บริษัทฯได้ร่วมลงนามในสัญญาจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับ บริษัท มอดูลัส เวนเจอร์ หรือ Modulus ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ OR ถือหุ้น100% ซึ่งมีความแข็งแกร่งในการเป็นผู้ดำเนินธุรกิจร้านกาแฟ “คาเฟ่ อเมซอน” ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศ

วิเคราะห์เกม Win-win \"บุญรอดฯ\" ผนึก \"โออาร์\" ร่วมทุนรุกเครื่องดื่มแสนล้าน OR ขายกาแฟ 'คาเฟ่ อเมซอน' 88.1 ล้านแก้ว เพิ่มจากปีก่อนขายไป 77 ล้านแก้ว

ขณะที่บุญรอดฯมีความชำนาญในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มครบวงจร ทีมวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์แข็งแกร่ง รวมทั้งมีศักยภาพการกระจายสินค้าครอบคลุมทุกช่องทาง

การรวมพลังดังกล่าวผลลัพธ์ต้องมากกว่า 1+1 = 2 อย่างแน่นอน 

ย้อนมองโครงสร้างธุรกิจของกลุ่มบุญรอดฯ หรือค่ายสิงห์ ถือเป็นหนึ่งในยักษ์ใหญ่ธุรกิจเครื่องดื่มของเมืองไทย แต่ละปีสร้างรายได้ระดับ "แสนล้านบาท" ปัจจุบันธุรกิจมีการขยายอาณาจักร จาก "เบียร์" ไปสู่ 6 เสาหลัก ประกอบด้วย 1.เบียร์ น้ำ และโซดา 2.บรรจุภัณฑ์ 3.ซัพพลายเชนและโลจิสติกส์ 4.อสังหาริมทรัพย์ 5.ธุรกิจภูมิภาค(ต่างประเทศ)และ6.อาหาร

ที่ผ่านมา บริษัทมีการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องทุกเสาหลัก หากมาเจาะลึกตลาด "เครื่องดื่ม" เฉพาะเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์(Non-Alcohol) ภาพรวมมีมูลค่าเกือบ 2 แสนล้านบาท หากแยกหมวดหมู่ สถานการณ์ในช่วง 12 เดือน(เม.ย.64-มี.ค.65) เป็นดังนี้ 

นีลเส็นรายงานตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ “ติดลบ 3.3%” (ไม่รวม On Trade)

-น้ำดื่ม เติบโต 2.1%

-น้ำอัดลม ติดลบ 1.3%

-นมพร้อมดื่ม ติดลบ 6.7%

-ชาพร้อมดื่ม เติบโต 11.8%

-เครื่องดื่มชูกำลัง ติดลบ 7.9%

-เครื่องดื่มผสม(Mixer) ติดลบ 10.3%

-น้ำผลไม้ ติดลบ 4.8%

-กาแฟพร้อมดื่ม ติดลบ 3%

-เครื่องดื่มเกลือแร่ ติดลบ 1.9%

-เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพFunctional Drink) ติดลบ 7.8%

ขณะที่มองศักยภาพ "บุญรอดฯ"  หรือสิงห์ ปัจจุบันมีธุรกิจเครื่องดื่มหลากหลาย ไม่ได้มีแค่น้ำดื่ม โซดาสิงห์ แต่ขยายไลน์มี น้ำผสมวิตามิน(Vitamin Water)ภายใต้แบรนด์เพอร์ร่า มีน้ำอัดลม "สิงห์ เลมอนโซดา" ที่เสิร์ฟตลาดไม่นาน แต่ประสบความสำเร็จไม่น้อย

แต่พอร์ตโฟลิโอ "สิงห์" มีมากกว่านั้น เพราะหลายปีก่อน บริษัทมีการเข้าซื้อกิจการ "วราฟู้ด แอนด์ ดริ้งค์" ซึ่งมีตลาดใหญ่เป็น "ส่งออก" เกือบ 100% สินค้าเครื่องดื่มมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกาแฟกระป๋อง เครื่องดื่มสมุนไพร น้ำมะพร้าว เป็นต้น  

วิเคราะห์เกม Win-win \"บุญรอดฯ\" ผนึก \"โออาร์\" ร่วมทุนรุกเครื่องดื่มแสนล้าน กาแฟกระป๋อง ภายใต้พอร์ตโฟลิโอของ 'สิงห์' ผ่านวราฟู้ดส์ฯ

อย่างไรก็ตาม เมื่อบุญรอดฯผนึกโออาร์ ตั้งบริษัทร่วมทุน และจะทำหน้าที่ "ผลิต" เครื่องดื่มสำเร็จรูป ต้องติดตามต่อว่า โปรดักท์ตัวแรกที่จะเสิร์ฟสู่ตลาด คือหมวดไหน แต่วิเคราะห์ศักยภาพองค์กรข้างต้น ไม่เพียงแค่บริษัทมีเครื่องดื่มหลากหลาย แต่การมี "โรงงานผลิต" กระจายอยู่ทั่วไทย ยังเป็นแต้มต่อสำคัญในการเสริมแกร่งเครื่องดื่มสำเร็จรูปหรือ Ready to Drink :RTD ได้อย่างดี 

สิงห์ เป็นผู้ผลิตสินค้าและบริการครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มีโรงงาน มีสินค้า บริษัทยังมีการ "จัดจำหน่ายและกระจายสินค้า" ซึ่งถือเป็น "กระดูกสันหลัง" ที่จะเสิร์ฟสินค้าถึงกลุ่มเป้าหมายในวงกว้างทั่วประเทศ 

ส่วน "โออาร์" จุดแกร่งสำคัญที่จะเสริมพละกำลังให้ธุรกิจครั้งนี้คือการมี "หน้าร้าน" อย่างคาเฟ่ อเมซอน ที่พร้อมจะป้อนสินค้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ทั่วประเทศเช่นกัน เพราะร้านกาแฟคาเฟ่ อเมซอน มีอยู่ "หลายพันสาขา" นอกจากนี้ กาแฟคาเฟ่ อเมซอน ที่วันนี้ขายให้ผู้บริโภคนับล้านแก้ว หากบริษัทต้องการต่อยอดลุย "กาแฟRTD" ย่อมทำได้ ซึ่งตลาดดังกล่าวมีมูลค่า "หมื่นล้านบาท" และบิ๊กแบรนด์ที่ครองขุมทรัพย์อยู่ ได้แก่ เนสกาแฟ และเบอร์ดี้

คาเฟ่ อเมซอน เป็นผู้นำตลาดกาแฟนอกบ้านได้ การจะเขย่าตลาดดกาแฟ RTD เชื่อว่าทำได้ไม่ยากเช่นกัน  อย่างไรก็ตาม หมากรบครั้งนี้จะทำให้ตลาดเครื่องดื่มแสนล้านปรอทแตกแน่ เพราะ "ยักษ์ใหญ่" ที่มีทุนหนา มาพร้อมอาวุธการตลาดครัน ทั้งแบรนด์แกร่ง สินค้าในมือมีพร้อม การผลิต การจำหน่าย ฯ เรียกว่า ติดจรวดเติบโตได้เลย